- ภาวะตลาดโดยรวม
เบียร์ ถือเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของชาวไต้หวัน โดยเฉพาะในการพบปะสังสรรค์ระหว่างมิตรสหายหรืองานเลี้ยงทางสังคม จึงเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันในตลาดไต้หวันในระดับสูง มีแบรนด์มากมายในตลาด ทั้งที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น เช่น Taiwan Beer, Taiwan Gold Medal รวมถึงแบรนด์ต่างประเทศ เช่น Heineken, Budweiser และ Kirin เป็นต้น ในอดีต เบียร์เป็นหนึ่งในสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผูกขาดโดยบริษัท Taiwan Tobacco & Liquor Corp. ซึ่งเคยเป็นวิสาหกิจของไต้หวันที่ตั้งขึ้นในปี 2462 ในยุคที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ก่อนจะถูกแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนในปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกของ WTO และเปิดให้มีการนำเข้าเบียร์จากต่างประเทศได้
ในภาพรวม ปริมาณการบริโภคเบียร์ในไต้หวันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 579.8 ล้านลิตรในปี 2557 เหลือเพียง 497.6 ล้านลิตรในปี 2566 ลดลงร้อยละ 14 (ตารางที่ 1) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยในไต้หวันที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับการดื่มแล้วขับที่เข้มงวดเป็นอย่างมากของไต้หวัน ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังและพยายามไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์เลยหากต้องขับขี่ยานพาหนะ
ตารางที่ 1 : ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในไต้หวัน
ปี พ.ศ. | ปริมาณ (ล้านลิตร) | ขยายตัว (%) |
2555 | 569.8 | 3.3 |
2556 | 561.3 | -1.5 |
2557 | 579.8 | 3.3 |
2558 | 533.1 | -8.0 |
2559 | 539.7 | 1.2 |
2560 | 540.4 | 0.1 |
2561 | 535.4 | -0.9 |
2562 | 532.5 | -0.5 |
2563 | 506.8 | -4.8 |
2564 | 465.8 | -8.1 |
2565 | 514.5 | 10.5 |
2566 | 497.6 | -3.3 |
2567 (Estimate) | 479.8 | -3.6 |
ข้อมูล : Euromonitor International ปรับปรุงโดย : สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
ช่องทางการจำหน่ายเบียร์และเครื่องดื่มในไต้หวันแบ่งออกเป็นสองช่องทางหลัก คือ ช่องทางแบบ On-Trade และ Off-Trade โดยช่องทาง On-Trade จะหมายถึงสถานที่ที่ขายเครื่องดื่มเพื่อการบริโภคทันทีในสถานที่นั้นๆ เช่น บาร์ ร้านอาหาร และผับ ในขณะที่ Off-Trade มักจะหมายถึงสถานที่ในกลุ่มโมเดิร์นเทรดต่างๆ เช่น ร้านขายสุรา ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และสถานที่อื่นๆ ที่ผู้บริโภคจะไม่ซื้อเพื่อดื่มเครื่องดื่มในทันที โดยร้านสะดวกซื้อที่ถือเป็นช่องทางแบบ Off-Trade ที่มีการจำหน่ายเบียร์มากที่สุด และได้รับความนิยมมากกว่าทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ส่วนช่องทางออนไลน์เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยังมีการจำหน่ายเบียร์น้อยมาก เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันห้ามการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็ยังสามารถจำหน่ายเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางนี้ได้ แต่ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ยังคงชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มแบบ Ready-to-drink ที่สามารถซื้อเพื่อดื่มได้เลยมากกว่าการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งต้องรออีกหลายวันกว่าจะได้รับสินค้า อีกทั้งผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่า การดื่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ แม้รสชาติจะเหมือนเบียร์ แต่จะไม่ได้รับอรรถรสของการดื่มเบียร์ที่ได้รับจากแอลกอฮอล์ ในชั้นนี้ความนิยมเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์จึงยังไม่สูงมากนัก
- ผู้ประกอบการรายสำคัญ
แม้ในตลาดไต้หวันจะมีเบียร์วางจำหน่ายหลายแบรนด์มาก แต่ตลาดส่วนใหญ่ถูกครองโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 อันดับแรกซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในปี 2566 รวมกันสูงถึงร้อยละ 64.1 ได้แก่ Taiwan Tobacco & Liquor Corp ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.7 ซึ่งเป็นบริษัทไต้หวันที่มีการออกแบรนด์หลายแบรนด์มาก เช่น Taiwan Gold Medal, Taiwan Beer, Taiwan Beer Fruit, Taiwan Beer Draft เป็นต้น รองลงมาได้แก่ Heineken Taiwan ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนร้อยละ 9.4 โดย Heineken เป็นแบรนด์นำเข้าที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในไต้หวัน มี Product Line ที่หลากหลายและทำการตลาดอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง รวมถึงการปรับบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับช่องทางและความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน เช่น แพ็คเกจแบบบรรจุ 4 ขวด/กระป๋องที่เปิดตัวสำหรับช่องทางซุปเปอร์มาร์เก็ต และแพ็คเกจ 8 ขวด/กระป๋องสำหรับซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวัน และแตกต่างจากผู้ผลิตทั่วไปในไต้หวันที่ผลิตสินค้าขายในรูปแบบแพ็คเกจ 6 กระป๋อง โดยบริษัทฯ เห็นว่าเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาด ในขณะที่อันดับ 3 ได้แก่ Taiwan Kirin Beer แบรนด์ดังของญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งบริษัทในไต้หวันสามารถครองตลาดด้วยสัดส่วนร้อยละ 8.1 ตามมาด้วย Nanlien International บริษัทลูกในเครือ Uni-President ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไต้หวัน โดย Nanlien เป็นตัวแทนของเบียร์แบรนด์ดังจากสหรัฐฯ หลายแบรนด์ เช่น Budwiser, Busch, Corona, Michelop และ BECK’s มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.2 ในขณะที่ Asahi & Mercuries ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Asahi ของญี่ปุ่น กับกลุ่ม Mercuries ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกของไต้หวัน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ รายละเอียดส่วนแบ่งตลาดของแต่ละแบรนด์สินค้าเบียร์ในไต้หวันในปี 2566 ปรากฏตามตารางที่ 2
ตารางที่ 2 : ส่วนแบ่งตลาดของแบรนด์สินค้าเบียร์ ในไต้หวัน 10 อันดับแรกในปี 2566
Brand | Company | %Share |
1) Taiwan Golden Medal | Taiwan Tobacco & Liquor Corp | 19.9 |
2) Taiwan Beer | Taiwan Tobacco & Liquor Corp | 14.0 |
3) Heineken | Heineken Taiwan Co.,Ltd. | 9.1 |
4) Budwiser | Nanlien International Co.,Ltd. | 4.8 |
5) Kirin Ichiban | Taiwan Kirin Beer Co.,Ltd. | 4.1 |
6) Bar Beer | Taiwan Kirin Beer Co.,Ltd. | 4.0 |
7) Taiwan Beer Fruit | Taiwan Tobacco & Liquor Corp | 1.9 |
8) Busch | Nanlien International Co.,Ltd. | 1.4 |
9) Taiwan Beer Draft | Taiwan Tobacco & Liquor Corp | 1.4 |
10) Corona Extra | Nanlien International Co.,Ltd. | 1.3 |
ข้อมูล : Euromonitor International ปรับปรุงโดย : สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าตลาดเบียร์ของไต้หวันในช่วง 1-2 ปีนี้ จะเข้าสู่ภาวะซบเซา แต่ Heineken บริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ กลับเล็งเห็นโอกาสในตลาดไต้หวันด้วยการลงทุนตั้งโรงผลิตเบียร์ขึ้นทางภาคใต้ของไต้หวัน และเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยเงินลงทุนประมาณ 14,850 ล้านบาท ถือเป็นแบรนด์ระดับโลกแบรนด์แรก ที่มีโรงงานผลิตเบียร์เป็นของตัวเองในไต้หวัน โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะสามารถสร้างยอดขายในไต้หวันได้ 13,420 ล้านบาท ในปี 2569 ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงกว่าปัจจุบันถึง 2 เท่า และยังวางแผนที่จะให้โรงงานในไต้หวันเป็นฐานสำคัญสำหรับการขยายตลาดไปสู่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่อไปด้วย
สำหรับประเภทของเบียร์ที่ได้รับความนิยมในไต้หวันนั้น Lager เป็นประเภทที่มีการจำหน่ายมากที่สุดและครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดในไต้หวัน โดยแบรนด์ที่ครองตลาดใหญ่ 5 อันดับแรกในไต้หวัน คือ Taiwan Gold Medal, Taiwan Beer, Heineken, Budweiser และ Kirin Ichiban ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากถึงร้อยละ 51.9 โดยแต่ละแบรนด์จะมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันไปตามระดับราคา ได้แก่
- กลุ่ม Premium ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์นำเข้าที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น Budweiser, Heineken, Asahi และ Kirin เป็นต้น และต่างก็ใช้ช่องทางตลาดแบบ Off-Trade ในการจำหน่ายสินค้ามากกว่า แต่ส่วนใหญ่ต่างก็พยายามที่จะเข้าแย่งส่วนแบ่งตลาดในช่องทาง On-Trade ให้มากขึ้น โดยจะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 110-220 บาท ต่อลิตร ซึ่งเบียร์แบรนด์ไทยที่เป็นที่รู้จักในตลาดไต้หวัน เช่น เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง ต่างก็อยู่ในกลุ่มนี้ รวมถึงเบียร์ชาละวันที่เป็นเบียร์ในแบบ Ale
- กลุ่ม Economy & Mid-price โดย Taiwan Tobacco & Liquor จะเป็น Key Player ในกลุ่มนี้ ด้วยแบรนด์ระดับกลาง ที่มีอยู่ในมือถึง 8 แบรนด์ เช่น Taiwan Golden Medal, Taiwan Beer, Taiwan Beer Fruit เป็นต้น โดยบริษัทฯ ทำการตลาดทั้งในส่วนของช่องทางแบบ On-Trade และ Off-Trade แต่ถือเป็นผู้ประกอบการที่ครองตลาด On-Trade โดยจะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 33-110 บาท ต่อลิตร ซึ่งนอกจาก Taiwan Beer แล้ว ยังมีแบรนด์ท้องถิ่นของไต้หวันที่อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย คือ Taihu Brewing และ Taiwan Brewer ที่ต่างก็พยายามจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดย Taihu เน้นการออกรสชาติใหม่ประจำฤดูกาล ในขณะที่ Taiwan Brewer ออกผลิตภัณฑ์เบียร์ชา (Tea Beer) ซึ่งต่างก็ได้รับความสนใจจากตลาดไม่น้อย แต่ยังครองส่วนแบ่งตลาดได้ไม่มากนัก ส่วน Leo Beer ของไทยจะอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน ด้วยระดับราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ไทยรายอื่น
- ข้อมูลการนำเข้า
มูลค่านำเข้าเบียร์จากต่างประเทศของไต้หวัน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% ในปี 2566 สวนทางกับปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศ ซึ่งมีแนวโล้มลดลงอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นในปี 2565) แสดงให้เห็นถึงการเข้ามามีบทบาทในตลาดไต้หวันมากขึ้นของเบียร์ต่างประเทศ ไต้หวันนำเข้าเบียร์จากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ารวม 256.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 12.19 และเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มาถึงร้อยละ 30.1 โดยเป็นการนำเข้าจากจีนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 113.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 19.39 โดยสาเหตุที่จีนส่งออกเบียร์มายังไต้หวันมากที่สุดนั้น เนื่องจากแบรนด์ดังในตลาดไต้หวันทั้ง Budwiser และ Kirin ต่างก็มีโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญสำหรับส่งสินค้ามาจำหน่ายในไต้หวัน รองลงมาได้แก่เนเธอร์แลนด์ ด้วยมูลค่า 78.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 10.33 ตามด้วยญี่ปุ่น (มูลค่า 26.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.63) สหราชอาณาจักร (มูลค่า14.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.75) และเบลเยี่ยม (มูลค่า 3.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 34.97) สำหรับประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 12 ของไต้หวัน ด้วยมูลค่า 0.998 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 48.94 และเป็นตัวเลขที่ลดจากปี 2562 มากถึงร้อยละ 65.99 โดยมีสาเหตุหลักมาจากจำนวนแรงงานไทยที่ลดลงอย่างมากในไต้หวัน เนื่องจากค่าแรงในประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ น่าดึงดูดมากกว่า ซึ่งกลุ่มแรงงานไทยถือเป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญของเบียร์ไทยในไต้หวัน อีกทั้งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แรงงานเหล่านี้มีรายได้ลดลงมาก ส่งผลให้การใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลงเช่นกัน และมีจำนวนไม่น้อยที่หันไปบริโภคเบียร์ท้องถิ่นที่ราคาต่ำกว่า เช่น Taiwan Beer ซึ่งมีราคาประมาณ 38 บาทต่อกระป๋อง (350 มล.) ในขณะที่เบียร์ไทยนำเข้ามีราคาประมาณมากกว่า 50 บาทต่อกระป๋อง จนกลายเป็นความเคยชินแบบใหม่ ผู้นำเข้าเบียร์ไทยจึงหันไปให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารไทย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในไต้หวัน โดยมูลค่าการขายเบียร์ไทยในร้านอาหารไทยในไต้หวันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความนิยมรับประทานอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นของชาวไต้หวัน
ตารางที่ 3 : มูลค่านำเข้าสินค้าเบียร์ของไต้หวัน 10 อันดับแรกในปี 2566
Rank | Trade Partner | United States Dollars | %Change, 2566/2565 | ||||
2562 | 2563 | 2564 | 2565 | 2566 | |||
World | 197,377,938 | 205,182,744 | 226,178,143 | 228,947,319 | 256,847,029 | 12.19 | |
1 | China | 53,430,334 | 61,606,638 | 77,620,207 | 95,416,553 | 113,917,200 | 19.39 |
2 | Netherlands | 90,095,901 | 82,712,833 | 85,198,329 | 71,243,674 | 78,606,082 | 10.33 |
3 | Japan | 13,140,637 | 17,641,486 | 23,682,893 | 24,598,847 | 26,968,079 | 9.63 |
4 | United Kingdom | 6,948,945 | 8,161,825 | 6,112,261 | 8,202,274 | 14,579,263 | 77.75 |
5 | Belgium | 2,119,527 | 2,153,114 | 2,378,390 | 4,799,140 | 3,120,688 | -34.97 |
6 | United States | 11,696,129 | 6,967,517 | 3,257,161 | 1,824,234 | 2,666,271 | 46.16 |
7 | Germany | 2,495,621 | 1,759,841 | 2,607,097 | 2,956,926 | 2,548,183 | -13.82 |
8 | Poland | 839,428 | 1,220,209 | 1,674,976 | 2,947,829 | 1,937,799 | -34.26 |
9 | Spain | 2,678,281 | 1,310,823 | 2,656,894 | 3,423,598 | 1,329,488 | -61.17 |
10 | Hong Kong | 1,606,802 | 1,604,535 | 1,287,179 | 1,462,934 | 1,177,475 | -19.51 |
11 | Korea, South | 1,147,035 | 1,252,967 | 665,781 | 1,135,795 | 1,102,264 | -2.95 |
12 | Thailand | 2,935,818 | 2,285,826 | 2,242,437 | 1,955,304 | 998,361 | -48.94 |
Source of data: Taiwan Directorate General of Customs
- กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4.1 อัตราภาษีนำเข้า HS-Code: 220300 ร้อยละ 0
4.2 ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ : 26 NTD / ลิตร (เบียร์)
4.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 5%
4.4 การโฆษณาทางโทรทัศน์ ต้องออกอากาศหลัง 21.00 น. และต้องมีข้อความเตือนให้ผู้บริโภคทราบถึงอันตรายของการดื่มสุรา สำหรับโฆษณาทางสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ไม่มีการกำหนดเวลา แต่ต้องมีข้อความเตือนเช่นกัน
- ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
5.1 แม้ว่าปัจจุบัน เบียร์ไร้แอลกอฮอล์จะยังไม่ได้รับความนิยมในไต้หวันมากนัก แต่จากความเข้มงวดของกฎหมายเกี่ยวกับการเมาแล้วขับของไต้หวัน และกระแสการบริโภคเพื่อสุขภาพ ทำให้เบียร์ไม่ มีแอลกอฮอล์ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะชาวไต้หวันนิยมไปงานเลี้ยงสังสรรค์เป็นอย่างมากทั้งในส่วนของงานมงคล งานเลี้ยงประจำปีของบริษัทห้างร้าน รวมถึงการเลี้ยงฉลองของวัด ศาลเจ้า และชุมชนต่างๆ ซึ่งจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปกติ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ไม่สามารถร่วมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์กับเพื่อนหรือลูกค้า ทำให้ขาดอรรถรสของการร่วมงานเลี้ยงไปไม่น้อย จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของการผลักเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะจะทำให้พวกเขาได้ทั้งความสนุกและความบันเทิงในการร่วมงานเลี้ยงโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมาแล้วขับ
5.2 การที่สินค้าแบรนด์ไทยในตลาดไต้หวันมีราคาขายปลีกอยู่ในระดับใกล้เคียงกับแบรนด์ระดับนานาชาติ ทำให้ต้องแข่งขันโดยตรงกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ ส่งผลให้การทำการตลาดกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวไต้หวัน โดยผู้ประกอบการสามารถประชาสัมพันธ์สินค้า/แบรนด์ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง เช่น เทศกาลดนตรี เทศกาลภาพยนตร์ รวมถึงเทศกาลเบียร์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นช่องทางที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยในไต้หวันจะมีเทศกาลดนตรีใหญ่ 2 เทศกาล คือ Taiwan Music Festival ซึ่งจะจัดที่เขิ่นติง แหล่งพักผ่อนตากอากาศแบบชายทะเลที่อยู่ทางตอนใต้ของไต้หวัน ซึ่งจะจัดในเดือนเมษายนของทุกปี และเทศกาล Hohaiyan Rock Festival ซึ่งจะจัดขึ้นที่ชายหาดฝูหลงที่อยู่ในเมืองนิวไทเป โดยจะจัดในช่วงฤดูร้อน คือ เดือนกรกฎาคมของทุกปี นอกจากนี้ ยังมีงาน S2O Taiwan ซึ่งเป็นงานที่จัดโดยทีมงานจาก S2O Songkran Music Festival ของไทย ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ที่สวนสาธารณะริมน้ำต้าเจีย ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองไทเป ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่และสื่อมวลชนในไต้หวันได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านสะดวกซื้อ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งเชนร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง 7-11 จะมีการจัดเทศกาลเบียร์นานาชาติในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี และเป็นกิจกรรมที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผู้บริโภคใช้เป็นโอกาสในการลองชิมเบียร์ต่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้แบรนด์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย ได้มีการวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยร่วมกับ 7-11 เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคชาวไต้หวันได้อย่างกว้างขวาง และขยายตลาดในกลุ่มผู้บริโภคไต้หวันมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดแรงงานไทยที่มีจำนวนลดลงผ่านการจัดกิจกรรม อีกทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับ/ร้านอาหารไทยในไต้หวันก็จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง และด้วยความเคยชินของชาวไต้หวันที่อยากจะดื่มเบียร์ไทยในขณะที่รับประทานอาหารไทยมากกว่าเบียร์ไต้หวันหรือจากประเทศอื่น จึงทำให้เป็นช่องทางที่น่าสนใจไม่น้อย
- งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
6.1 Taipei International Food Show 2024 (http://www.foodtaipei.com.tw)
Taipei Nangang Exhibition Center, Hall 1 & 2
June 25-28, 2568
6.2 International Wine & Liquor Promotion 2024
(https://www.ieatpe.org.tw/wine/)
Grand Ballroom 3F, The Regent Taipei Hotel
December 12, 2024
6.3 Taipei Int’l Wine & Spirits Festival Spring Exhibition
(https://www.chanchao.com.tw/twsf/taipeispring/en/)
Taipei World Trade Center, Hall 1
April 19-22, 2568
E-Mail :
Tel : Fax : |
thaicom.taipei@msa.hinet.net
(886 2) 2723-1800 (886 2) 2723-1821 |
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ตุลาคม 2567 |
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ภาวะตลาดสินค้าเบียร์ของไต้หวัน