ที่มาภาพ: https://www.ubereats.com/tw/store/正宗泰围菜-泰式原始料理/AGvG9veUWrGX_Y1WOmptjQ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารนานาชนิด ได้แก่ อาหารทะเล ข้าวสวย แกงประเภทต่าง ๆ ฯลฯ เนื่องจากตั้งอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย เป็นประเทศในเขตร้อนชื้นที่มีสภาพอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ส่งผลให้ประเทศไทยมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ผักใบเขียว อาหารทะเล และผลไม้จึงเป็นอาหารหลักสำหรับผู้คนในพื้นที่
เนื่องจากพืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับคนไทยชอบอาหารรสเปรี้ยวและเผ็ด และพิถีพิถันในการปรุงรส วัตถุดิบจะต้องสดใหม่ และมักจะพบพริก ใบโหระพา กระเทียม ผักชี ขมิ้น พริกไทย ตะไคร้ มะพร้าว รวมถึงพืชและเครื่องเทศอื่น ๆ เติมลงไปในอาหาร ล้วนเป็นเอกลักษณ์ทำให้เกิดอาหารไทยที่มีสีสันสดใส รสเผ็ด หวาน และเข้มข้น
ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคชาวจีนที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนมีชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี ความต้องการอาหารที่รสชาติดี คุณภาพสูง และมีความหลากหลายจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ อาหารไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารที่มีเอกลักษณ์ของอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของชาวจีน โดยเมนูที่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมีหลากหลายเมนู เช่น ต้มยำ แกงข่าไก่ ทอดมัน แกงเขียวหวานไก่ ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น
ความนิยมของอาหารไทยในหมู่ชาวเน็ตจีน
ข้อมูลจาก iiMedia Research ในปี 2565 พบว่าชาวเน็ตจีนที่ชื่นชอบอาหารไทยร้อยละ 66.67 รู้สึกเฉยๆร้อยละ 31.26 และมีเพียงร้อยละ 2.07 เท่านั้นที่ตอบว่าไม่ชอบอาหารไทย แสดงให้เห็นได้ว่าชาวเน็ตจีนส่วนใหญ่ยอมรับและชื่นชอบอาหารไทย
ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/95291.html
ช่องทางที่ทำให้ชาวเน็ตจีนได้รู้จักอาหารไทย
นอกจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับอาหารไทยแล้ว ความนิยมของอาหารไทยก็มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันทุกคนสามารถเห็น KOL หรือ Influencer โปรโมตอาหารบนสื่อออนไลน์ และผู้ชมสามารถพูดคุยแบ่งปันข้อมูลบนสื่อเหล่านั้นได้ อีกทั้งการถ่ายทอดระหว่างรับประทานอาหารและสำรวจร้าน ได้กลายเป็นเนื้อหาหลัก บนแพลตฟอร์มโซเชียล วัฒนธรรมจากอินเทอร์เน็ตจึงสร้างอิทธิพลทางความคิดอย่างมหาศาลให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญในตลาด เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกเรียกได้ว่า “คนรุ่นใหม่รับรู้ข้อมูลจากสื่อออนไลน์และบริโภคแบบออฟไลน์”
อ้างอิงจากข้อมูลในปี 2565 พบว่าชาวเน็ตจีนรู้จักอาหารไทย และได้รับข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ แพลตฟอร์มแชร์เนื้อหาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น Little Red Book และ Weibo (ร้อยละ 59.76) ตามด้วยแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น เช่น Tiktok หรือ Kuaishou (ร้อยละ 54.92) และอันดับที่ 3 คือแพลตฟอร์มแชร์วิดีโอ เช่น Bilibili และ Tencent Video (ร้อยละ 50.26)
ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/95291.html
ชาวเน็ตจีนนิยมอาหารไทยที่มีรสเผ็ดและเปรี้ยว
อาหารไทยมีรสชาติต่างกันในแต่ละภูมิภาค แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ อาหารเหนือ อาหารอีสาน อาหารภาคกลาง และอาหารใต้ แม้ว่าอาหารไทยในภูมิภาคต่าง ๆ จะได้รับอิทธิพลบางส่วนจากอาหารของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เมียนมาร์ และลาว แต่เมื่อนำมาดัดแปลงเป็นอาหารไทยแล้วจะแตกต่างกับอาหารประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน และกลายเป็นเมนูที่มีเอกลักษณ์และมีกลิ่นอายของความเป็นไทยที่แตกต่างกับเมนูของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในรสชาติที่เผ็ดร้อน
จากการสำรวจในปี 2565 ถึงระดับความชอบรสชาติเปรี้ยวและเผ็ดของอาหารไทย มีชาวเน็ตชาวจีนร้อยละ 78.07 ตอบว่าชอบหรือชอบมาก ร้อยละ 19.86 รู้สึกชอบปานกลาง และมีเพียงร้อยละ 2.07 ของทั้งหมดเท่านั้นที่ไม่ชอบ
ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/95291.html
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกร้านอาหารไทยของชาวเน็ตจีน
จากการสำรวจ ผู้บริโภคร้อยละ 80.48 จะเลือกอาหารที่รสชาติเหมือนต้นตำรับ ผู้บริโภคร้อยละ 65.46 จะเลือกร้านที่มีการตกแต่งและการบริการที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย และผู้บริโภคร้อยละ 38.34 จะเลือกร้านที่ราคาจับต้องได้
ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1077/95291.html
ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสังคมในประเทศจีนและอุตสาหกรรมอาหารไทย คาดว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะให้การยอมรับและเปิดใจให้กับอาหารไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมอาหารไทยจะพัฒนาไปสู่การสร้างแบรนด์ พัฒนาให้มีความหลากหลาย และสร้างการแข่งขันในตลาดให้เพิ่มมากขึ้น
ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้
อาหารไทยเป็นอาหารที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวจีน ในปัจจุบันมีร้านอาหารไทยเป็นจำนวนมากในประเทศจีน ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง จากการสำรวจข้อมูลผ่านแบบสอบถามของชาวเน็ตชาวจีน พบว่าส่วนใหญ่ชื่นชอบอาหารไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรสชาติเปรี้ยวและเผ็ดที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย โดยช่องทางส่วนใหญ่ที่ชาวจีนใช้ศึกษาอาหารไทยและเลือกร้านอาหารมาจากช่องทางออนไลน์ ผ่านการรับชมวิดีโอรีวิว หรือการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนอื่นในโลกอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการร้านอาหารในจีน สามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาด KOL หรือ Influencer ในการโปรโมตผ่านโพสหรือวิดีโอในแพลตฟอร์มยอดนิยมต่าง ๆ ของจีน เช่น Tiktok หรือ Weibo เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือได้ด้วยการขอเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ Thai Select เพื่อเป็นการยืนยันถึงคุณภาพและรสชาติความเป็นไทยของร้านอาหารได้อีกด้วย
________________________________________________________________________________
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
แหล่งที่มา
https://www.iimedia.cn/c1077/95291.html
อ่านข่าวฉบับเต็ม : พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่ออาหารไทย