ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมีนาคม 2564
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มูลค่าการส่งออกของไทยยังอยู่เหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.47 สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐฯ (+6.4%) จีน (+8.4%) ญี่ปุ่น (+3.3%) และประเทศในทวีปยุโรป (+4.4%) นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 55.0 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 11.97 สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 2.27 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ไตรมาสแรกขยายตัวที่ร้อยละ 7.61
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดีและเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในเดือนนี้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหารที่ยังเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ด้านตลาดส่งออกสำคัญมีทิศทางทีดีขึ้นตามลำดับ โดยหลายตลาดขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (15) และเอเชียใต้ นอกจากนี้ หลายตลาดส่งสัญญาณฟื้นตัว อาทิ ตลาด CLMV ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ที่กลับมาขยายตัว รวมถึงตะวันออกกลาง (15) และอาเซียน (5) ที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนมาก
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนมีนาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.47 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การนำเข้า มีมูลค่า 23,511.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.12 ดุลการค้าเกินดุล 710.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 64,148.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.27 การนำเข้า มีมูลค่า 63,632.37 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.37 เกินดุล 515.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนมีนาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 719,050.84 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.05 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 708,095.57 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.52 ดุลการค้าเกินดุล 10,955.27 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 1,907,932.14 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 0.17 การนำเข้า มีมูลค่า 1,920,028.82 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 7.17 ขาดดุล 12,096.68 ล้านบาท
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564
การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก
(1) การฟื้นตัวภาคการผลิตของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (2) ประสิทธิภาพของการกระจายวัคซีน ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น (3) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มส่งผลในทางบวกต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของประชาชน และ (4) ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว คาดว่าจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) อุปสรรคการค้าชายแดนในเมียนมา โดยเฉพาะการประท้วงที่เกิดขึ้นยาวนานอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของเมียนมาในภาพรวม (2) ต้นทุนค่าระวางขนส่งทางเรือของผู้ประกอบการอาจสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และ(3) เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มีแผนเร่งรัดการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าวที่มีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านตัน มุ่งเน้นตลาดสำคัญ 3 ตลาด คือ ตลาดพรีเมียม ตลาดทั่วไป และตลาดเฉพาะ พร้อมเพิ่มการใช้ประโยชน์จาก FTA และ MOU ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนการส่งออก รวมทั้งให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศประสานงานกับผู้ส่งออก-นำเข้า สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้ข้าวไทย และเตรียมจัดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 เพื่อโปรโมตสินค้าอาหารของไทยในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีแผนในการเปิดตลาดใหม่ โดยขยายการส่งออกสินค้าไปยังประเทศปานามา เพื่อใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เม็กซิโก อเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนบนอีกด้วย
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าวเพิ่มเติม ได้ที่ click
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)