- ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง (dermocosmetics) ได้แก่ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เป็นส่วนผสมระหว่างผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเพื่อการบำรุงรักษาผิวหนังที่มีความเฉพาะเจาะจง เช่น การรักษาสิว ครีมกันแดด ฯลฯ ผลประกอบการปี 2022 ตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าเวชสำอางทั่วโลกสูงถึง 20,000 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของตลาดรวมสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมความงาม นาง Myriam Cohen-Welgryn ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์เวชสำอางบริษัท L’Oreal กล่าวว่า ในปี 2022 ผลประกอบการผลิตภัณฑ์เวชสำอางของบริษัท L’Oreal มีมูลค่า 5 พันล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากปี 2021 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2023 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 30
- ถึงแม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันผู้บริโภคฝรั่งเศสประสบกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อ แต่ตลาดสินค้าเวชสำอางในประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางการขายต่างๆ ได้แก่ ร้านขายยา ร้านพาราฟาร์มาซี และตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการคัดเลือก โดยมีร้านขายยาเป็นช่องทางการขายหลัก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดที่สร้างความเคยชินให้กับผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากร้านขายยา เนื่องจากเป็นช่องทางขายเดียวที่ได้รับอนุญาตเปิดบริการในช่วงระยะเวลานั้น ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากร้านขายยาช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์เวชสำอางผ่านการแนะนำจากเภสัชกร โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่แบรนด์เวชสำอางฝรั่งเศสที่มีต้นกำเนิดวัตถุดิบจากแหล่งน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ
- ความนิยมผลิตภัณฑ์เวชสำอางในหลายประเทศสูงกว่าความนิยมของตลาดภายในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในแต่ละประเทศมีช่องทางการขายที่แตกต่างกันไป ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เหล่าอินฟลูเอนเซอร์และนางแบบสร้างคอนเซ็ปต์ร้านค้าในรูปแบบใกล้เคียงกับร้านขายยาของฝรั่งเศสเพื่อขายผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะ นอกเหนือจากนั้น ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงจากแพทย์ผิวหนัง ซึ่งรับหน้าที่เป็นทั้งผู้เขียนใบสั่งยาและเป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์เวชสำอางในขณะเดียวกัน
- สำหรับตลาดในทวีปเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีน ช่องทางการขายหลักมีสองช่องทาง ได้แก่ เคาน์เตอร์ขายสินค้าในสถานพยาบาลและตลาดe-commerce
- คุณสมบัติของสินค้าเวชสำอางที่เป็นที่ต้องการในตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวบอบบางจากมลพิษและรังสียูวี, ผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มตลาดผู้บริโภคที่มีอายุสูงขึ้น, ผลิตภัณฑ์บำรุงที่ช่วยให้ผิวกระจ่างใสสำหรับออกสื่อโซเชียลมีเดีย ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งใช้ระยะเวลาในการค้นคว้าทดลองใกล้เคียงกับการทดสอบยารักษาโรค ส่งผลให้การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดในแต่ครั้งใช้เวลานานกว่าผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องสำอางประเภทอื่นๆ แต่เนื่องจากนวัตกรรมในปัจจุบันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากสามารถแทนที่การผ่าตัดเสริมความงามได้ในบางส่วน จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด
- การพัฒนาและเติบโตของสื่อดิจิทัลมีผลสำคัญและส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงต่อการทำตลาดสินค้าเวชสำอางในหลายด้าน ได้แก่
- นาย Nicolas Hieronimus ผู้อำนวยการทั่วไปบริษัทลอริอัล กล่าวว่าสื่อดิจิทัลช่วยให้แบรนด์สามารถสื่อสารข้อมูล อธิบายรายละเอียดสินค้าเวชสำอางได้อย่างละเอียด ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย และช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคเป็นวงกว้างมากขึ้น
- skin influenceurs และบุคลากรทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสร้างสื่อผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแพทย์ผิวหนังสามารถทำหน้าที่แบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อ้างอิงเพื่อให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้า clean beauty ในขณะที่ดารา นักแสดง และนางแบบยังคงมีบทบาทในการทำหน้าที่โฆษณาเครื่องสำอางผ่านสื่อแบบดั้งเดิม
- บริษัท L’Oreal เป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์เวชสำอางในฝรั่งเศส ภายใต้แบรนด์ La Roche-Posay (ยอดขายผลิตภัณฑ์เวชสำอางเป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก) Vichy และ CeraVe โดยมีแบรนด์ Avene ของบริษัทเภสัชกรรมฝรั่งเศส Pierre Fabre เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นาย Eric Ducournau ผู้บริหารบริษัทคาดการณ์ว่าผลประกอบการของแบรนด์ Avene ในปี 2023 นี้จะสูงเกินหนึ่งพันล้านยูโรเป็นครั้งแรก ผลิตภัณฑ์เวชสำอางแบรนด์อื่นๆจากต่างประเทศที่ได้รับความนิยม ได้แก่ แบรนด์ Eucerin ของบริษัท Beiersdorf ประเทศเยอรมนีเจ้าของเดียวกับแบรนด์ Nivea และ แบรนด์ Neutrogena ของบริษัท Johnson & Jonhson ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความเห็น สคต.
นอกเหนือจากการเติบโตของตลาดสินค้าเวชสำอางแล้ว ตลาดเครื่องสำอางโดยรวมทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลสรุปจากงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมความงาม Cosmetic 360 จัดขึ้นที่ Carrousel du Louvre กรุงปารีส ในช่วงเดือนตุลาคมปลายปี 2022 กล่าวถึงแนวโน้มที่สำคัญของสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไว้ 3 ด้าน ได้แก่ Solid cosmetics ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มาในรูปแบบของแข็งหรือของแห้ง (แชมพู ครีมนวดผมในรูปแบบก้อน หรือ ครีมบำรุงผิวและสบู่ในรูปแบบผงซึ่งผู้บริโภคสามารถผสมได้เองที่บ้าน ฯลฯ) ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้น้ำตอบโจทย์ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม, การใช้ AI – artificial intelligence ในการวิเคราะห์ผิวเพื่อช่วยเลือกผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบความต้องการส่วนบุคคลได้ และแนวโน้มสุดท้ายได้แก่ Upcycling Cosmetics การนำวัตถุดิบที่เหลือทิ้งในธรรมชาติ เช่น ส่วนที่เป็นเม็ดหรือเปลือกผลไม้ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว รวมถึงการเลือกบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาปรับปรุงใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า Upcycling cosmetics จากต้นทุนวัตถุดิบทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายในประเทศ หรือสินค้าประเภท Solids cosmetics ซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักของสินค้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งออกได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา :
David Barroux, Virginie Jacoberger-Lavoué
ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/industrie-services/mode-luxe/la-dermocosmetique-nouvel-eldorado-du-marche-de-la-beaute-1941970
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)