หน้าแรกTrade insight > ภาคอุตสาหกรรมเยอรมันเมินจีน ตามจีบบราซิล

ภาคอุตสาหกรรมเยอรมันเมินจีน ตามจีบบราซิล

ภายหลังจากที่รัฐบาลบราซิลออกประกาศกฎเกี่ยวกับเงินงบประมาณในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นของบราซิลก็กลับมาคึกคัก ส่งผลให้ค่าเงินเรอัลปรับตัวสูงขึ้นในพริบตา ซึ่งนโยบายด้านการเงินของบราซิลดังกล่าวมุ่งเน้นการใช้จ่ายเงินงบประมาณน้อยกว่ารายได้ นาย Samuel Pessôa นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของบราซิลได้ออกมาชื่นชมว่า “ในที่สุดนาย Lula ได้สร้างกฎเกณฑ์ที่ส่งผลดีต่อบรรยากาศการประกอบธุรกิจในประเทศให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก” โดยตอนนี้นาย Luiz Inácio Lula da Silva ได้เข้ามาบริหารบราซิลมากว่า 100 วันแล้ว และถึงแม้นาย Lula เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติต่างก็ชื่นชม และตั้งความหวังต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลบราซิลว่า จะทำให้เศรษฐกิจของบราซิลจะกลับมาเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดได้อีกครั้ง ด้านนาย Siegfried Russwurm ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมนี (BDI – Bundesverband der Deutschen Industrie) เปิดเผยว่า “รัฐบาลบราซิลตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ประเทศกลับมาเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง” โดยล่าสุดนาย Russwurm พร้อมกับคณะเศรษฐกิจเยอรมัน – บราซิลได้เดินทางไปยังเมือง Belo Horizonte และให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “ตอนนี้บราซิลถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพและดึงดูดการลงทุนเป็นอย่างมาก”

เมื่อ 20 ปีที่แล้วภาคอุตสาหกรรมของบราซิลมีสัดส่วนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 18% แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 11% เท่านั้น เนื่องจากบราซิลใช้นโยบายด้านภาษีเพื่อกีดกันการประกอบธุรกิจมากเกินไป สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมันแล้ว บราซิลเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ แต่ปัจจุบัน รถยนต์ที่ผลิตในบราซิลไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงทำให้กำลังการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันในบราซิลถูกใช้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ที่จะลดลงไปอีก ล่าสุด Morgan Stanley ก็ได้ลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศบราซิลลง 1% โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Morgan Stanley ตัดสินใจอย่างนี้ก็เพราะ นาย Lula มักจะมีปัญหากับนโยบายของธนาคารกลางอยู่เรื่อย ๆ โดยเขาต้องการให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยลง แต่ธนาคารกลางก็ใจแข็งไม่ยอมทำตาม นาย Russwurm ที่ในอดีตเป็นผู้บริหาร Siemens AG และปัจจุบันเป็นกรรมการของบริษัท Voith และ Thyssen-Krupp ได้ให้ความเห็นต่อว่า รัฐบาลบราซิลต้องเร่งตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่รัฐบาลชุดก่อนได้สร้างไว้ และต้องหาทางหยุดปัญหาที่ค้างคาไว้ให้เร็วที่สุด ซึ่งการตัดสินใจใหม่ของกลุ่มประเทศฝั่งตะวันออกนั้นน่าจะเป็นกุญแจหลักในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศบราซิล บริษัทข้ามชาติจำนวนมากทยอยดึงการลงทุนออกจากจีนและทยอยมาลงทุนในประเทศฝั่งตะวันตกแทน นาย Marc Melino ผู้อำนวยการระดับโลกของบริษัทข้ามชาติ Citi กล่าวว่า “ในเวลานี้ Friendshoring หรือ Nearshoring (หมายถึง การส่งเสริมธุรกิจให้ย้ายการผลิตออกจากประเทศเผด็จการมาสู่ประเทศพันธมิตรที่มีค่านิยมเดียวกันแทน) กำลังจะเป็นเรื่องจริงอยู่แล้ว” นอกจากเม็กซิโกแล้ว บราซิลก็ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุดในละตินอเมริกา และกล่าวต่อว่า “บราซิลเป็นประเทศที่เป็นพันธมิตร และในปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะศูนย์รวมการผลิตอีกด้วย”

ในเวลาเดียวกันประเทศบราซิลก็ยังมีการทำการค้ากับประเทศจีนอย่างเหนี่ยวแน่น และน่าจะได้รับผลประโยชน์จากการ BOOM ทางเศรษฐกิจของจีนด้วย นาย Rajiv Jain ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นของบริษัท Themarket จากเมือง Zürich กล่าวว่า “หากคุณมีมุมมองแง่ดีกับจีน งั้นคุณต้องซื้อบราซิล” โดยนาย Jain ได้ใช้เงินจากกองทุน GQG ที่เขาทำงานอยู่กว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปกับการซื้อหุ้นในบราซิล และลงทุนแบบเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดกับบริษัท Petrobras (บริษัทน้ำมันของประเทศบราซิล) อีกด้วย แม้แต่นักวิเคราะห์ของ Morgan-Stanley ก็ยังออกมาแสดงความเห็นว่า การที่เศรษฐกิจของจีนกลับมาฟื้นตัว จะส่งผลบวกกับเศรษฐกิจของประเทศบราซิล นาย Jain กล่าวลอย ๆ ว่า “ต้องยอมรับกับเสียงทางการเมืองที่ดังเป็นพิเศษให้ได้” ซึ่งโชคดีที่นาย Lula นั้นเป็นนักการเมืองเชิงปฏิบัติ นาย Russwurm กล่าวว่า “ข้อมูลเชิงพื้นฐานของประเทศบราซิลนั้นมีความมั่นคงมาก” ระบบธนาคารของประเทศมีความมั่นคง อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าในยุโรปหรือในสหรัฐอเมริกา และบราซิลไม่เคยละทิ้งแนวความคิดด้านอุตสาหกรรมและการตลาดอย่างสิ้นเชิง นาย Russwurm กล่าวส่งท้ายว่า “ในเชิงคุณภาพ คุณจะพบกับความสามารถทางเทคโนโลยีที่ดี และมีผู้ที่มีประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ในประเทศเป็นจำนวนมากทัดเทียมกับในประเทศอื่น ๆ ทำให้บราซิลกลายเป็นประเทศที่เป็นโอกาสสวยหรูในการส่งออก ที่ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลายคนใฝ่ฝัน

Handelsblatt 28 เมษายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login