หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ภาคเหนือของเยอรมนีจะกลายเป็นแผ่นดินทองในการตั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ภาคเหนือของเยอรมนีจะกลายเป็นแผ่นดินทองในการตั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ปัจจุบันสิ่งสำคัญสำหรับภาคเอกชนหากต้องการที่จะสร้างโรงงานขึ้นใหม่ คือ ไฟฟ้าสีเขียว (หรือ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานทดแทนที่ไม่สร้างมลภาวะ อาทิ ลม แสงอาทิตย์ หรือความร้อนใต้พิภพ) จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้พื้นที่ในภาคเหนือของเยอรมนีมีแต้มต่อในการได้รับพิจารณาให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมหรือการสร้างโรงงานใหม่ๆ เพราะพื้นที่ในภาคนี้มีฐานการผลิตไฟฟ้าจากลมมากมายทั่วไป และจากรายงานของ Thinktank Epico และมูลนิธิเศรษฐกิจภูมิอากาศ (der Stiftung Klimawirtschaft) ซึ่งได้รับมอบหมายจากสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี (IW – das Institut der deutschen Wirtschaft) เมือง Köln ให้ทำการสอบถามเอกชนกว่า 924 บริษัท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน เรื่อง  “ความได้เปรียบเชิงพื้นที่ของพลังงานทดแทน” ผลปรากฏว่า กว่า 80% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามได้ให้คะแนนกับการจัดการพลังงานที่มีความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในภาคเหนือของเยอรมนีอยู่ในเกณฑ์ “ดี – ดีมาก” และมีเพียง 30% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ให้คะแนนเท่ากัน สำหรับรายงานนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “พื้นที่ทางภาคใต้ของเยอรมนีจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาแหล่งพลังงานสีเขียว เพราะไม่ว่าพื้นที่ใดที่ขาดแคลนแหล่งพลังงานทดแทนในขณะนี้ ก็จะกลายเป็นผู้เสียเปรียบในด้านการของการเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมในอนาคตนอกจากนี้” ในรายงานยังได้เขียนว่า “นอกจากภาคใต้ของเยอรมนีจะขาดแคลนกังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังขาดความเชื่อมโยงแหล่งพลังงานทดแทนกับเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเครือข่ายไฮโดรเจนที่จะมีขึ้นในอนาคตอีกด้วย”

อุตสาหกรรมหนักทางภาคใต้ของเยอรมนีขณะนี้ต้องการที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต และต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งความต้องการพลังงานในจำนวนมหาศาลขนาดนี้ คงไม่มีทางที่จะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เพียงอย่างเดียว โดยในรายงานยังได้กล่วเพิ่มเติมอีกว่า “แม้ในพื้นที่ภาคใต้ของเยอรมนีจะมีความต้องการพลังงานลมจำนวนมาก แต่การก่อสร้างกังหันลมบนบกเพื่อผลิตไฟฟ้ากลับดำเนินไปอย่างล่าช้า และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ทางภาคเหนือกับภาคใต้แล้ว การขยายเครือข่ายพลังงานทดแทนในภาคใต้ที่ดำเนินไปค่อนข้างล่าช้า ในขณะที่ทางภาคเหนือมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาคเหนือมีความได้เปรียบในด้านเป็นที่ตั้งศูนย์อุตสาหกรรมอย่างชัดเจน” ซึ่งหากต้องการที่จะลดราคาค่าไฟฟ้าและรักษาเสถียรภาพในการจัดสรรพลังงานแล้ว สิ่งที่จำเป็นในเวลานี้ก็คือ การขยายแหล่งผลิตพลังงานทดแทนและเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งในอดีตแทนที่ภาคใต้จะเร่งปฏิบัติในสิ่งที่กล่าวมา กลับไปทำการเพิ่มกฎระเบียบมากมาย อาทิ กฎว่าด้วยการรักษารักษาระยะห่างระหว่างสิ่งปลูกสร้าง ทำให้การขออนุญาตติดตั้งกังหันไฟฟ้าทำได้ยากและเสียเวลามากขึ้น และด้วยเหตุนี้เองทำให้ตอนนี้ทางใต้ของเยอรมนี โดยเฉพาะในรัฐบาวาเรียประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งพลังงานทดแทนอย่างหนัก ในขณะที่ทางภาคเหนือของเยอรมนี พบมีการขยายตัวของแหล่งพลังงานลมก้าวหน้าเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในบางรัฐของภาคเหนือยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนได้มากกว่าที่ใช้ด้วย

สำหรับ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในท้องถิ่นที่สูงนั้น ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดในการเลือกหรือตัดสินใจตั้งศูนย์อุตสาหกรรมใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจตั้งโรงงาน Tesla ในเมือง Grünheide รัฐ Brandenburg ซึ่งในรายงานแสดงไว้อย่างชัดเจนว่า ปัจจัยสำคัญที่ Tesla เลือกตั้งโรงงานในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนหนึ่งคือ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในท้องถิ่น อย่างไรก็ดีในรายงานฉบับนี้ยังได้ยกตัวอย่างกรณีที่จัดหาพลังงานสีเขียวในท้องถิ่นไม่เพียงพอไว้ด้วย โดยผลที่ได้ “จะทำให้การจัดการความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของโรงงานลำบาก และสร้างแรงจูงใจให้มีการย้ายฐานการผลิตได้” โดยรัฐ Bayern หาทางกีดกันการขยายแหล่งผลิตพลังงานลมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าเซลล์แสงอาทิตย์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำ และพลังงานชีวมวล จะมีความแพร่หลายในรัฐ Bayern แต่การขยายตัวของการก่อสร้างกังหันลมไฟฟ้าก็ติดขัดมาก และสถานการณ์ก็ได้เลวร้ายเพี่มขึ้นไปอีก เมื่อรัฐ Bayern กีดกันการก่อสร้างเครือข่ายสายไฟฟ้าแรงสูงจากเหนือจรดใต้ จึงทำให้การขนส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภูมิภาคลำบากมากขึ้น ส่งผลให้รัฐ Bayern และรัฐ Baden-Württemberg เสียประประโยชน์จากพลังงานส่วนเกินของภาคเหนือ ซึ่งปัญหานี้ก็ได้ลามไปยังสหภาพยุโรป (EU) แล้ว โดยคณะกรรมาธิการ EU ออกมาแนะนำให้เยอรมนีปรับระดับค่าไฟฟ้าให้เป็น 2 โซน เพราะปัจจุบันเยอรมนียังใช้ระบบค่าไฟฟ้าแบบโซนเดียวเท่ากันทั้งประเทศ โดยค่าไฟฟ้าที่แยกเก็บตามแต่ละโซนนี้จะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะทาง ภูมิศาสตร์ที่สามารถเอื้อต่อการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างกัน ยิ่งโซนมีขนาดใหญ่ขึ้นมากเท่าไหร่ก็จะต้องขนส่งไฟฟ้าเพิ่มไปในพื้นที่ที่ขาดแคลนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากแบ่งเยอรมนีออกเป็น 2 โซน ในเขตเหนือจะมีราคาค่าไฟฟ้าถูกกว่าทางใต้ เพราะมีไฟฟ้าส่วนเกินในภาคเหนือ ในขณะที่ภาคใต้จะอยู่ในภาวะขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมไปตั้งในภาคเหนือได้ โดยผู้ทำรายงานฉบับนี้ได้แนะนำว่า นอกจากว่าจะสามารถขยายตัวการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้เร็วขึ้นแล้ว ยังต้องขยายความสัมพันธ์ทางการค้าในวงกว้างสำหรับการนำเข้าไฮโดรเจนที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้เร็วขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังต้องให้โอกาสบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ให้สามารถซื้อไฟฟ้าที่ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้โดยตรงกับผู้ผลิตได้อีกด้วย

จาก Handelsblatt 4 สิงหาคม 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login