หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > พยากรณ์ประเภทอาหารขายดี ครึ่งปีหลังของปี 2566

พยากรณ์ประเภทอาหารขายดี ครึ่งปีหลังของปี 2566

หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ได้ทำนายแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอาหารประเภทต่างๆในครึ่งปีหลังของปี 2566 (เดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม) ในรูปแบบพยากรณ์อากาศ โดยในครึ่งปีหลังคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมอาหารจะได้รับอนิสงค์จากการยกเลิกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ต่างๆทำให้มีการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้ผู้บริโภคประหยัดมากขึ้น ดังนั้น นอกจากสินค้าอาหารที่ใช้ในร้านอาหารและในอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มขยายตัวแล้ว อาหารประเภทที่ตอบรับกับเศรษฐกิจในปัจจุบันก็อาจขยายตัวเช่นกัน นอกจากนี้ อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารมีฟังก์ชั่น และอาหารกลุ่มยั่งยืนซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มก็เป็นกลุ่มอาหารที่ได้รับความสนใจ แต่โดยรวมแล้วสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมนี้ที่กำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น คือ การกระตุ้นการบริโภค ซึ่งวิธีการทำธุรกิจหรือไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับประเภทอาหารที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงหรือขยายตัวมากกว่าร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งพยากรณ์ว่า “ท้องฟ้าแจ่มใส” ได้แก่อาหาร 5 ประเภท ดังนี้ 1. ผงโรยข้าว (Furikake) 2. เครื่องดื่มผสมแบคทีเรียแลคติก (lactic acid bacteria : LAB) 3. อาหารนอกบ้าน 4. อาหารแช่แข็งสำหรับอุตสาหกรรม 5. Plant Base Food (PBF) ซึ่ง อาหารแช่แข็งสำหรับอุตสาหกรรม และ PBF เป็นการพยากรณ์ “ท้องฟ้าแจ่มใส” ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
ปีนี้เป็นปีที่ 4 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 มีการยกเลิกมาตรการการป้องกันต่างๆและลดระดับความรุนแรง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและมีการจัดงานอีเวนท์ต่างๆขึ้นอีกครั้ง รวมถึงความต้องการด้านการท่องเที่ยวและสันทนาการต่างๆ การบริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมร้านอาหารที่ต้องต่อสู้ด้วยความยากลำบากในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มฟื้นคืนสู่สภาวะปกติทำให้ตลาดอาหารสำหรับอุตสาหกรรมฟื้นตัวด้วยเช่นกัน ด้านร้านค้าปลีกอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นศูนย์รวมการบริโภคจากครัวเรือนนั้น การบริโภคเริ่มเกิดการกระจายตัวทำให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไปและซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ เหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อต้นปีที่แล้วและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตต้องขึ้นราคาสินค้าอาหารอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่า จำนวนสินค้าขึ้นราคาปี 2566 จนถึงวันที่ 6 เดือนกรกฎาคมเท่ากับ 28,767 รายการ ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว แม้จะได้รับผลกระทบจากการจำกัดการบริโภคเพื่อความประหยัด แต่ยอดจำหน่ายของซูเปอร์มาร์เก็ตโดยรวมสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และจากการสำรวจของสมาคม Japan Food Service พบว่า ยอดจำหน่ายร้านอาหารเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดอาหารประเภทกับข้าวปรุงสำเร็จได้ทะลุ 1 ล้านล้านเยน (ประมาณ 250,000 ล้านบาท) อีกด้วย
สำหรับอาหารประเภท “ผงโรยข้าว (Furikake)” ที่ครึ่งปีหลังของปี 2566 พยากรณ์ว่า “ท้องฟ้าแจ่มใส” นั้น เป็นอาหารที่ตอบรับกับเศรษฐกิจปัจจุบันได้ดีจึงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้จะปรับราคาขึ้นเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ แต่ด้วยราคาที่ย่อมเยาอยู่แล้วจึงทำให้จำหน่ายได้ดีต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ โอกาสในการทำข้าวกล่องและการสันทนาการนั้นเพิ่มขึ้น จึงคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังมูลค่าตลาดผงโรยข้าวจะขยายตัว
สำหรับเครื่องดื่มผสมแบคทีเรียแลคติก (lactic acid bacteria : LAB) ที่อ้างสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบายและคลายเครียดได้นั้น เป็นตลาดใหม่อีกตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แบรนด์หลักอย่าง Yakult 1000 “Y1000” และแบรนด์อื่นๆผลิตสินค้าไม่ทันต่อการวางจำหน่าย แต่ละบริษัทจึงต้องเพิ่มไลน์การผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และหากสามารถผลิตได้ปริมาณตามความต้องการของตลาด สินค้านี้จะขยายตัวอย่างมากในครึ่งปีหลัง
สำหรับอุตสาหกรรมร้านอาหารและการรับประทานอาหารนอกบ้านนั้น ได้รับอานิสงค์จากการยกเลิกมาตรการการป้องกันต่างๆ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตลาดจึงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนที่สูงขึ้น แต่จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนทำให้ร้านอาหารบริเวณรอบโรงแรมมียอดจำหน่ายสูงขึ้น และยังมีอีกหลายๆปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ตลาดนี้มีแนวโน้มขยายตัวในครึ่งปีหลัง และจากการที่อุตสาหกรรมร้านอาหารฟื้นตัว ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งฟื้นตัวตามไปด้วย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
สำหรับอาหารประเภท Plant Base Food (PBF) ที่สามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความยั่งยืน (Sustainability) ได้นั้น ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2563 ทำให้มีบริษัทหลายบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ PBF และมีการวิจัยพัฒนาทำให้ปัจจุบันมีจำนวนสินค้ามากมายและมีความหลากหลายมากขึ้น โดยตลาดนี้มีมูลค่าเติบโตถึง 40,000 ล้านเยน (ประมาณ 10,000 ล้านบาท) ซึ่งครึ่งปีหลังคาดการณ์ว่า ตลาดจะขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวที่รับประทานอาหาร Vegan และ Vegetarian มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้า PBF สำหรับขายส่งอุตสาหกรรมร้านอาหารขยายตัวอีกด้วย

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าประเภทอาหารเป็นจำนวนมากเนื่องจากปริมาณการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่อปริมาณการบริโภคของประชากรภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าและเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสำคัญของญี่ปุ่น การรู้ถึงสินค้าที่มีแนวโน้มจำหน่ายดีภายในประเทศญี่ปุ่นจึงอาจเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าอาหารมาญี่ปุ่นซึ่งช่วยกระตุ้นยอดการส่งออก สินค้าที่มีแนวโน้มจำหน่ายดีในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกมาญี่ปุ่น เช่น อาหารแช่แข็ง ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนออกนอกบ้านมากขึ้น อาหารแช่แข็งสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ จึงมีความต้องการที่สูงขึ้นอย่างมาก ผนวกกับการขาดแคลนแรงงานทำให้อาหารแช่แข็ง อาหารปรุงสำเร็จเป็นที่ต้องการเพื่อลดเวลาและการใช้แรงงาน ซึ่งการขาดแคลนแรงงานนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อาหารประเภท Plant Based Food ซึ่งเป็นอาหารแห่งอนาคตที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนและเริ่มมีการนำเข้าสินค้า PBF จากไทยและใช้ในอุตสาหกรรมร้านอาหารและจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปอีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวตามตลาดญี่ปุ่นที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
—————————————————————————-
ฉบับที่ 42 ประจำวันที่ 15 – 21 กรกฎาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

—————————————————————————-
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://news.nissyoku.co.jp/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login