ในการประชุมสภาแห่งชาติเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ โดย ดร.บุนเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติลาว ได้ชี้แจงว่า สปป.ลาว ได้ประสบปัญหาขาดดุลเงินตราต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2010 เนื่องมาจากเงินตราต่างประเทศ ที่ไหลเวียนเข้าประเทศมีน้อยกว่าเงินตราต่างประเทศที่ไหลออกนอกประเทศ ทำให้เกิดความไม่สมดุลกัน
ดร.บุนเหลือฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สปป.ลาว มีเงินตราสกุลต่างชาติจากการลงทุนต่างชาติ และการกู้เงินจากต่างประเทศ ที่ช่วยรักษาสมดุลเงินตราต่างประเทศในระบบ จนกระทั่งในปี 2018 รัฐบาลได้มีข้อกำหนดที่เข้มงวดของการกู้ยืมเงิน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ที่ทำให้การชำระหนี้เริ่มติดขัด นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งเงินตราสกุลต่างชาติเข้าประเทศ โดยในช่วงปี 2018 และ 2019 สปป.ลาว มีรายได้จากการท่องเที่ยว 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และหลังจากนั้น สปป.ลาว ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว อีกทั้งการลดลงของเงินกู้จากต่างประเทศ นําไปสู่การขาดดุลเงินตราต่างประเทศโดยรวม เนื่องจากยังมีความต้องการเงินตราต่างประเทศสำหรับชำระค่าสินค้า ทั้งนี้ วิธีที่จะช่วยการขาดดุลเงินตราต่างประเทศ คือ การกำหนดมาตรการการนำเงินตราเข้าประเทศจากการส่งออกสินค้า เนื่องจากทุกวันนี้ มีรายได้เพียงร้อยละ 30 ของใบเสร็จการส่งออกสินค้าที่เข้าสู่ระบบธนาคาร
ปี 2022 สปป.ลาว มีมูลค่าการส่งออก 8.19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีมูลค่าเพียง 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เข้าประเทศ ตัวอย่างเช่น ปี 2022 ลาวส่งออกกระแสไฟฟ้ามีมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีเพียง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เข้าประเทศ เนื่องมาจากนักลงทุนต้องชำระหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศที่กู้ยืมมาสำหรับการสร้างเขื่อนในลาว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การออกระเบียบเกี่ยวกับสกุลเงินตราต่างประเทศที่ได้มาจากการส่งออกสินค้า
ในขณะเดียวกัน ลาวต้องสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยว ซึ่งถ้าลาวสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว 4 ล้านคนต่อปี ลาวจะมีรายได้เข้าประเทศเฉลี่ย 900 ล้าน ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี นอกจากนี้ ลาวต้องลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่ไม่จำเป็นเพื่อลดการใช้เงินสกุลต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลอาจเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้า เพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้า
นักเศรษฐศาสตร์ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลควรพิจารณาการให้วีซ่าเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มกำลังซื้อสูงทั้งจากอาเซียนและยุโรป นอกจากนี้ การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน เช่น ความรวดเร็วในการอนุมัติโครงการ และการจัดทำขั้นตอนที่รวดเร็วสำหรับผู้ส่งออก เป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มากขึ้น
Vientiane Times
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)