หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > ฝรั่งเศสและเยอรมนีเตรียมผลักดัน AI ร่วมกัน

ฝรั่งเศสและเยอรมนีเตรียมผลักดัน AI ร่วมกัน

นาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสได้จับมือกับนาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี ในสังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ในเรื่องที่จะเตรียมผลักดันนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ระหว่างการเดินทางมาเยือนเมือง Hamburg ของนาย Macron ซึ่งนาย Macron ได้ออกมาประกาศหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีของตนในช่วงวันที่ 9 – 10 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมาว่า “ทั้งสองประเทศมีแผนจะร่วมมือกัน โดยจะครอบคลุมความร่วมมือในหลายอุตสาหกรรมและจะวางยุทธศาสตร์การค้าในระยะยาวร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ” ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมนีกำลังพยายามผนึกกำลังกับฝรั่งเศสในหลาย ๆ ด้าน ด้านนาง Bettina Stark-Watzinger รัฐมนตรีด้านการค้นคว้าและวิจัยของเยอรมนีในสังกัดพรรคพรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า AI จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักแห่งศตวรรษที่ 21” ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาในระดับภูมิภาคยุโรปที่จะผลักดันให้ยุโรปสามารถแข่งขันระดับโลกได้ โดยนาง Stark-Watzinger กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ความร่วมมือระหว่างเยอรมนี – ฝรั่งเศสนี้ มีความสำคัญในฐานะการเป็นศูนย์กลางในการผลักดันด้านดังกล่าว

ประเทศฝรั่งเศสมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start Ups) ในประเทศ โดยต้องการสนับสนุนให้ Start Ups ของตนสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้พยายามอย่างมากที่จะมองหาพันธมิตรในยุโรปเพื่อสู้กับความเข้มงวดด้านกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ (AI Act) ที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ร่างขึ้น ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการ EU ให้ความสนใจด้าน AI เป็นอย่างมาก แต่แทนที่ EU จะออกนโยบายส่งเสริมด้าน AI กลับทำสวนทางไปตั้งกฎระเบียบมากมายขึ้นมา จนกลายเป็นข้อโต้แย้งอย่างหนักในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งโฆษกคณะกรรมาธิการ EU ได้พยายามออกมาอธิบายว่า “ในช่วงปี 2021 – 2022 คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงทุนกว่าหนึ่งพันล้านยูโร กับ AI ผ่านโครงการ Digital Europe และ Horizon Europe” ด้านนาย Macron ได้ออกมาตอบโต้ร่างกฎหมาย AI Act ว่า “ร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ ChatGPT ในยุโรปใช้งานไม่ได้” ในขณะที่ นาง Katharina Zweig นักวิจัย AI จากมหาวิทยาลัย TU Kaiserslautern มองเห็นศักยภาพในการทำงานร่วมกันระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสและกล่าวว่า “หากการร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในยุโรป ก็จะทำให้เงื่อนไขในการเริ่มต้นธุรกิจน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง” นาง Zweig ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt อีกว่า “จะเป็นการดีหากทั้งสองประเทศจะสามารถใช้ทรัพยากรที่จำเป็น อาทิ ฐานข้อมูล (Row-database) ขนาดใหญ่ และความเร็วในการคำนวณ (Computer Performance) ของคอมพิวเตอร์ร่วมกันได้” ปัจจุบันทั้ง 2 สิ่งนี้ เป็นเรื่องที่ยังมีน้อย (หรือขาดแคลน) ในเยอรมนีและฝรั่งเศส อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญนั่นก็คือ การอพยพของแรงงานที่มีฝีมือจำนวนมาก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีจะมีการสนทนาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรป เช่น การปฏิรูปตลาดพลังงาน และพูดถึงสนธิสัญญาด้านผู้อพยพ (Migration Pact) ด้วย

ปัจจุบันทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีกำลังเผชิญหน้ากับการกำหนดเส้นตายที่คณะกรรมการ EU กำหนดไว้ว่า ในปลายปีนี้ ทั้ง 2 ประเทศต้องลดการสนับสนุนในด้านพลังงาน เช่น น้ำมัน เบนซิน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า ลง แต่ทั้ง 2 ประเทศยังมีความต้องการที่จะสนับสนุนภาคเศรษฐกิจของตนเองต่อไป และออกมาตอบโต้ว่า การที่อยู่ดี ๆ จะตัดเงินสนับสนุนนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าได้ อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ประเทศก็ยังคงถกเถียงในหัวข้อนี้อยู่ว่า ภาครัฐควรสนับสนุนพลังงานประเภทไหนบ้าง และประเภทไหนที่ควรจะลดการสนับสนุนลง โดยเรื่องที่ทางการฝรั่งเศสต้องการจะผลักดันการใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ให้อยู่ภายใต้ร่างกฎหมายพลังงาน ในขณะที่ เยอรมนีได้ระงับใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ในปีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็น่าจะไม่ร่วมผลักดันเรื่องนี้ แต่เยอรมนีน่าจะผลักดันนโยบายพลังงานราคาถูกสำหรับภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงอย่างหนักในสภา EU อีกด้วย

ที่มา :

Handelsblatt 20 ตุลาคม 2566

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login