นายราเด็ก มาเทียก้า (Mr.Radek Matejka) เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเช็ก (Czech Statistical Office: ČSÚ) กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อุตสาหกรรมการก่อสร้างของสาธารณรัฐเช็กมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งการเติบโตนี้มีผลมาจากในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นจากโครงการต่างๆ ถึงแม้ว่าการก่อสร้างโดยรวมจะยังคงน้อยกว่าช่วงเดือนกรกฎาคมของปีที่ผ่านมาก็ตาม” โดยตัวเลขภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ต่อเดือน และมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี แม้ว่าจำนวนการก่อสร้างอาคารมีจำนวนลดลงร้อยละ 0.9 จากปีก่อน แต่ขณะเดียวกันโครงการพัฒนาวิศวกรรมโยธามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ มีการประมาณการจำนวนโครงการก่อสร้างที่จะได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างได้ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 39,400 ล้านเช็กคราวน์ หรือประมาณ 2,250 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงการก่อสร้างอพาร์ตเมนท์ใหม่ จำนวน 2,806 แห่ง ที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567
การเติบโตของภาคการก่อสร้างดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเช็ก เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของตัวเลขต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้เฉลี่ยของประเทศมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเช็ก ระบุว่ารายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อปี อยู่ที่ 45,854 เช็กคราวน์ หรือประมาณ 2,600 เหรียญสหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม อาชีพและธุรกิจแต่ละประเภทมีแนวโน้มการเติบโตที่ต่างกัน ในขณะที่อาชีพด้านสุขภาพและภาคบริการสุขภาพมีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพด้านการบริหารจัดการน้ำและของเสียมีการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนอยู่ที่ร้อยละ 7.8
นางยิตกา เออร์ฮาร์โทวา (Mrs. Jitka Erhartová) หัวหน้าฝ่ายสถิติแรงงานของ ČSÚ ระบุว่าจากความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าทุกสายอาชีพได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน รวมถึงปัจจัยภายนอกต่างๆ อาทิ เงินเฟ้อ ที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ความสามารถในการใช้สอยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น นายมิโรสลาฟ โนวัค (Mr. Miroslav Novák) นักเศรษฐศาสตร์จาก Akcenta เห็นว่ายังคงต้องวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตนี้อย่างใกล้ชิด ว่ารายได้เฉลี่ยจริงจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลังนี้หรือไม่ ทั้งนี้ จากการสำรวจของสำนักข่าวเช็ก (Czech News Agency: ČTK) และการคาดการณ์ของธนาคารแห่งชาติเช็ก (Czech National Bank: ČNB) พบว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบเป็นรายปีมีแนวโน้มลดลงและคาดว่าจะลงมาแตะที่ระดับร้อยละ 2 และอาจต่ำกว่านี้เป็นครั้งแรกในปีนี้
นายวิต ฮราดิล (Mr. Vít Hradil) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Cyrrus รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมว่า “เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เสื้อผ้า และรองเท้าลดลง ราคาอาหารก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ในทางกลับกันหมวดหมู่ต่างๆ เช่น สันทนาการ วัฒนธรรม การรับประทานอาหาร และที่พัก กลับมีราคาสูงขึ้น และคาดว่าราคาบ้านและอุปกรณ์ในครัวเรือนจะยังคงทรงตัว ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 2 พอดีเมื่อเทียบเป็นรายปี และตรงกับเป้าหมายที่ธนาคารแห่งชาติเช็กตั้งไว้” นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากธนาคาร Raiffeisen คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบเป็นรายปีจะลดลงจากร้อยละ 2.2 เป็นร้อยละ 1.9 โดยแนวโน้มในเชิงบวกนี้ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งส่งผลดีต่ออัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อล่าสุดนี้สร้างความหวังให้แก่สาธารณรัฐเช็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากสาธารณรัฐเช็กยังคงเดินหน้าฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสองหลักในปี 2565 และปี 2566 ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันบ่งชี้ถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น แม้ว่ายังคงมีความท้าทายทางเศรษฐกิจอยู่บ้างก็ตาม
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
จากข้อมูลทางเศรษฐกิจของเช็กที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการก่อสร้างของสาธารณรัฐเช็กที่เติบโตขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการขยายการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างมายังตลาดสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม โดยปี 2566 สาธารณรัฐเช็กนำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 23,450 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี โปแลนด์ สโลวาเกีย อิตาลี ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ จีน ฝรั่งเศส สวีเดน และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 48.09 ล้านเหรียญสหรัฐ
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ภาคการก่อสร้างของสาธารณรัฐเช็กเติบโตดีขึ้น