ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2023 นี้เป็นต้นไป ผู้บริโภคในประเทศฝรั่งเศสจะไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน, คูปองสินค้าลดราคา และใบรับรองการจ่ายเงินจากบัตรเครดิตในรูปแบบการพิมพ์ลงกระดาษที่ออกเป็นอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายในร้านค้า หากผู้บริโภคไม่ได้ร้องขอ หลังจากที่มีการปรับเลื่อนการใช้งานอย่างเป็นทางการมาแล้วถึงสองครั้ง จากเดือนมกราคมและเดือนเมษายนปี 2023 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศ
อย่างไรก็ตามข้อกำหนดนี้ยังมีข้อยกเว้นสำหรับการบริการและขายสินค้าบางประเภทที่ลูกค้ายังคงจะได้รับใบยืนยันการจ่ายเงิน หรือใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษ ได้แก่
- การซื้อสินค้าที่มีกำหนดการประกันอายุการใช้งาน ซึ่งมีรายละเอียดระบุบนใบเสร็จรับเงิน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่องเรือน อุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องกีฬา เครื่องเล่นวีดีโอเกม กล้องถ่ายรูปรวมถึงอุปกรณ์ นาฬิกา และแว่นสายตา
- ตั๋วจากเครื่องคิดเงินอัตโนมัติที่ใช้เป็นหลักฐานจำเป็น เช่น ตั๋วสำหรับที่จอดรถ, ตั๋วสำหรับรถยนต์ในการใช้ทางด่วน ฯลฯ
- การซื้อสินค้าที่ต้องมีการระบุน้ำหนัก เช่น อาหาร ผักผลไม้ ฯลฯ
- ใบเสร็จรับเงินจากงานบริการที่มีมูลค่ามากกว่า 25 ยูโร (ร้านทำผม, อู่ซ่อมรถ ฯลฯ)
- ใบรับเงินจากการให้บริการของโรงแรมและร้านอาหาร
- ใบรับรองการจ่ายเงินจากบัตรเครดิตที่แสดงหลักฐานการยกเลิกการจ่าย หรือเมื่อการจ่ายเงินไม่ได้ถูกดำเนินการ
เจ้าของกิจการค้าปลีกส่วนหนึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับระบบของร้านค้าตั้งแต่เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมาด้วยการเริ่มปฏิบัติงานจริงซึ่งช่วยสร้างความคุ้นเคยต่อระบบให้กับทั้งพนักงานและผู้บริโภค โดยพนักงานขายในร้านค้าปลีกจะสอบถามถึงความต้องการของลูกค้าในแต่ละครั้งที่ซื้อสินค้าและเสนอทางเลือกด้วยการส่งใบเสร็จรับเงินทางอีเมล์ ข้อความทางโทรศัพท์มือถือ หรือ QR code แทนการออกใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษ แต่หลังจากวันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ผู้ค้าปลีกทุกแห่งต้องติดป้ายระบุข้อกำหนดใหม่นี้เพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคได้รับทราบไว้ในบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ส่งผลให้หลังจากนี้ผู้บริโภคจำเป็นจะต้องทำการตรวจรายละเอียดถึงความถูกต้องของมูลค่าสินค้าและวันที่ซื้อเหล่านี้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อสินค้านั้นสามารถนำไปเปลี่ยนขนาดหรือแลกคืนได้ตามระยะที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
กระทรวงเศรษฐกิจฝรั่งเศสคาดการณ์โดยประมาณว่า ในแต่ละปีมีการออกใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษใช้ในประเทศเป็นจำนวนกว่า 12,000 ล้านครั้งซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ปริมาณกระดาษกว่า 150,000 ตัน โดยไม่นับรวมถึงการพิมพ์ใบรับรองการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและรายการส่วนลดที่ได้มาพร้อมกับการจ่ายสินค้าในแต่ละครั้ง ซึ่งหากนับรวมทั้งสิ้นแล้วจะส่งผลให้มีการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินทั้งหมดรวมกันเป็นปริมาณกว่า 30,000 ล้านครั้ง
ผู้บริโภคจำนวนมากโดยเฉพาะผู้บริโภคสูงอายุยังคงต้องการให้มีการออกใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะจากการจับจ่ายสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันความผิดพลาดของรายการและราคาของสินค้าที่อาจคาดเคลื่อนได้ง่ายเนื่องจากปริมาณซื้อสินค้าที่มีจำนวนมาก นอกเหนือจากนั้นการรับใบเสร็จรับเงินทางข้อความผ่านโทรศัพท์หรือผ่านทางอีเมล์ยังอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้บริโภคได้ และอาจทำให้ทางแบรนด์หรือร้านค้าใช้ช่องทางนี้ในการส่งข้อความโฆษณาขายสินค้า ผู้บริโภคหลายรายจึงมีความคิดสร้างอีเมล์ขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อไว้รับข้อมูลใบเสร็จรับเงินโดยเฉพาะ
ความเห็น สคต.
จุดประสงค์หลักในการยกเลิกการใช้งานใบเสร็จรับเงินครั้งนี้เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดจากการใช้กระดาษในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ระบุไว้ในกฎหมาย AGEC 2020 (Anti-waste for a circular economy) เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้ภายในปี 2030 ถึงแม้ว่านโยบายนี้จะมีการระบุและกำหนดระยะเวลาเพื่อเริ่มใช้มาตรการไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น แต่ยังคงมีผู้ค้าปลีกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ค้าปลีกขนาดเล็กที่ยังไม่มีความพร้อมในภาคปฏิบัติ ดังเช่นที่นาย Philippe Petit ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าปลีกของ Generix Group บริษัทด้านการจัดการซัพพลายเชนที่มีสาขากว่าใน 60 ประเทศทั่วโลก แสดงความเห็นไว้ว่า นโยบายนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าในชุมชน เสียเปรียบผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนระบบการคิดเงินใหม่ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นและการฝึกฝนพนักงานเพิ่มเติมต่างต้องใช้เงินลงทุน อย่างไรก็ตามการยกเลิกการใช้ใบเสร็จรับเงินในรูปแบบกระดาษในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ ซึ่งหากมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคตทางสคต.ปารีสจะนำมารายงานให้ทราบในคราวต่อไป
Clotilde Briard
ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/consommation-la-fin-du-ticket-de-caisse-au-1er-aout-deja-bien-entree-dans-les-moeurs-1967152
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)