- เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นาย Som Soryda รองเลขาธิการและโฆษกของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ เปิดเผยว่า บัตรเลือกตั้งในหีบรวมแล้วมีทั้งหมด 8,212,411 ใบ ในนั้นมีบัตรเลือกตั้งที่ใช้ได้ทั้งสิ้นจำนวน 7,772,615 ใบ และบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไม่ได้ประมาณร้อยละ 4 ซึ่งจำนวนนี้น้อยกว่าการเลือกตั้งฯ ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา
- ผลการเลือกตั้งฯ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 66 อย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่า พรรค CPP ชนะ 120 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรค FUNCINPEC ชนะ 5 ที่นั่ง โดยมีการยืนยันผลตามเมืองหลวงและจังหวัด ดังนี้ (1) ตโปงฆมุม ชนะ 8/8 ที่นั่ง (2) พระสีหนุวิลล์ ชนะ 3/3 ที่นั่ง (3) ไพลิน ชนะ 1/1 ที่นั่ง (4) บันทายมีชัย ชนะ 6/6 ที่นั่ง (5) พระตะบอง ชนะ 8/8 ที่นั่ง (6) แกบ ชนะ 1/1 ที่นั่ง (7) กำปอต ชนะ 6/6 ที่นั่ง (8) สตึงแตรง ชนะ 1/1 ที่นั่ง (9) โพธิสัต ชนะ 4/4 ที่นั่ง (10) พนมเปญ ชนะ 11/12 ที่นั่ง (11) ไพรแวง ชนะ 10/11 ที่นั่ง (12) กำปงฉนัง ชนะ 4/4 ที่นั่ง (13) รัตนคีรี ชนะ 1/1 ที่นั่ง (14) พระวิหาร ชนะ 1/1 ที่นั่ง (15) มณฑลคีรี ชนะ 1/1 ที่นั่ง (16) เกาะกง ชนะ 1/1 ที่นั่ง (17) กำปงสปือ ชนะ 6/6 ที่นั่ง (18) กระเจะ ชนะ 3/3 ที่นั่ง (19) อุดรมีชัย ชนะ 1/1 ที่นั่ง (20) กำปงจาม ชนะ 9/10 ที่นั่ง (21) สวายเรียง ชนะ 5/5 ที่นั่ง (22) เสียมราฐ ชนะ 6/6 ที่นั่ง (23) กันดาล ชนะ 10/11 ที่นั่ง (24) ตาแก้ว ชนะ 8/8 ที่นั่ง และ (25) กำปงธม ชนะ 5/6 ที่นั่ง
- ส่วนอีก 5 ที่นั่ง ที่พรรค FUNCINPEC ชนะ ได้แก่ 1 ที่นั่งในพนมเปญ 1 ที่นั่งในกันดาล 1 ที่นั่งในไพรเวง 1 ที่นั่งในกำปงจาม และ 1 ที่นั่งในกำปงธม
- ทั้งนี้ ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งฯ มีจำนวนสรุป 8.2 ล้านคน หรือร้อยละ 84.58 จากจำนวนประชากรที่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งฯ ทั้งหมด 9.7 ล้านคน
- นอกจากนี้ กระบวนการในการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่นในสภาพแวดล้อมที่สงบเรียบร้อย มั่นคง และปลอดภัย ตลอดจนไม่มีความรุนแรงและการข่มขู่ใดๆ จากความร่วมมือในการดูแลเป็นอย่างดีของสมาชิกคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติทุกระดับชั้น
- ตามปฏิทินการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งฯ อย่างเป็นทางการจะประกาศระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน 2566 (ในกรณีมี หรือไม่มีการร้องเรียน และไม่มีการเลือกตั้งใหม่)
- เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 สมเด็จฮุน เซน ประกาศอย่างเป็นทางการออกสื่อทั่วประเทศ ว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ พลเอก ฮุน มาเนต ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของท่านฮุน เซน โดยพลเอก ฮุน มาเนต จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และสมเด็จฮุน เซน จะเป็นสมาชิกรัฐสภา และจะเป็นประธานที่ปรึกษาของ King Norodom Sihamoni รวมทั้งยังจะเป็นประธานพรรค CPP ด้วย
- ทั้งนี้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จฮุนเซน จะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานวุฒิสภา ด้วย
ความเห็นของสำนักงานฯ
- เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ประชาชนกัมพูชาได้ใช้สิทธิ์ไปเลือกตั้งฯ มากกว่า 84% ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุด ถ้านับตั้งแต่ปี 2546 มาถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ประชาชนกัมพูชาเลือกใช้สิทธิในการเลือกพรรคที่ตนชื่นชอบ เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติต่อไป
- ผลในการเลือกตั้งฯ เบื้องต้น พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่ปกครองประเทศในปัจจุบัน ได้รับ ชัยชนะ โดยรับคะแนนเสียงถึง 120/125 ที่นั่งในสภาแห่งชาติ และ พรรค FUNCINPEC ได้รับ 5/125 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามต้องรอดูผลการเลือกตั้งฯ อย่างเป็นทางการที่จะออกในระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน 2566 ต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า พรรค CPP จะรับชัยชนะอย่างแน่นอน เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 สมเด็จฮุน เซน ประกาศอย่างเป็นทางการออกสื่อทั่วประเทศ ว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ พลเอก ฮุน มาเนต ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของท่านฮุน เซน โดยพลเอก ฮุน มาเนต จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ เป็นการถ่ายโอนอำนาจหลังจากการเลือกตั้งฯ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา
- เมื่อพลเอก ฮุน มาเนต ได้สืบทอดตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศคนต่อไป คาดว่า กัมพูชาจะมี การเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน การเมือง ด้านทหาร เป็นต้น เนื่องจากพลเอก ฮุน มาเนต จะขึ้นดำรงตำแหน่ง พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นลูกหลานของคนชนชั้นนำในรัฐบาลและพรรค CPP
—————————
Phnom Penh Post, Khmer Times & National Election Committee Website
กรกฎาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)