หน้าแรกTrade insightสุกร > ฟาร์มสุกรยุคใหม่ เน้นลดโรค เพิ่มรายได้

ฟาร์มสุกรยุคใหม่ เน้นลดโรค เพิ่มรายได้

โดย ผศ.น.สพ.ดร.ปริวรรต  พูลเพิ่ม คณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          เป็นที่ทราบกันดีว่า สิ่งที่ผู้เลี้ยงสุกรต้องการ คือ “กำไร” ที่มาจากรายได้หักลบด้วยต้นทุนการผลิต แต่รายรับถูกกำหนดด้วยราคาขาย ซึ่งผันผวนขึ้นลงตามกลไกตลาด เกษตรกรควบคุมไม่ได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนการผลิต ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการป้องกันโรคในฟาร์ม เพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้ต่ำที่สุด เพราะยิ่งมีสุกรขายมากเท่าใด ยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น

ผศ.น.สพ.ดร.ปริวรรต  พูลเพิ่ม คณะสัตวแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า กำไร คือ สิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องการ แต่ราคาหน้าฟาร์มเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นไปตามกลไกตลาด จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนการผลิต ด้วยการลดความสูญเสีย ทำให้มีสุกรขายมากที่สุด ซึ่งต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด เพราะเดิมหลายฟาร์มหากลูกสุกรออกมาตัวเล็ก น้ำหนักต่ำกว่า 0.8 กิโลกรัม ก็คัดทิ้งทันที แต่ทุกวันนี้ต้องคิดว่า ลูกสุกรเมื่อคลอดมามีชีวิตแล้ว ไม่ว่าน้ำหนักเพียง 0.4-0.6 กิโลกรัม ก็ต้องหาทางทำให้รอดไปจนถึงขุนขายให้มากที่สุด

          สำหรับโรคที่ต้องให้ความสำคัญในการผลิตสุกร คือ โรคพีอาร์อาร์เอสที่ยังมองข้ามไม่ได้ โรคเซอร์โคไวรัสที่ยังก่อความเสียหายได้เป็นระยะ เช่นเดียวกับโรคพีอีดีที่ยังพบปะปรายอยู่บ้าง โรคไข้หนังแดงที่อาจพบได้ในฟาร์มที่ไม่ได้ทำวัคซีนป้องกันโรค โรคพิษสุนัขบ้าเทียมพบน้อยมากเนื่องจากการทำวัคซีนป้องกันโรค โรคอหิวาต์สุกรยังบ้างประปราย แต่ไม่ควรพบในลูกสุกรดูดนม และอนุบาล เพราะแสดงว่าลูกไม่ได้รับนมน้ำเหลือง โรคปากและเท้าเปื่อยก็เป็นอีกโรคที่ยังพบอยู่เป็นระยะ เน้นการทำวัคซีนตามโปรแกรมโรคพีอีดีก็ยังพบประปราย ขณะที่โรคเอพีพีหากพบก็ใช้ยารักษาได้ และยังมีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ที่แม้ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทยแต่ก็ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งการจัดการโรคต้องเริ่มจากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่หลายฟาร์มละเลย ทั้งๆ ที่ ไม่ได้ยากในการปฏิบัติเริ่มจากการมีระยะพักโรคก่อนเข้าฟาร์ม มีการอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้า รถยนต์ภายนอกจอดห่างจากฟาร์ม โดยการป้องกันโรคจากภายนอก การป้องกันการแพร่โรคภายในฟาร์ม และการเพิ่มความต้านทานโรคให้สุกร ถือเป็นสิ่งที่ฟาร์มต้องทำเป็นประจำ

นมน้ำเหลือง ถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะลูกสุกรได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านทางนมน้ำเหลืองเท่านั้น จึงต้องจัดการให้ลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่ของมันเองอย่างเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ซึ่งนมน้ำเหลืองจะผลิตก่อนคลอดประมาณ 1-2 วัน ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแม่ก่อนคลอดทำให้อยู่สบาย ไม่เครียด และไม่หอบ เพื่อผลิตนมน้ำเหลืองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ต้องทราบภาวะสุขภาพของฝูงว่ามีปัญหาโรคใดบ้าง แต่ละโรคก่อปัญหาในช่วงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละฟาร์ม

          ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เน้นการป้องกันโรคจากภายนอก ซึ่งรถยนต์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มจากการศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย พบว่าปัจจัยที่นำเชื้อได้ดีที่สุด คือ รถยนต์ทั้ง รถจับสุกร รถส่งสุกร และรถขนอาหารสัตว์ ซึ่งจากการระบาดของโรค ASF ในประเทศจีน เวียดนาม และล่าสุดมีรายงานที่ประเทศกัมพูชา จึงต้องเฝ้าระวังรถขนส่งสุกรมีชีวิต ด้วยการทำโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและล้างทำความสะอาดที่บริเวณด้านสำคัญ 5 แห่ง คือ ด่านเชียงแสน ด่านเชียงของ ด่านหนองคาย ด่านมุกดาหาร และด่านปอยเปต

          รถจับสุกรเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการนำเชื้อเข้าฟาร์ม จึงต้องจัดการให้รถจับสุกรต้องผ่านการล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคก่อนจับสุกร ยกตัวอย่างในประเทศจีน ฟาร์มบริษัทที่อยู่ในพื้นที่โรค ASF ระบาด แต่ไม่ได้เสียหาย ใช้วิธีการซื้อที่ทำเป็นจุดจำหน่ายสุกรที่ห่างจากฟาร์มแล้วใช้รถขนส่งจากฟาร์มขนสุกรมาที่จุดจำหน่ายแล้วให้รถจับมารับโดยไม่ต้องเข้าไปถึงหน้าฟาร์ม ดังนั้นหากทุกฟาร์มให้ความสำคัญกับรถจับสุกร ไม่ให้เข้าไปในบริเวณฟาร์ม หรือต้องล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม ก็สร้างความมั่นใจได้ว่า ไม่มีเชื้อโรคจากภายนอกระบาดเข้าสู่ฟาร์ม ดังนั้นรถจับสุกร รถขนอาหาร ถือเป็นปัจจัยที่เจ้าของฟาร์มต้องใส่ใจ

          เนื่องจากโรค ASF เชื้อไวรัสมีความทนทานสูง สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน และอยู่ในเนื้อแช่แข็งได้ตลอด เมื่อเชื้อ ASF เข้าสู่ร่างกายแล้ว มีระยะฟักโรคประมาณ 7-10 วัน ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในระยะนี้สุกรไม่แสดงอาการป่วย แต่แพร่เชื้อได้หรือหากมีคนงานมาสัมผัสสุกรก็นำเชื้อไปยังโรงเรือนอื่น ๆ ได้ดังนั้น หากเกิดโรค ASF ขึ้น จึงต้องทำลายทั้งฟาร์ม เลือกทำลายเฉพาะตัวที่ป่วยไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าเชื้อได้แพร่ไปเท่าใดแล้ว และถึงแม้โรค ASF ไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันรวดเร็ว ต้องสัมผัสโดยตรง คือการกินเชื้อเข้าไปเท่านั้น ซึ่งคนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการนำเชื้อโรคให้แพร่ระบาด ดังนั้น มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อในฟาร์มจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้ง การอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า การจุ่มเท้า ก็ช่วยป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี

          ด้าน วัคซีนป้องกันโรค ต้องจัดเก็บให้ถูกต้อง ตู้แช่วัคซีนควรแยกเฉพาะ เพื่อให้อุณหภูมิคงที่ตลอดเวลา ไม่ควรนำขวดวัคซีนออกจากกล่องมาเรียงในตู้แช่ เพราะเมื่อเปิดตู้ไอร้อนจากภายนอกมากระทบอาจมีผลต่อคุณภาพวัคซีนได้ ควรใช้กล่องเป็นฉนวนป้องกัน และห้ามแช่วัคซีนที่บริเวณประตูตู้เย็นเด็ดขาด ขณะที่การใช้ก็ต้องทำอย่างถูกต้อง มีระยะที่เหมาะสมในการทำวัคซีน โดยเฉพาะการทำวัคซีนในลูกที่ต้องรอให้ภูมิคุ้มกันจากแม่ลดลงก่อนมิฉะนั้น อาจเกิดการหักล้างกัน ส่งผลให้การทำวัคซีนไม่ได้ผลป้องกันโรคไม่ได้

          ขณะที่สารพิษจากเชื้อรายังคงสร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยข้าวโพดมักพบสารพิษจากเชื้อราฟูโมนิซิน(Fumonisins) ดังนั้น หลายฟาร์มจึงหลีกเลี่ยงการใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในอาหารแม่เลี้ยงลูกและแม่อุ้มท้อง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพต่างๆส่วนสภาพอากาศร้อนชื้นถือเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการกินได้ของแม่สุกร ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ที่อุณหภูมิ 29 องศาเซลเซียส การกินได้อยู่ที่วันละ 3-4 กิโลกรัม แต่ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส การกินได้เพิ่มเป็น 6 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนการสูญเสียน้ำหนักตัวของแม่ในช่วงเลี้ยงลูก หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนจะสูญเสียน้ำหนัก 30-40 กิโลกรัม แต่ในสภาพอากาศเย็นสูญเสียน้ำหนักตัวเพียง 15 กิโลกรัม ซึ่งการเสียน้ำหนักตัวของแม่มีผลต่อการเป็นสัตและปัญหาการผสมไม่ติด และลูกไม่ดก ส่วนสุกรขุนหากอยู่สภาพอากาศร้อนการกินได้ก็ลดลง โตช้า ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานขึ้น ดังนั้น ฟาร์มควรหาวิธีการลดอุณหภูมิในโรงเรือน เพื่อให้อากาศเย็น สุกรกินอาหารได้มากขึ้น

ด้านการจัดการควบคุมโรค PRRS สิ่งสำคัญ คือ ภูมิคุ้มกันต้องนิ่ง โดยต้องเจาะเลือดประเมินระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคเป็นประจำเพื่อวางโปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคได้อย่างถูกต้องพร้อมกันนี้ต้องควบคุมอัตราการทดแทนสุกรให้คงที่ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มีการทดแทนสม่ำเสมอเท่ากันทุกเดือน เพื่อป้องกันปัญหาพีอาร์อาร์เอส เพราะหากฟาร์มมีอัตราการทดแทนเกิน 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อใด มั่นใจได้ว่า ภายใน 2-3 เดือน ต้องเสียหายจากโรคพีอาร์อาร์เอสแน่นอน โดยวัคซีนเชื้อเป็น แนะนำให้ทำในสุกรสาวทดแทนอย่าง 2 ครั้งก่อนนำเข้าฝูง ขณะที่ลูกและแม่พันธุ์ที่เหลือจะทำหรือไม่ให้พิจารณาเป็นรายฟาร์ม

          การจัดการพีอาร์อาร์เอส ต้องทำให้ไม่มีแม่ป่วยในโรงเรือนคลอด แม่เข้าคลอดมีความสุข ไม่เครียด ให้นมน้ำเหลืองได้ดี เลี้ยงลูกได้ กินอาหารได้ดี ลูกเติบโตดี หย่านมไปแล้วไม่เสียหายด้วยกลุ่มอาการ PRDC (Porcine Respiratory Disease Complex) เพราะปกติหากจัดการไม่ดี หลังหย่านมไป 1-2 สัปดาห์ ลูกสุกรจะมีอาการหายใจกระดุก ตัวหยองขนหยาบและตาย เมื่อผ่านซากพบปอดมีปัญหามัยโคพลาสมา สุกรขุนไม่เสียหายจากโรคเซอร์โคไวรัส เลี้ยงได้อายุ 12-14 สัปดาห์ มีอาการตัวซีดขาว ผอม ขนยาว ไอกระแทก ผ่าซากพบต่อมน้ำเหลืองโต ไตเป็นจุดสีขาว เลี้ยง 28-30 สัปดาห์ก็ยังขายไม่ได้ ดังนั้น หากฟาร์มใดพบปัญหาลักษณะนี้ควรเก็บตัวอย่างตรวจว่า มีปัญหาโรคพีอาร์อาร์เอสหรือไม่

          ความเสียหายจากโรคพีอาร์อาร์เอส ทุกวันนี้ไม่รุนแรงเหมือนกับอดีต เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงมีการจัดการควบคุมโรคซึ่งจากการศึกษาวิจัยติดตามระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคในสุกรสาวก่อนทำวัคซีน ก่อนทำวัคซีนเข็ม 2 และก่อนนำวัคซีนเข็ม 3 ก่อนนำเข้าฝูง แต่ละเข็มห่างกันประมาณ 1 เดือน พบว่า สุกรสาวเข้าฟาร์มครั้งแรกมีผลบวกต่อโรคพีอาร์อาร์เอส หลังทำวัคซีนไปแล้ว 1 เดือน พบว่า พีอาร์อาร์เอสเป็นลบ เช่นเดียวกับก่อนทำเข็มที่ 3 ดังนั้น การจัดการสุกรสาวทดแทนจึงแนะนำให้ทำวัคซีนเชื้อเป็นอย่างน้อย 2 เข็มก่อนนำเข้าฝูง ขณะที่แม่นางทำที่ 1 สัปดาห์ก่อนคลอด และ 3 สัปดาห์หลังคลอด สุกรสาวพร้อมผสม เมื่อเก็บตัวอย่างพบว่า ยังเป็นผลลบอยู่ ดังนั้น การจัดการควบคุมโรคพีอาร์อาร์เอส จำเป็นต้องอาศัยห้องปฏิบัติการในการประเมินว่า การทำวัคซีนป้องกันโรคได้ผลหรือไม่ ลูกสุกรเมื่อหย่านมไปแล้วไม่มีผลบวกต่อโรคพีอาร์อาร์เอสทั้งที่อายุ 4, 7, 10, 14, 18 และ 22 สัปดาห์ ถือเป็นสิ่งที่ต้องการ เพราะหย่านมแล้วไม่ติดเชื้อมาจากโรงเรือนคลอด

          โรคมัยโคพลาสมา ทำให้ปอดมีลักษณะเนื้อแน่น หายใจไม่ออก แลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้ สุกรตัวซีด ซึ่งปัจจุบันใช้วัคซีนป้องกันโรค เช่นเดียวกับโรคพีอาร์อาร์เอส ซึ่งสามารถประเมินได้ว่าฟาร์มมีปัญหาโรคมัยโคพลาสมาหรือไม่จากการให้คะแนนปอดที่โรงฆ่า เพราะโรคนี้หากมีปัญหาจะกระทบต่อการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร สุกรต้องเติบโตได้ตามมาตรฐาน อายุ 23-24 สัปดาห์ ควรมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 105 กิโลกรัม หากไม่ต้องพิจารณาว่า ฟาร์มมีปัญหามัยโคพลาสมาหรือไม่

          การจัดการมัยโคพลาสมา สิ่งสำคัญคือ การทำวัคซีนป้องกันโรค ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ในการควบคุมเชื้อมัยโคพลาสมาได้ดีซึ่งสุกรที่ป่วยด้วยโรคนี้จะไม่โต แคระแกรนหากมีปัญหาร่วมกับพีอาร์อาร์เอส จะก่อให้เกิดปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจซ้ำซ้อน หรือ PRDC รักษาไม่หาย โดยองค์ประกอบของการเกิดพีอาร์ดีซี คือ มีไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับเชื้ออื่นๆ เช่น มัยโคพลาสมา อีโคไล และเสตรปโตคอคคัส

          สุกรที่มีปัญหาพีอาร์อาร์เอส ร่วมกับอีโคไล จะปล่อยสารพิษทำให้ปอดอักเสบอย่างรุนแรง ดังนั้น ฟาร์มที่มีปัญหามัยโคพลาสมาแล้วผ่าซากออกมาพบลักษณะคล้ายกับพีอาร์ดีซี ต้องตรวจสอบว่า มีการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลในระบบหรือไม่โดยอีโคไลปนเปื้อนได้จากน้ำ ซึ่งต้องจัดการน้ำให้สะอาดก่อนนำไปเลี้ยงสุกร ในฟาร์มที่สุกรอนุบาลป่วย   มักพบปัญหาในการควบคุมพีอาร์ดีซี      แก้ด้วยการทำวัคซีนพีอาร์อาร์เอสและมัยโคพลาสมา พร้อมกับติดตามผลระดับภูมิคุ้มกันเป็นประจำ

          โรคเซอร์โคไวรัส ไม่แนะนำให้ทำวัคซีนในแม่ เนื่องจากเซอร์โคไวรัสมีผลด้านภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันจากแม่ส่งให้ลูกผ่านนมน้ำเหลือง หากมีภูมิคุ้มกันสูงแล้วทำวัคซีนก็จะหักล้างกัน ทำให้ทำวัคซีนป้องกันโรคในลูกที่ 4 สัปดาห์ไม่ได้ โดยเซอร์โคไวรัสจะทำให้ลูกสุกรผอม แต่ปัจจุบันไม่ค่อยพบปัญหาในลูกสุกรแล้ว แต่พบที่สุกรขุนมากกว่า อายุประมาณ 13-14 สัปดาห์ ผิวหนังมีผื่นคล้ายยุงกัด เมื่อผ่าซากพบจุดสีขาวที่ไต ต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ แสดงให้เห็นว่า มีปัญหาโรคเซอร์โคไวรัส ซึ่งการวินิจฉัย ทำโดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อยืนยันว่าเป็นเซอร์โคไวรัส ก็ทำวัคซีนป้องกันโรค โดยเข็มแรกทำที่อายุ 3-4 สัปดาห์ และทำซ้ำเข็มที่ 2 ที่อายุ 7-9 สัปดาห์ พร้อมกับลดปัญหาปัจจัยร่วมอื่นๆ ทั้งการปนเปื้อนอีโคไล สารพิษจากเชื้อรา และโรคพีอาร์อาร์เอส

          โรคพีอีดี สิ่งสำคัญในการควบคุมโรค คือ นมน้ำเหลือง โดยแม่สุกรต้องมีภูมิคุ้มกันดี มีนมน้ำเหลืองดี ลูกได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเต็มที่ ไม่มีปัญหาป่วยด้วยโรคพีอีดีแน่นอน ซึ่งฟาร์มที่พบปัญหาพีอีดีประปรายส่วนใหญ่เกิดจากแม่นมแห้ง ป่วยก่อนคลอดซึ่งการจัดการพีอีดีเน้นการสับไส้ และการจัดการนมน้ำเหลือง ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพและความสะอาด ส่วนโรคเอพีพี เป็นอีกโรคที่พบได้ในฟาร์ม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนต่อฝน หรืออากาศชื้นอบอ้าว หากพบก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษา รวมถึงการใช้ยาทิลมิโคซิน (TILMICOSIN) ผสมอาหารแม่อุ้มท้องและเลี้ยงลูกเดือนละ 1 สัปดาห์ ก็ช่วยลดปัญหาได้

          สำหรับโรค ASF ถือเป็นโรคที่ต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นับจากมีการระบาดที่ประเทศจีนในวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ปัจจุบันระบาดไปเกือบทั่วประเทศ ก่อนระบาดไปที่เวียดนาม และล่าสุดพบการระบาดที่กัมพูชาแล้ว ซึ่งโรค ASF ระบาดในจีนอย่างรวดเร็ว ในระยะทางที่ห่างกันมาก เนื่องจากมีการขนส่งสุกร จึงต้องให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายสุกร โดยเชื้อไวรัส ASF อยู่ในเนื้อแช่แข็งได้ตลอดกาล ดังนั้น ไม่ควรซื้อเนื้อหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแหล่งที่มีการระบาดกลับมา เนื่องจากเชื้ออาจหลงเหลืออยู่ได้ ในเนื้อตากแห้งอยู่ได้ 1 ปี เลือด เครื่องใน เนื้อหมักเกลือ อยู่ได้มากกว่า 3 เดือน มูลอยู่ได้ 1 สัปดาห์ จึงต้องระวัง เพราะเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานมาก

          การป้องกันไม่ให้เชื้อ ASF เข้าไปที่ฟาร์ม ห้ามนำเนื้อสุกรที่กินเหลือไปเลี้ยงสุกรเด็ดขาด โดยเฉพาะรายย่อย เพราะหากมีเชื้อในเนื้อแล้วสุกรกินก็ติดโรคได้ โรค ASF ติดเชื้อไม่ง่าย สุกรต้องกินเชื้อโรคเข้าไปเท่านั้น แต่สุกรที่ติดเชื้อแล้วตาย 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สุกรในรัศมีที่กำหนด ต้องทำลายทั้งหมด เชื้อใช้ระยะเวลาฟักตัว 7-10 วัน จึงไม่ทราบว่า ณ วันที่พบสุกรป่วย เชื้อแพร่ไปเท่าใดแล้ว ดังนั้น เมื่อสุกรป่วยตาย 1 ตัว อาการหูม่วงตัวม่วง เกษตรกรอาจละเลย ไม่ส่งตรวจ แต่ถ้าสุกรแม่พันธุ์ หรือขุนตายแบบหูม่วงตัวม่วงให้ดำเนินการส่งตรวจทันที เพื่อยืนยันว่า เป็นโรค ASF หรือไม่ เพราะสุกรป่วยมีอาการเหมือนกับอหิวาต์สุกร หูม่วงตัวม่วง มีจุดเลือดออก ตัวที่เป็นรุนแรงจะมีอ้วกเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด

 ด้านเนื้อกระดูกป่น เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะจีนมีสุกรทำลายจำนวนมาก อาจมีบางส่วนถูกนำไปผลิตเนื้อกระดูกป่น ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเนื้อกระดูกป่นจากจีนถูกจดทะเบียนนำเข้ามาเป็นปุ๋ยทำให้ราคาถูกมาก กรมปศุสัตว์ไม่ทราบ ดังนั้น หากมีเซลล์มาขายว่าเป็นเนื้อกระดูกป่นจากจีน ให้ระวัง และหลีกเลี่ยงหากสุกรตายโดยมีเหตุต้องสงสัยให้ส่งตรวจชันสูตร โรค ASF หากไม่นำเชื้อเข้ามา โรคก็ไม่สร้างปัญหา ในฟาร์มใหญ่ๆ ก็ห้ามนำเนื้อสุกรเข้าฟาร์มโดยเด็ดขาดที่สำคัญต้องระลึกไว้เสมอว่า โรค ASF พบเร็ว จบเร็วหากเข้ามาก็เจอในรายย่อย ที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพไม่ดีก่อน แต่ทำอย่างไรให้ฟาร์มที่มีปัญหาไม่เร่งเทขายสุกรออกไป เพราะเป็นการแพร่เชื้อ แต่ให้แจ้งกรมปศุสัตว์มาทำลาย แต่ถ้าฟาร์มรายใหญ่ร่วมมือกันสร้างกองทุนไว้ชดเชยให้กับฟาร์มที่มีปัญหาทันที แล้วทำลายสุกรทั้งหมดแล้วฝังไว้ไม่ให้แพร่ไปที่อื่น และให้ค่าชดเชยมากเป็น 2 เท่า เพราะต้องสูญเสียโอกาสการเลี้ยงอีกอย่างน้อย 1 รุ่น เพื่อให้คนที่มีปัญหายอมแจ้งทันทีมิฉะนั้น ก็จะมีปัญหาแพร่ระบาดเร็วเหมือนกับประเทศจีน และเวียดนาม แต่ถ้าพบแล้วไม่รายงาน ก็เสียหายทั้งอุตสาหกรรมแน่นอน

          เพราะฉะนั้น หากต้องการอยู่ในธุรกิจการผลิตสุกรต่อไป ก็ต้องให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ใช้ห้องปฏิบัติการช่วยในการวางมาตรการป้องกันโรค เน้นการเก็บข้อมูลบันทึกประสิทธิภาพการผลิตแม่พันธุ์ สุกรอนุบาล และขุน เพื่อประเมินว่า ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ และต้องระลึกไว้เสมอว่า “ยิ่งมีสุกรขายมากเท่าใด ยิ่งมีรายได้มากเท่านั้น”

ที่มา :  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผศ.น.สพ.ดร.ปริวรรต พูลเพิ่ม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login