(ที่มา : สำนักข่าว The Korea times ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 2566)
เจ้าหน้าที่ในวงการธุรกิจกล่าวว่า ผู้ค้าปลีกและบริษัทอาหารเกาหลีใต้ต่างเร่งเพิ่มความร่วมมือกับยูทูบเบอร์ชื่อดัง เพื่อโปรโมทสินค้าใหม่และเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ เนื่องจากผู้ชมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมสื่อจากรูปแบบเดิมเป็นการมีส่วนร่วมกับเนื้อหาวีดีโอออนไลน์มากขึ้น ยูทูบเบอร์ที่กำลังได้รับความนิยมบางคนจึงกลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่มีมูลค่าการค้าสูง
GS25 บริษัทร้านสะดวกซื้อของ GS Retail เพิ่งเปิดตัวสินค้าเครื่องดื่มวิสกี้ไฮบอลตัวใหม่ ที่พัฒนาโดย Chat-GPT ซึ่งเป็นโปรแกรม AI Chatbot โดยได้ร่วมมือกับผู้จัดการมัตสึดะ ยูทูบเบอร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ติดตาม 1.04 ล้านคนในช่อง Youtube ของเขาที่ชื่อว่า “554TV” คุณมัตสึดะได้ถ่ายทำเนื้อหาโปรโมตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตัวใหม่ของร้านค้าปลีกที่ร้าน GS25 ทางตอนใต้ของกรุงโซลในเดือนพฤษภาคม และจะเผยแพร่ในช่อง YouTube ของเขาเร็วๆ นี้
เจ้าหน้าที่จากบริษัท GS Retail กล่าวว่า “เราเลือกผู้จัดการมัตสึดะแนะนำสินค้าวิสกี้ไฮบอลตัวใหม่ของเรา เพราะวัฒนธรรมการดื่มไฮบอลเป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น และพวกเราชื่อว่าเขาคือผู้สร้างคอนเท้นท์ที่เหมาะสมที่จะโปรโมทสินค้าของเรา”
Orion ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทขนมชั้นนำของประเทศได้ส่งสินค้าช็อกโกแลตกล่องใหญ่ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษให้กับยูทูบเบอร์ที่เป็นนายแบบแฟชั่น จู อูแจ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้บริษัทยังจัดส่งสินค้าหมากฝรั่ง 4 กิโลกรัมให้กับเหล่ายูทูบเบอร์ยอดนิยมเพื่อสร้างเนื้อหาที่โดดเด่นน่าสนใจ
เจ้าหน้าที่บริษัทค้าปลีกท้องถิ่นกล่าวว่า “บริษัทอาหารได้มีการร่วมมืออย่างหลากหลายกับเหล่ายูทูบเบอร์ เพราะกลุ่มผู้บริโภคหลักของพวกเขาคือกลุ่มลูกค้าวัย MZ และกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มักจะชมยูทูบกันตลอดเวลา ซึ่งเป็นแผนการตลาดที่ดีในการโปรโมทสินค้าใหม่ และได้เพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ในขณะเดียวกันด้วย”
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต โดยในอดีต ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะรับรู้ข่าวสารจากโฆษณาต่างๆ ที่ใช้ดาราที่มีชื่อเสียงเป็นจุดสนใจ แต่ผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหรือวัย MZ นิยมรับชมสื่อต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ยูทูบ หรือความเห็นจากบุคคลทั่วไปที่มีชื่อเสียงในด้านนั้นๆ จึงส่งผลให้บริษัทค้าปลีกและบริษัทอาหารหลายแห่งในเกาหลีใต้ปรับเปลี่ยนแผนการตลาดโดยการร่วมมือกับยูทูบเบอร์ที่มีชื่อเสียงเพื่อช่วยโปรโมทสินค้า ซึ่งจะสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคได้ดีกว่า
ในส่วนของผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยนั้น การโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ยูทูบเบอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับความนิยม ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายการรับรู้สินค้าไทย ให้ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคไปยังกลุ่มวัยรุ่นหรือวัย MZ ได้ โดยอาจเลือกบุคคลที่โด่งดังในแต่ละประเทศที่สนใจจะบุกตลาด เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)