พาณิชย์ชี้ “เทรนด์ค้าออนไลน์มาแรง ยันมาตรการช่วยเหลือล่าสุดของรัฐตรงใจประชาชน”
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยผลการสำรวจประชาชนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 8,257 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ในรอบเดือน เมษายน – มิถุนายน 2565 พบว่า ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปีที่ผ่านมา โดยนิยมซื้อผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce มากที่สุด และพึงพอใจการใช้บริการในระดับมากถึงมากที่สุดในด้านข้อมูลสินค้า คุณภาพการขนส่ง และคุณภาพสินค้า ทั้งนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 ผู้ตอบแบบมากกว่าครึ่งซื้อสินค้าลดลงและไม่ซื้อเลย โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท และประกอบอาชีพที่มีรายได้ไม่มั่นคง และความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐในระยะต่อไป ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรลดค่าสาธารณูปโภค และตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้ประชาชนผ่านการจ้างงานของรัฐ สนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และเพิ่มช่องทางหรือปริมาณการส่งออกสินค้า ขณะเดียวกัน ต้องบริหารจัดการด้านสาธารณสุขกับการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยสรุปรายละเอียด ดังนี้
1. พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ (รวมอาหารและเครื่องดื่ม) ในรอบเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 พบว่า
- ภาพรวมการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ซื้อสินค้าออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 73.13 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68.97 ในเดือนเมษายน 2564 โดยนิยมซื้อผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce (Shopee และ Lazada) รองลงมาคือ โซเชียลมีเดีย (Facebook) และแอปพลิเคชันสั่งอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีความพึงพอใจในการให้บริการมากถึงมากที่สุดในด้านข้อมูลสินค้า คุณภาพการขนส่ง และคุณภาพสินค้า และพึงพอใจปานกลางในด้านการบริการก่อนและหลังการขาย
- เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกช่วงอายุนิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ยกเว้นผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป นิยมซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย (Facebook) มากกว่าช่องทางอื่น
- ปริมาณการซื้อสินค้า พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (ร้อยละ 53.18) ซื้อสินค้าลดลงและไม่ซื้อเลย เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 โดยเป็นกลุ่มที่มีอายุ 40 – 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน และประกอบอาชีพที่มีรายได้ไม่มั่นคง (ไม่ได้ทำงาน/บำนาญ เกษตรกร และรับจ้าง/บริการอิสระ)
2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐในระยะต่อไป
- มาตรการเดิมที่ต้องการให้ดำเนินการอีก ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรลดค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา ก๊าซหุงต้ม) มากที่สุด ตามด้วยการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การตรึงราคาน้ำมันดีเซล เงินช่วยเหลือเพิ่มสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการ และการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ตามลำดับ
- การเพิ่มรายได้ประชาชนโดยเพิ่มช่องทางหรือปริมาณการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจช่วยให้รายได้ของตนเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพนักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ และนักศึกษา
- การเพิ่มรายได้ประชาชนโดยการสร้างอาชีพระยะเร่งด่วน ส่วนใหญ่เห็นว่า ภาครัฐควรจ้างงานเพิ่มโดยตรง และสนับสนุนการจ้างงาน (สนับสนุนเงินค่าจ้างบางส่วน) ในพื้นที่ สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารและร้านขายของชำ เป็นต้น
ผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อการซื้อสินค้าสุขอนามัย (หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ชุดตรวจ ATK) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เห็นว่าจะซื้อสินค้าสุขอนามัยเท่าเดิมและลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย และมาตรการด้านสาธารณสุขของภาครัฐที่สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี
ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่คุ้นชินการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ขณะที่การชะลอซื้อสินค้าออนไลน์ในไตรมาสที่ 2 อาจปรับตัวดีขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ ตามการจ้างงานที่ทยอยฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้าออนไลน์และผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ควรพัฒนาการให้บริการก่อนและหลังการขายเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในการซื้อสินค้าและบริการที่ดียิ่งขึ้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้สนับสนุนการค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ส่งเสริมโอกาสทางการตลาด ตลอดจนกำกับดูแลค่าบริการ และราคาสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
สำหรับมาตรการช่วยเหลือของรัฐระยะต่อไป การนำมาตรการลดผลกระทบด้านกำลังซื้ออย่างโครงการคนละครึ่งกลับมาใช้อีกครั้ง การช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคมนี้ การพิจารณาเพิ่มส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565 จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน และจะขยายเวลาการช่วยเหลือต่ออีก 3 เดือน ในช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคมนี้ ตลอดจนการพิจารณาบรรเทาค่าไฟฟ้าในกลุ่มที่มีรายได้เปราะบาง และการลดค่าไฟฟ้าผันแปรแบบขั้นบันไดตามระดับการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในประเทศนั้น จะสามารถบรรเทาภาระค่าครองชีพได้ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกัน การพิจารณาพยุงและอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในช่วงที่เหลือของปีนั้น จะมีส่วนช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพและระดับรายได้ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนตามผลสำรวจด้วย
ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)