“พาณิชย์-DITP”แนะศึกษาพฤติกรรมบริโภคชาว Gen Z จีนนำใช้วางแผนส่งออกสินค้าอาหาร
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ประกอบการอาหารไทย ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีน Gen.Z ที่มีสูงถึง 264 ล้านคน และมีความสามารถในการบริโภคสูงถึง 40% ของการบริโภคทั้งหมด พบนิยมบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ไม่สร้างปัญหาโรคอ้วน ดีต่อสุขภาพ นิยมบริโภคเพื่อความสุข ความสนุก เน้นรวดเร็ว และประหยัดเวลา ชี้หากศึกษาให้ถ่องแท้ จะช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารไทย
เจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ถึงการติดตามพฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีน Gen.Z ยุคใหม่ ที่มีจำนวนประมาณ 264 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรจีนทั้งหมด แต่มีขีดความสามารถในการบริโภคสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 และมีการคาดกันว่าในปี 2035 มูลค่าการบริโภคของชาวจีน Gen.Z
จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่า 16 ล้านล้านหยวน (80 ล้านล้านบาท) หรืออาจกล่าวได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า การเติบโตของตลาดการบริโภคโดยรวม และตลาดวัฒนธรรมจะขับเคลื่อนโดยชาวจีน Gen.Z และโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารไทยเจาะขายกลุ่มผู้บริโภคชาว.Gen.Z
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานผลการติดตามตลาดบริโภคอาหารของกลุ่ม Gen.Z ว่า ชาวจีน Gen.Z ถือเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ และให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านรสชาติเป็นอันดับหนึ่งรองลงมา คือ เรื่องสุขภาพ โดยเลือกจากคุณภาพ ราคา สุขลักษณะ หน้าตาของอาหาร สินค้าใหม่ ความนิยม สิ่งแวดล้อม แนวคิดของแบรนด์ และอื่นๆ และชาว Gen Z ยังมีทัศนคติต่อการกิน คือ เป็นประสบการณ์ชีวิต ส่วนใหญ่แสวงหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณภาพ มีนวัตกรรม และมีความหมาย
ขณะเดียวกัน ได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่ไม่สร้างปัญหาโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคเบาหวาน และเน้นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน โดยไข่ นม ผักและผลไม้ เริ่มเข้ามาแทนที่ปลาและเนื้อแบบดั้งเดิม รวมทั้งลดการบริโภคน้ำตาลและไขมันแต่ก็ยังไม่ทิ้งความสุขในการรับประทานขนมขบเคี้ยว ทำให้มีการผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้อบแห้ง ถั่ว ช็อกโกแลตที่ปราศจากน้ำตาลหรือมีน้ำตาลต่ำ เป็นต้น และเครื่องดื่มนิยมที่เป็นธรรมชาติไม่ใส่สารเติมแต่ง ส่วนการซื้อส่วนใหญ่จะซื้อผ่านร้านค้าและออนไลน์
นอกจากนี้ ชาว Gen.Z ยังนิยมบริโภคเพื่อความสุข ความสนุก เช่น การดื่ม กาแฟช่วงเช้า การดื่มชานม
ช่วงบ่าย และการรับประทานไอศกรีมระหว่างการชอปปิ้ง เป็นต้น มีความพร้อมที่จะจ่ายสำหรับเรื่องกิน และเพื่อประหยัดเวลา เนื่องจากชาว Gen.Z มีความมั่งคั่งกว่ารุ่นพ่อแม่ และเริ่มเข้าสู่วัยทำงานมีรายได้ที่มั่นคงทำให้มีขีดความสามารถในการบริโภคเพิ่มขึ้น จึงนิยมบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและให้ความสำคัญในการทำอาหารลดลง
โดยนิยมสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ รับประทานในฟู้ดคอร์ทและรับประทานในโรงอาหาร ทั้งนี้ ยังนิยมอาหารกึ่งสำเร็จรูปและพร้อมรับประทานด้วย เพราะประหยัดเวลาแต่ต้องดีต่อสุขภาพ รวมทั้งมีความตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น เพราะหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่ม.Gen.Z หันมาใส่ใจต่อสุขอนามัยของอาหารเพิ่มขึ้น
นายภูสิตกล่าวว่า ชาวจีน Gen.Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่เริ่มขยับเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในตลาดการบริโภคของจีนในปัจจุบัน จึงถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลในการขับเคลื่อนตลาดการบริโภค ดังนั้น
การเข้าใจพฤติกรรม ทัศนคติ ความชอบ ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ จึงถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเจาะตลาดจีนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการเข้ามาขยายตลาดในจีน โดยเฉพาะจากรายงานนี้ ชี้ให้เห็นว่าชาวจีน Gen.Z มีแนวโน้มการบริโภคที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา ยอมจ่ายเงินในเรื่องการกิน และประหยัดเวลา รวมทั้งมีพฤติกรรมการกินเพื่อให้ตนเองมีความสุข และต้องมีความปลอดภัย
“ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณานำพฤติกรรมการบริโภคเหล่านี้ ไปศึกษาและวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน Gen.Z ได้อย่าง
มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การเข้ามาขยายตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าไทยในตลาดจีนประสบความสำเร็จ และสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดจีนได้มากขึ้นในระยะยาว”นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
(DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
****************************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กันยายน 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)