หน้าแรกTrade insight > ผู้บริโภคเกาหลีใต้กักตุนสินค้าเกลือ ท่ามกลางความหวาดกลัวที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำทะเลปนเปื้อนจากจังหวัดฟุกุชิมะ

ผู้บริโภคเกาหลีใต้กักตุนสินค้าเกลือ ท่ามกลางความหวาดกลัวที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำทะเลปนเปื้อนจากจังหวัดฟุกุชิมะ

(ที่มา : สำนักข่าว Korea JoongAng Daily ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2566)

 

จากการที่ญี่ปุ่นประกาศจะปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วลงสู่ทะเล ทำให้ผู้บริโภคเกาหลีใต้ตื่นตระหนกและเร่งกักตุนเกลือชนิดต่างๆ ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เกิดสถานการณ์ขาดแคลนเกลือ

 

การกักตุนเกลือที่ “สะอาด” มีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวว่าการปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อาจทำให้มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในการผลิตเกลือในประเทศเกาหลี ที่ผลิตจากภูมิภาคต่างๆ เช่น อำเภอชีนัน ในชอลลาใต้ ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของการผลิตเกลือตากแห้งของเกาหลี โดยเกลือตากแห้งเป็นเกลือที่ได้มาจากน้ำทะเลที่เกิดการระเหย

 

ในวันศุกร์เพียงวันเดียว Nonghyup Hanaro Mart สาขามาโพ สามารถจำหน่ายเกลือขนาด 20 กิโลกรัมได้ 180 กล่อง ในขณะที่สาขา Sajik ก็จำหน่ายเกลือขนาดเดียวกันได้ถึง 250 กล่อง

 

ลูกค้าหญิงของสาขาเขตมาโพพูดด้วยความผิดหวัง ในขณะที่เคลื่อนรถเข็นไปยังชั้นวางเปล่าว่า “คนมาซื้อเกลือกันหมดจริงๆ” ซึ่งพนักงานตอบว่า “ผู้คนเริ่มเร่งรีบมาซื้อเกลือกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว สินค้าล็อตสุดท้ายเพิ่งมาถึงเมื่อวันศุกร์ และขายหมดเกลี้ยงภายในวันเดียว” พนักงานได้กล่าวเสริมว่า “ลูกค้าบางคนซื้อถึงขนาดเกลือขนาด 20 กิโลกรัม 3 กล่อง (44 ปอนด์) และนั่นไม่ใช่เจ้าของร้านอาหาร แต่เป็นแม่บ้านทั่วไป พอได้เห็นทุกคนรอบตัวกังวลและซื้อเกลือเก็บไว้ ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า หรือฉันควรจะซื้อเกลือด้วยไหม ดังนั้นฉันก็เลยหยิบสินค้ามาหนึ่งชิ้นด้วยเช่นกัน”

 

Emart สังเกตเห็นยอดขายเกลือที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 – 18 มิถุนายน มีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 89.6 และยอดขายเกลือตากแห้งก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 165.7 นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน Lotte Mart ก็พบว่ายอดขายเกลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่ล้นหลามของสินค้าเกลือตากแห้ง Lotte Mart ได้เริ่มดำเนินการจำกัดการซื้อสินค้าหนึ่งชิ้นต่อหนึ่งคนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน เป็นต้นไป

 

โฆษกจาก Lotte Mart กล่าวกับ The Korea JoongAng Daily เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “เราตระหนักถึงความต้องการเกลือที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และกำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาให้เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสุดสัปดาห์ที่ร้านค้าหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนสินค้า”

 

จากข้อมูลของ Korea Agro-Fisheries & Food Trade Corporation ในขณะที่ความต้องการเกลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ราคาขายปลีกของเกลือหยาบ 5 กิโลกรัม ณ วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน อยู่ที่ 13,094 วอน (10.21 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และสูงกว่าราคาเฉลี่ย 64.9%

 

แม้จะประสบความยากลำบากในการหาซื้อเกลือ แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธเกี่ยวกับคำร้องเรียนเรื่อง “การกักตุนสินค้า”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาสมุทรและการประมง ซง ซังกึนกล่าวว่า “การขาดแคลนเกลือตากแห้งเมื่อเร็วๆนี้ และการเพิ่มขึ้นของราคามีสาเหตุหลักมาจากการผลิตที่ลดลงซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในเดือนเมษายนและพฤษภาคม” และได้เน้นย้ำว่า จากการยืนยันกับท้องถิ่นในชีนันเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ปริมาณการผลิตในเดือนมิถุนายนมีปริมาณเกิน 20,000 ตันไปแล้ว

 

รัฐมนตรีช่วย ซง กล่าวอีกว่า “ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวลือที่ว่า หากน้ำที่ปนเปื้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกปล่อยออกมาจะทำให้เกลือปนเปื้อน ปัจจุบันเกลือตากแห้งของเราปลอดภัย และจะปลอดภัยต่อไปในอนาคตเช่นกัน”

 

ไม่ใช่เพียงเฉพาะเกลือ ความกังวลจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่นที่ใกล้จะมาถึง ได้ส่งผลกระทบขยายไปถึงการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นที่ลดลง

 

จากสถิติการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรเกาหลี ปริมาณการนำเข้าปลาและหอยจากญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 2,129 ตัน ลดลง 30.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว แม้ว่าการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคมปีนี้ แต่ในเดือนเมษายนนั้นลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
โดยแนวโน้มที่ลดลงนี้มีอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลาสองเดือนติดต่อกันจนถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อความกังวลของผู้บริโภค อุตสาหกรรมค้าปลีกกำลังดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว

 

ห้างสรรพสินค้า Lotte ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่าจะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่สามารถประเมินระดับการได้รับรังสีของสินค้าอาหารทะเลที่ร้านค้าทุกแห่งทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้ หากสิ่งของใดที่ถูกระบุว่าต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม จะถูกส่งไปยัง Lotte R&D Center เพื่อตรวจสอบโดยละเอียด

 

ห้างสรรพสินค้า Shinsegae กำลังพิจารณาที่จะกระจายแหล่งที่มาของการนำเข้าอาหารทะเลไปยังแหล่งที่ห่างไกลจากเดิมมากขึ้น เช่น มหาสมุทรแอตแลนติกหรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อสร้างมาตรการป้องกันล่วงหน้า

 

ในกรณีของอาหารทะเลที่มาจากในประเทศ จะมีกลยุทธ์ที่ดำเนินการติดตามเส้นทางการอพยพของสัตว์แต่ละชนิดอย่างใกล้ชิด และจัดซื้อเฉพาะสัตว์ที่มีความเสี่ยงด้านรังสีน้อยที่สุด

 

Emart กำลังดำเนินการตรวจสอบรังสีเบื้องต้นโดยใช้อุปกรณ์พกพาที่ศูนย์โลจิสติกส์ ประกอบกับการตรวจสอบโดยละเอียดเพิ่มเติมโดยใช้อุปกรณ์ขั้นสูงที่ศูนย์ความปลอดภัยของสินค้าในวันรุ่งขึ้น

 

เกาหลีใต้ได้นำระบบการจัดการความปลอดภัยทางรังสี 4 ระดับ แบ่งเป็นปกติ ระวัง เตือน และร้ายแรง โดยแผนจะมีการขยายขอบเขตการตรวจสอบตัวอย่างในแต่ละระดับ ปัจจุบัน ซึ่งยังอยู่ภายใต้สภาวะปกติ ประมาณร้อยละ 25 ของชนิดพันธุ์ทั้งหมดได้ถูกตรวจสอบเป็นตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม พวกเขากำลังพิจารณาเพิ่มจำนวนการตรวจสอบโดยยกระดับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากปกติเป็นระดับที่สูงขึ้นภายในเดือนนี้

 

อนึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจที่จะปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรในฤดูร้อนนี้ ภายใต้คำแนะนำของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดจะปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานฟุกุชิมะ ส่งผลให้ผู้บริโภคเกาหลีใต้ต่างวิตกกังวล และหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานสินค้าอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากทะเล ซึ่งรวมถึงเกลือที่มาจากทะเลที่ติดต่อกับทะเลฟุกุชิมะ จึงทำให้บริษัทเกาหลีเริ่มหาแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่ๆ ที่อยู่ไกลจากประเทศออกไป เพื่อรับมือกับความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นครัวของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารทะเล รวมไปถึงสินค้าเกลือ ควรจะเร่งสร้างความมั่นใจและการรับรู้ให้ผู้บริโภคเกาหลีใต้เกี่ยวกับมาตรฐาน คุณภาพ รสชาติ และความปลอดภัยของสินค้าอาหารไทย และเร่งขยายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์สู่ประเทศเกาหลีใต้ให้เพิ่มมากขึ้น

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login