หน้าแรกTrade insight > พาณิชย์จับมือพันธมิตรเร่งดันสินค้าอินทรีย์และ GI เข้า TraceThai

พาณิชย์จับมือพันธมิตรเร่งดันสินค้าอินทรีย์และ GI เข้า TraceThai

“พาณิชย์จับมือพันธมิตรเร่งดันสินค้าอินทรีย์และ GI เข้า TraceThai”

                     วันที่ 30 สิงหาคม 2564 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดสัมมนาออนไลน์นำเสนอระบบ TraceThai.com และผลการศึกษาออกแบบระบบต้นแบบ ระยะที่ 2 มุ่งเป้าขยายการใช้งานระบบกับสินค้าอินทรีย์ทุกประเภท รวมทั้งสินค้าอินทรีย์มาตรฐาน GI

                     นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรไทยและประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะเข้ามาสนับสนุนกระบวนการติดตามและสอบย้อนกลับสินค้าให้เกิดความโปร่งใส จึงได้จัดทำโครงการประยุกต์ใช้บล็อกเชนยกระดับเศรษฐกิจการค้าขึ้นตั้งแต่ปี 2563 โดยมี “ข้าวอินทรีย์” เป็นสินค้านำร่อง

                     ระบบ TraceThai.com ของ สนค. มุ่งตอบโจทย์เรื่องการตรวจสอบย้อนกลับอาหาร หรือ Food Traceability ซึ่งมีบทบาททางการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น และรัฐบาลของหลายประเทศได้เริ่มมีมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรและอาหารตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยควรเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม  และให้ความสำคัญกับเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เพราะเรื่องนี้ สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ รวมทั้งช่วยลดปัญหาการถูกปลอมปนสินค้าของตนด้วย

                     ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงเริ่มแรก ระบบ TraceThai.com จะนำร่องกับสินค้าอินทรีย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือพืชอื่น รวมถึงสินค้าอินทรีย์แปรรูปที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยรับรองมาตรฐาน (Certification Body: CB) ทั้งที่เป็นมาตรฐานอินทรีย์ในประเทศ คือ Organic Thailand และมาตรฐานอินทรีย์สากล เช่น EU Organic, USDA, IFOAM เป็นต้น  และในระยะที่ 2 ปี 2564 ได้เผยแพร่ขยายฐานการใช้งานเพิ่มมากขึ้น และมีแนวคิดเรื่องการขยายการใช้งานระบบไปยังมาตรฐานสินค้าอื่น เช่น สินค้าที่ผลิตตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) และสินค้าที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) นอกจากนั้น ยังศึกษาและออกแบบระบบต้นแบบสำหรับเชื่อมโยงกับระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลไกในการขับเคลื่อนระบบ TraceThai.com ระยะถัดไปด้วย

                     ในการส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย สนค. ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพันธมิตร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมี MOU ร่วมกันแล้ว ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวอินทรีย์เข้าร่วมโครงการ

ปัจจุบัน ระบบ TraceThai.com มีกลุ่มนำร่องทั้งสิ้น 34 กลุ่ม ในพื้นที่ 17 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้ GI เช่น ข้าวสังข์หยดพัทลุง ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี  ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้สระบุรี เข้าร่วมโครงการด้วย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น ถั่วเหลืองอินทรีย์ ถั่วเขียวอินทรีย์ สินค้ากลุ่มเครื่องสำอางแปรรูปจากสมุนไพรด้วย

                     “สำหรับการขับเคลื่อนระบบ TraceThai.com ในระยะต่อไป สนค. จะแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความเหมาะสม เผยแพร่การใช้งานระบบให้กับกลุ่มเป้าหมายให้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อช่วยกันนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ต่อไป” นายภูสิต กล่าว         

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login