หน้าแรกTrade insightปาล์มน้ำมัน > ภาคเกษตรกรรมขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ภาคเกษตรกรรมขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

 

ภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดย เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศนโยบายเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนาการเกษตร ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับการเกษตรจากครัวเรือนไปสู่การเกษตรเชิงพาณิชย์ และเพิ่มรายได้ของเกษตรกรจากการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร ภายใต้นโยบายใหม่นี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศชั้นนำของโลก
ในด้านการผลิตสินค้าเกษตร

นายกรัฐมนตรี Hun Manet กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมมีส่วนช่วยให้ประเทศกัมพูชาบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ภายในปี 2573 และเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2593 ซึ่งภาคเกษตรกรรมเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และสร้างรายได้จากการส่งออก โดยรัฐบาลกัมพูชามีนโยบายเสริมสร้างศักยภาพทางการเกษตร ให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มากขึ้นจากภาคการเกษตร และยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ในปี 2564 ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 24.4 ของ GDP ของประเทศกัมพูชา

รัฐบาลกัมพูชามีโครงการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาคเกษตรไปยังทุกชุมชนทั่วประเทศเพื่อทำงานร่วมกับเกษตรกรโดยตรง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะให้ช่วยเหลือเกษตรกร จัดตั้งสหกรณ์การเกษตร เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และแนะนำเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเพาะปลูกพืชและความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐบาลได้มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน เทคโนโลยีและวิธีการที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนการผลิต การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับเกษตรกร การทำการเกษตรตามพันธสัญญา การสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูก และช่วยเหลือด้านการตลาด

ข้อมูลที่น่าสนใจ

1) ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2566 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจำนวน 7.31 ล้านตัน มูลค่า 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยัง 75 ประเทศทั่วโลก ซึ่งลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา
มันสำปะหลัง มะม่วง กล้วยสด พริกไทย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลำไย ข้าวโพด และน้ำมันปาล์ม

2) สหพันธ์ข้าวกัมพูชาระบุว่า การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นผลมาจากนโยบาย
ของรัฐบาลในการขยายตลาดส่งออก ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2566 กัมพูชามีรายได้ 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าวเปลือกและข้าวสาร ซึ่งข้าวที่ส่งออก ได้แก่ ข้าวหอม ข้าวอินทรีย์ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2566 กัมพูชา ได้ส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ปริมาณ 600,000 ตัน และคาดว่าในปี 2566 ทั้งปี กัมพูชาจะสามารถส่งออกข้าวได้ ปริมาณ 700,000 ตัน

3) จีน เวียดนาม และไทย เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ของกัมพูชา นอกจากข้าวแล้ว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย มะม่วง กล้วย และมันสำปะหลัง ยังเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

รัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดนโยบายและกลยุทธ์หลายประการเพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เป็นภาคส่วนที่ทันสมัยและมีการแข่งขัน เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ปรับปรุงความเป็นอยู่ของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนโรงงานแปรรูปในท้องถิ่น และการลดต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตร
แปรรูป ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อเป้าหมายของรัฐบาล ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร สามารถพิจารณาเข้ามาลงทุนโดยใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตได้ เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับไทย แรงงานยังมีราคาถูก และมีวัตถุดิบที่มากเพียงพอ รวมทั้งราคาไม่แพง ทั้งนี้ การลงทุนในกัมพูชาในด้านโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรยังเป็นที่ต้องการมาก เนื่องจากกัมพูชาเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรแปรรูป

—————————

ที่มา: Khmer Times

ธันวาคม 2566

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ภาคเกษตรกรรมขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

Login