หน้าแรกTrade insight > พฤติกรรมการบริโภคของชาวอิตาเลียนในปี 2566 มีแนวโน้มรัดเข็มขัดมากขึ้น

พฤติกรรมการบริโภคของชาวอิตาเลียนในปี 2566 มีแนวโน้มรัดเข็มขัดมากขึ้น

พฤติกรรมการบริโภคของชาวอิตาเลียนในปี 2566 มีแนวโน้มรัดเข็มขัดมากขึ้น
งานวิจัยการสังเกตการณ์ตลาดรายเดือนของ Findomestic Observatory จากการสัมภาษณ์ผู้บริโภคถึงการใช้จ่ายและงบประมาณที่ตั้งไว้ เปิดเผยผลลัพธ์ว่าความตึงเครียดจากภาวะเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระดับสูงทำให้ครัวเรือนมีพฤติกรรมในการใช้จ่ายที่รอบคอบและตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์การออม การลดการบริโภค ชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง และการผสมผสานระหว่างสินค้า แบรนด์ และช่องทาง เพื่อเผชิญกับภาระค่าสาธารณูปโภค(ไฟฟ้าและก๊าซ)และราคาอาหารที่ยังคงสูงอยู่ ที่มีเพียงบางรายการลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้ว และเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและยากต่อการใช้มาตรการประหยัดสำหรับครอบครัวรายได้น้อย/ปานกลาง ซึ่งค่าใช้จ่ายประเภทนี้มีผลกระทบมากที่สุด (ประมาณ 40% ของรายได้) แม้จะมีการแทรกแซงด้วยการสนับสนุนเงินโบนัสจากรัฐบาล(อย่างไม่ทั่วถึงและมีจำกัด) ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมของตลาดในประเทศเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลง เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
1.ความตั้งใจในการซื้อ

ความตั้งใจและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง (-8.4%) ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าปัจจุบันเป็นเวลาที่เหมาะสมในการซื้อสินค้าราคาสูงหรือการลงทุนที่สำคัญ เนื่องจากราคาสินค้าคงทนและกึ่งคงทนยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความตั้งใจในการซื้อชะลอตัวไว้เพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งส่อให้เห็นสัญญาณความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้จ่าย
2. ยานพาหนะ

สำหรับรถยนต์ ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะพิจารณาด้านความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ยานพาหนะทั้งหมดมีแนวโน้มในเชิงลบ ยกเว้นกลุ่มรถยนต์ใช้แล้วซึ่งมีแนวโน้มการซื้อเพิ่มขึ้น +3.5% (งบเฉลี่ย 11,841 ยูโร) ในทางกลับกัน รถยนต์ใหม่ ลดลง -13.6% (งบเฉลี่ย 24,161 ยูโร) รถจักรยานยนต์/สกูตเตอร์ไฟฟ้าก็ลดลงเช่นกัน -13.2% (งบเฉลี่ย 4,751 ยูโร) เช่นเดียวกับยานพาหนะทางเลือก ได้แก่ จักรยานไฟฟ้า (E-bike) ลดลง -12% (งบเฉลี่ย 1,480 ยูโร) ส่วนจักรยานไฟฟ้าแบบทรงตัวอัตโนมัติ (segway/hoverboard/monowheel) ลดลง -9.8% (งบเฉลี่ย 682 ยูโร)
3. ที่อยู่อาศัย

การใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยใหม่ เพิ่มขึ้น +1.6% (งบเฉลี่ย 20,961 ยูโร) เนื่องจากในส่วนนี้รัฐบาลให้โบนัสส่วนลด ส่วนการซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ที่มีการใช้จ่ายลดลง -4.6% (งบเฉลี่ย 2,613 ยูโร) และมีแนวโน้มในการเลือกที่ราคาถูกลง
4. เทคโนโลยี

สินค้าเทคโนโลยีดูเหมือนจะไม่อยู่ในรายการช้อปปิ้งสำหรับเดือนต่อๆไป ผู้บริโภคมีความตั้งใจซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในกลุ่มเทคโนโลยีลดลง โดยเฉพาะสินค้าประเภทกล้องถ่ายรูปและวีดีโอ ลดลง -24.2% (งบเฉลี่ย 418 ยูโร) แท็บเล็ต ลดลง -7.7% (งบเฉลี่ย 406 ยูโร) โทรศัพท์ ลดลง -10.9% (งบเฉลี่ย 486 ยูโร) และ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ลดลง -11.3% (งบเฉลี่ย 747 ยูโร)
5. เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน ผู้ซื้อให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นด้านความทนทานและความยั่งยืน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก จะโน้มเอียงไปที่ราคาถูก ความตั้งใจที่จะซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดใหญ่ลดลง 17.9% (งบเฉลี่ย 985 ยูโร) และขนาดเล็กลดลง 15.4% (งบเฉลี่ย 271 ยูโร) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (โทรทัศน์ และ HI-FI) ก็ไม่มีข้อยกเว้น และลดลง -4.9% (งบเฉลี่ย 762 ยูโร)
6. ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ผลกระทบจากการหมดระยะการให้โบนัสของรัฐบาล (Superbonus) ทำให้ความโน้มเอียงในการซื้อระบบเซลล์แสงอาทิตย์/ระบบทำความร้อน (photovoltaic/solar thermal) ลดลง -25.1% (งบเฉลี่ย 6,421 ยูโร) ปั๊มความร้อน (heat pump) ลดลง -23.1% (งบเฉลี่ย 2,266 ยูโร) เครื่องทำความร้อนไอน้ำชีวมวล (condensing boiler/biomass) ลดลง -21.4% (งบเฉลี่ย 1,988 ยูโร) และระบบฉนวนกันความร้อน (thermal insulation) ลดลง -17.8% (งบเฉลี่ย 7,642 ยูโร) ส่วนหน้าต่างและประตู (fixtures/windows) มีการลดลงไม่มาก อยู่ที่ -4.9% (งบเฉลี่ย 3,322 ยูโร)
7. สันทนาการยามว่าง

ภาคบริการด้านสันทนาการเวลาว่างมีแนวโน้มเชิงลบทั้งหมด การท่องเที่ยวที่จองล่วงหน้าไว้ระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ความตั้งใจในการวางแผนการเดินทางครั้งใหม่มีการเลื่อนออกไป โดยลดลง -2.7% (งบเฉลี่ย 1,621 ยูโร) รวมถึงแนวโน้มที่จะซื้ออุปกรณ์กีฬา ลดลง -3.9% (งบเฉลี่ย 365 ยูโร) และอุปกรณ์ทำสวน/กิจกรรมยามว่าง (DIY) ก็ลดลงเช่นกัน -9.9% (งบเฉลี่ย 346 ยูโร)
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการจับจ่ายและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป อันเป็นผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 และการทำงานทางไกลที่บ้าน (smart working) ทำให้ผู้บริโภคชาวอิตาลี 40% ชอบที่จะใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อสินค้าและช่องทางการใช้จ่าย การค้าแบบอีคอมเมิร์ซยังคงขยายตัวต่อเนื่องผู้ประกอบการไทยควรจับตามองแนวโน้มการบริโภคเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
2) ชาวอิตาลี 68% กังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทัศนคติการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้นจึงเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจนถึงบรรจุภัณฑ์
3) แม้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจจะมีส่วนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลง แต่ก็พิจารณาเลือกมากขึ้น หากสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นมาก เช่น สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าฯ) เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นต้น ก็มีแนวโน้มการหาซื้อสินค้าราคาถูกลง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพมากนัก ส่วนสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ผู้บริโภคยังต้องการสินค้าคุณภาพดี แม้จะมีราคาสูงก็ตาม เนื่องจากตระหนักถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในสินค้าแต่ละประเภท เพื่อนำมาวางแผนการผลิต การตลาด และการส่งออก
————————————————————————————–

www.osservatoriofindomestic.it/osservatorio-consumi/index.html
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
25 กรกฎาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login