สื่อสิ่งพิมพ์กำลังอยู่ในช่วงการกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในเกาหลีใต้ เนื่องจากผู้อ่านรุ่นใหม่กำลังแสวงหาความลึกซึ้งและความน่าเชื่อถือ ในยุคสมัยที่ถูกครอบงำโดยสื่อในรูปแบบดิจิทัล
จากข้อมูลของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เกาหลีใต้ เมื่อวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 บทวิจารณ์หนังสือและหนังสือพิมพ์กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้อ่านออฟไลน์ก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้อ่านรุ่นเยาว์ได้สร้างคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน เช่น “text hip” ซึ่งแปลว่า การอ่านเป็นเรื่องเท่ “dokpamin” ซึ่งเป็นการผสมคำระหว่าง “dok-seo” (การอ่าน) และ “dopamine” (โดปามีน) และ “odokwan” ซึ่งหมายความว่า วันนี้ได้อ่านหนังสือจบแล้ว
หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความนิยมของสื่อสิ่งพิมพ์กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ได้แก่ บัญชีอินสตาแกรม @6days.paper ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกและเผยแพร่บทความจากหนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจ 6 วันต่อสัปดาห์ โดยผู้สร้างบัญชีกล่าวว่า เธอเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์อีกครั้งเพราะไม่ชอบบทความออนไลน์ที่เน้นการพาดหัวข่าวเพื่อลวงให้ผู้อ่านคลิกและสร้างความฮือฮา โดยบทความในหนังสือพิมพ์จะแตกต่างจากข่าวซุบซิบออนไลน์ เนื่องจากได้ผ่านการกลั่นกรองและคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถันเป็นเวลาหลายชั่วโมง เมื่อผู้อ่านเปิดหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน ก็จะได้อ่านเนื้อหาที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ เศรษฐศาสตร์ และอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าเนื้อหาเหล่านั้นจะอ่านยากก็ตาม
นอกจากนี้ ผู้อ่านที่เข้าร่วมชมรมหนังสือได้แบ่งปันความรู้สึกที่คล้ายกัน โดยพวกเขามองว่า การอ่านเป็นวิธีในการนำสารพิษที่ได้จากการได้รับข้อมูลดิจิทัลผ่านวิดิโอสั้นที่มากเกินไปออกจากร่างกาย (ดีท็อกซ์)
ผู้เชี่ยวชาญยังแสดงความหวังในทางบวกเกี่ยวกับอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์อีกด้วย Aimee Rinehart ผู้จัดการอาวุโสด้านสินค้าสาขากลยุทธ์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Strategy) ของ Associated Press เขียนใน Predictions for Journalism 2025 ซึ่งตีพิมพ์โดย Nieman Journalism Lab บริษัทในเครือของ Harvard ว่า ความต้องการสิ่งพิมพ์จะฟื้นตัวในปี 2568 กระดาษสิ่งพิมพ์จะช่วยให้จิตใจของเราได้พักจากสารโดปามีน ซึ่งทำให้เราไขว้เขวจากการคิด การรู้สึก และการทำสิ่งที่สำคัญกว่า และเพื่อเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อไม่นานมานี้ The Onion สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองชิคาโกได้หวนกลับมาตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
นอกจากการกลับมาของสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว การเขียนด้วยลายมือก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน ตามข้อมูลของ Kyobo Book Center พบว่า ในปี 2567 มีการพิมพ์หนังสือฝึกเขียนลายมือ 82 เล่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.9 จากปีก่อนหน้า และในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568 ได้มีการออกหนังสือฝึกเขียนลายมือไปแล้ว 25 เล่ม
บทวิเคราะห์
ผู้อ่านในเกาหลีใต้เริ่มขาดความเชื่อมั่นในเนื้อหาของสื่อดิจิทัล ที่เน้นความเร็วและความสะดุดตาเพื่อเพิ่มยอดคลิก ทำให้ในบางกรณีไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ นอกจากนี้ จากการที่ระบบปัญญาประดิษฐ์มีแนวโน้มจะนำเสนอข้อมูลในมุมมองเดียวกันสำหรับผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเริ่มหันกล้บมาเลือกหนังสือฉบับพิมพ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความลึกซึ้งของข้อมูล ความน่าเชื่อถือ และสัมผัสในการจับเล่มหนังสือที่เยียวยาจิตใจ ซึ่งแนวโน้มการฟิ้นตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ในเกาหลีใต้ จะเป็นเทรนด์ของโลกได้ในอนาคต
ในส่วนของสำนักพิมพ์ไทย หนังสือไทยมีคอนเทนท์ที่หลากหลาย มีศักยภาพ และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีศักยภาพ ในการเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้ การเน้นสาระและเนื้อหาของหนังสือจะมีความสำคัญ โดยสำนักพิมพ์ไทยอาจจะเน้นการนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อผู้อ่าน เช่น หนังสือแนวพัฒนาตัวเอง และแนวฮีลใจ หรือสร้างสรรค์คำศัพท์และสโลแกนที่ดึงดูดผู้อ่าน นอกจากนี้ หนังสือสอนภาษาไทย หรือหนังสือคัดลายมือภาษาไทย ก็เป็นอีกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้หนังสือไทยให้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นในสายตาผู้อ่านชาวเกาหลี และควรที่จะเจาะตลาดออฟไลน์กับออนไลน์ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้อ่านให้ขยายมากขึ้น
(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568)
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผู้อ่านยุคใหม่นิยมอ่านหนังสือแบบเล่ม มากกว่าแบบดิจิทัล