ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ผู้คนที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์ในสาธารณรัฐเช็กต้องซื้อเบียร์ในราคาที่สูงขึ้น โดยเบียร์จะถูกปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 21 เปอร์เซ็นต์ การเปลี่ยนแปลงภาษีมูลค่าเพิ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเข้มงวดของรัฐบาล ทั้งนี้ Luboš Kastner ผู้ประเมินอุตสาหกรรมอาหาร ของสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ค้า คาดว่า “การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ ร้านอาหารแต่ละแห่งจะเป็นตัวกำหนดราคาเช่นเคย โดยสถานการณ์จะแตกต่างกันไปตามสถานที่ตั้ง อุปสงค์และอุปทานของตลาด ในลักษณะการแข่งขันที่สมบูรณ์” ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารชื่อดัง Ostrava “ปัจจุบันเราขายเบียร์ Pilsner ในราคา 57 คราวน์ ดังนั้น เราจึงต้องขึ้นราคาอีกเล็กน้อย สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเราต้องจ่ายให้กับสำนักงานสรรพากร” Dagmar Bavlšíková ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารกล่าว
ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจในส่วนอื่นๆ ของสาธารณรัฐเช็กก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน สำหรับเบียร์ Pilsen ที่ ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเพิ่มในปีหน้า อาทิ ร้านอาหารชื่อดังของโรงแรม Zvon บริเวณจัตุรัส Premysl Otakar II ใน České Budejovice “ปัจจุบันเบียร์สดจากถังของเรามีราคา 68 คราวน์ และปีใหม่เราวางแผนที่จะขึ้นราคาประมาณ 5 คราวน์เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม” ผู้จัดการร้านอาหาร Zdenek Novotný กล่าว พร้อมเสริมว่าพวกเขาได้ขึ้นราคาเบียร์ในเดือนตุลาคม 2566 จาก 65 เป็น 68 คราวน์ไปแล้ว
แม้แต่ในชนบทราคาเบียร์ก็ไม่ถูกอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่ผู้ประกอบการร้านอาหารในปัจจุบันไม่มีแนวโน้มจะขึ้นราคา ตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร Na Spilce ซึ่งเป็นผับที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐเช็กในอาคาร Pilsner Urquell จะยังไม่ขึ้นราคา “เราไม่ได้วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงราคาเบียร์สดในเดือนมกราคม” Petr Starý ผู้จัดการร้านกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลบังคับใช้ ดูเหมือนว่าปีใหม่จะนำทั้งความสุขและความผิดหวังมาสู่ผู้ที่ชื่นชอบเบียร์ในสาธารณรัฐเช็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
ปี 2566 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าเครื่องดื่มทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 1,078 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สโลวาเกีย และโปแลนด์ ตามลำดับ โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 33 คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สาธารณรัฐเช็กนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 264 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ สโลวาเกีย อิตาลี และฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยประเทศไทย ไม่ติด 1 ใน 50 อันดับ แม้ว่าราคาเบียร์จะปรับราคาสูงขึ้นในปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้หลายคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น เครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพอาจเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่น่าสนใจในการเจาะตลาดเพิ่มเติม โดยปัจจุบัน อาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายในตลาดสาธารณรัฐเช็กที่เน้นคุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย (Functional) และสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat/Drink) ที่มีสรรพคุณช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานที่ดีต่อร่างกาย การใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติที่ปลูกในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และปราศจากสารปรุงแต่งน้ำตาล มีวางจำหน่ายและเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด และรักษามาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานของยุโรป รวมทั้งสนับสนุนการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอาหารไทย และป้องกันไม่ให้สหภาพยุโรปนำมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า สำหรับช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารของสาธารณรัฐเช็ก คือซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจะนำเข้าสินค้าผ่านผู้นำเข้าเป็นหลัก
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผู้คนที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์ในสาธารณรัฐเช็กต่างผิดหวัง