หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566

                    วันที่ 25 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 และ 11 เดือนแรกของปี 2566 พร้อมด้วย นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 

                    การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (847,486 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 4.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.0 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลงและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้า โดยหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบวงรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกรายสินค้าในภาพรวมขยายตัวทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวมากกว่าหมวดอื่น ๆ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องตามวัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และมีปัจจัยบวกจากการจับจ่ายใช้สอยก่อนเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 0.5

มูลค่าการค้ารวม
                    มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.1 ดุลการค้า ขาดดุล 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8 ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
                    มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนพฤศจิกายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 847,486 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 944,873 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.8 ดุลการค้า ขาดดุล 97,387 ล้านบาท ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 9,013,184 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 9,341,112 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.3 ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 327,928 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 
                    มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.9 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 67.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และแอลจีเรีย) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 14.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ และตุรกี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ลิเบีย แคนาดา อิสราเอล และอาร์เจนตินา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย แคนาดา และกัมพูชา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 21.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเมียนมา) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 29.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน เมียนมา และสหรัฐฯ) กุ้งต้มสุกแช่เย็น ขยายตัวร้อยละ 140.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน)

                    ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 12.8 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ บังกลาเทศ และออสเตรเลีย) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 26.9 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม เมียนมา เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 9.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ลาว จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 47.1 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อินเดีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา เกาหลีใต้ จีน เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 
                    มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.4 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 10.3 กลับมาขยายตัวในรอบ 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และไต้หวัน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 42.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย แคนาดา และเมียนมา) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 19.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เม็กซิโก จีน และรัสเซีย) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 40.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และมาเก๊า) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 24.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 25 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) 

                    ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 9.7 กลับมาหดตัวในรอบ 11 เดือน (หดตัวในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 6.6 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และเกาหลีใต้) เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 10.7 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ไต้หวัน และลาว) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 26.1 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี และ สเปน) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.5

ตลาดส่งออกสำคัญ
                    การส่งออกไปตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปบางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวของภาคการผลิตโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 17.5 ญี่ปุ่น ร้อยละ 4.3 และอาเซียน (5) ร้อยละ 12.9 ในขณะที่ตลาดจีน สหภาพยุโรป (27) และ CLMV หดตัวร้อยละ 3.9 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 5.0 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 10.9 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 88.4 ขณะที่หดตัวในตลาดตะวันออกกลาง ร้อยละ 4.5 แอฟริกา ร้อยละ 1.4 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 4.2 และสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 15.0 (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 63.1 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 77.9

                    ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.0 

                    ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 3.9 (กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.0 

                    ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 4.3 (กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 0.4

                    ตลาดสหภาพยุโรป (27) หดตัวร้อยละ 5.0 (หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และแผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.1 

                    ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 12.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ข้าว และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 3.0

                    ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 7.6 (หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และทองแดงและของทำด้วยทองแดง เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 14.7 

                    ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 5.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 7.8 

                    ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 10.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.1 

                    ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 4.5 (หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.3 

                    ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 1.4 (กลับมาหดตัวในรอบ 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว เม็ดพลาสติก และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.1 

                    ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 4.2 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.0

                    ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 88.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 47.0

                    ตลาดสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 15.0 (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารสัตว์เลี้ยง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.5

การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
                    การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในเดือนพฤศจิกายน อาทิ (1) In-coming Trade Mission จากบังกลาเทศ เดินทางเยือนไทย โดย สคต. ณ กรุงธากา ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา และสภาธุรกิจและอุตสาหกรรมบังกลาเทศ-ไทย (BTCCI) นำคณะนักธุรกิจบังกลาเทศ จำนวน 34 ราย มาเจรจาธุรกิจ โดยมีผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมเจรจา จำนวน 63 ราย มีจำนวนคู่เจรจาทั้งสิ้น 128 คู่ รวมมูลค่า 209.73 ล้านบาท (2) สคต. โตเกียว นำคณะผู้ซื้อชาวญี่ปุ่น เดินทางเยือนไทย มาจัดทำ MOU สั่งซื้อกล้วยหอมไทย จากอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท  และนำคณะพบผู้ผลิตกล้วยหอมในจังหวัดเชียงใหม่และพัทลุง เพื่อหาแหล่งส่งออกกล้วยเพิ่มเติม (3) ส่งเสริมการขยายตลาดแฟรนไชส์ร้านกาแฟไทยในญี่ปุ่น โดยการจัด OBM ให้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด ได้เจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ในญี่ปุ่น เกิดผลสำเร็จเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนสาขาใหม่ ในจังหวัดชิบะ โดยเป็นสาขาแรกในญี่ปุ่นที่จำหน่ายอาหารไทย และจะมีการขยายสาขาใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นช่องทางในการส่งเสริมสินค้าไทยจากชุมชน และสินค้าจากโครงการ Local BCG Plus ของกระทรวงพาณิชย์ ผ่านร้าน Café Amazon ทุกสาขาในตลาดญี่ปุ่น (4) นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ได้แก่ APPEX (ยานยนต์และชิ้นส่วน) ในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการเข้าร่วม 15 ราย รวมมูลค่า 921.67 ล้านบาท MEDICA (สินค้าและบริการทางการแพทย์และสุขภาพ) ในเยอรมนี ผู้ประกอบการเข้าร่วม 10 ราย รวมมูลค่า 204.99 ล้านบาท China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 6 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และ งาน American Film Market ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เป็นต้น

                    แผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำแผนเร่งรัดการส่งออกระยะ 1 ปี ประกอบด้วยกิจกรรมทั้งหมด 417 กิจกรรม คาดการณ์มูลค่าส่งออก 65,700 ล้านบาท ภายใต้ 5 กลยุทธ์สำคัญ ดังนี้ 1) เปิดประตูโอกาสทางการค้า เชิงรุก สู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิม โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA เจาะตลาดเมืองรองศักยภาพ บูรณาการการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัดให้เข้มข้นขึ้น เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก เร่งสร้างรายได้ภาคการเกษตร 2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการส่งออก ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม การออกแบบ และการสอดแทรกคุณค่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมุ่งผลักดัน 11 สาขา soft power เป้าหมาย รุกสู่เวทีโลก 3) ผลักดันภาคธุรกิจไทยปรับตัวเข้าสู่การค้าโลกในยุคดิจิทัล และส่งเสริม Cross-border E-Commerce 4) สานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม โดยเดินหน้าบ่มเพาะผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG และส่งเสริมออกสู่ตลาดโลก 5) ยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (Logistics Service Providers) และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาค เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายทูตพาณิชย์ใน 10 ประเทศเป้าหมาย ภายใต้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก คือ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกาใต้ จัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย

                    การส่งออกปี 2566 และแนวโน้มในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะกลับมาอยู่ในระดับที่ดีกว่าช่วงภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีนี้ สำหรับการส่งออกปี 2567 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 1.99 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
25 ธันวาคม 2566

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login