หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Wellness > ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสิงคโปร์

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสิงคโปร์

  1. ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสิงคโปร์

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 233.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 7.6% (YoY) โดยประกอบไปด้วยเครื่องสำอางสำหรับใบหน้า 97.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 9.9% (YoY)  สำหรับดวงตาอยู่ที่ 49.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 3.9% (YoY) และสินค้าสำหรับริมฝีปากอยู่ที่ 52.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 10.9% (YoY)

ในปี 2566 มูลค่าเครื่องสำอางเติบโตอย่างแข็งแกร่งในสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์สำหรับริมฝีปากทั้งในกลุ่มดินสอเขียนขอบปาก ลิปสติกมีการเติบโตสูงที่สุด อย่างไรก็ดี ยอดขายยังคงไม่สามารถกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของผู้บริโภคที่เริ่มชื่นชอบรูปลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติ และแต่งหน้าน้อยลง ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งดวงตาซบเซามากขึ้นในปี 2566 นอกจากนี้ วงจรการเปลี่ยนเครื่อง สำอางรอบดวงตายังมีแนวโน้มที่จะยาวนานขึ้นอีกด้วย เนื่องจากปริมาณการใช้งานที่ลดลง ในส่วนผลิตภัณฑ์เล็บก็ซบเซาลงเช่นกัน เนื่องจากร้านให้บริการทำเล็บได้นำเสนอราคาที่ไม่แพงจำนวนมากในสิงคโปร์

เทรนด์ Skinfication ยังคงแข็งแกร่งในสิงคโปร์ ผู้บริโภคสิงคโปร์ในปัจจุบันไม่ได้มองหาแค่ผลิตภัณฑ์เสริมความงามแต่ยังต้องส่งเสริมดูแลสุขภาพผิวไปพร้อมกันทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสกินแคร์ เช่น สูตรที่มี AHA สารต้านอนุมูลอิสระ BHA/กรดซาลิไซลิก กรดไฮยาลูโรนิก เปปไทด์ เรตินอล และวิตามิน จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมความงามเท่านั้น แต่ยังช่วยบำรุงและปกป้องผิวอีกด้วย หลายๆ แบรนด์ ที่สื่อสารกับผู้บริโภคถึงประโยชน์ที่ได้รับไปสองด้านพร้อมกันทั้งเสริมความงามและบำรุงผิวได้เติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจะถูกดึงดูดในการลงทุนซื้อสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น เทรนด์ดังกล่าวส่งผลให้หลายแบรนด์สกินแคร์ไปลงทุนในสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางมากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้น เช่น แบรนด์สกินแคร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการปกป้องแสงแดด Supergoop ได้เปิดลิปสติกบำรุงฝีปากพร้อมปกป้องจากแสงแดด Lipshade 100% Mineral Lip Colour SPF 30 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ การวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกอย่าง Sephora ยังช่วยเพิ่มการเข้าถึงและรับรู้ของผู้บริโภคที่กำลังมองผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

เครื่องสำอางในสิงคโปร์มีลักษณะการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคทั้งจากแบรนด์สิงคโปร์และแบรนด์จากต่างประเทศก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับแบรนด์ใหม่ในตลาด ซึ่งอาจจะต้องมีการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ หรือใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างความโดดเด่น โซเชียลมีเดียกลายเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาที่สำคัญสำหรับสินค้าเครื่องสำอางในการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายและการใช้โซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางในสิงคโปร์ทำให้การตลาดแบบใช้อินฟลูเอนเซอร์ และ Vloggers ต่างมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ส่งเสริมการขายของแบรนด์ความงามต่างๆ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับความร่วมมือและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มการมองเห็นแบรนด์ นอกจากนี้ Influencer มักจะได้รับสินค้าจากแบรนด์เพื่อแลกกับการรับรีวิวคุณภาพสินค้า การตลาดแบบใช้อินฟลูเอนเซอร์ทำให้อุตสาหกรรมความงามอิ่มตัวขึ้น เพราะผู้บริโภคมีวิจารณญาณมากขึ้นในการตั้งคำถามจากการดูรีวิว และเริ่มมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตลาด อย่างไรก็ดี
อินฟลูเอนเซอร์ยังคงมีบทบาทต่อผู้บริโภคในการสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ในตลาดที่มีคู่แข่งมากมาย

  1. โอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสิงคโปร์

หลังจากการผ่อนปรนข้อจำกัดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้บริโภคเริ่มกลับมาให้ความสนใจการทดลองสินค้าที่ร้านค้าปลีกมากขึ้นไม่ว่าจะเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่หรือเพื่อสำรวจเทรนด์ใหม่ๆ ร้านค้าปลีกต่างยกระดับประสบการณ์การซื้อของจากแบบดั้งเดิมผ่านแนวความคิดริเริ่มด้านการใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่ความพึงพอใจของลูกค้าที่มากขึ้น เช่น แบรนด์วามงามชื่อดังจากฝรั่งเศส Clarins ได้เปิดตัวร้านค้าระบบไร้เงินสดในปี 2565 ช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้จากทุกที่ภายในร้าน เพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่และเพิ่มความสะดวกสบาย นอกจากนี้ แบรนด์ความงามและร้านค้าปลีกหลายแห่งในสิงคโปร์เสนอบริการแต่งหน้าเสมือนจริง (Virtual Makeup) และการแนะนำสินค้าเฉพาะบุคคล ร้าน Sephora ได้ให้บริการแต่งหน้าที่ปรับให้เหมาะกับความชอบส่วนบุคคล และยังฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค โดยสาขาที่ Raffles City สามารถทำเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเฉพาะภายในร้าน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะทำการจองผ่านแอพฯ บนมือถือ และสามารถซื้อสินค้าที่ใช้สอนได้หลังจากจบคอร์ส ทำให้การซื้อของเป็นไปอย่างราบรื่น และสะดวกสบาย

ความต้องการซื้อสินค้าที่ทำได้หลายหน้าที่ภายในชิ้นเดียวกัน (Multifunctional Products) จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวสิงคโปร์มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ จึงพยายามที่จะปรับกิจวัตรความงามให้เรียบง่าย หรือลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียวที่สามารถนำมาใช้ได้ในหลายโอกาสมากขึ้น เช่น แบรนด์ e.l.f ได้ออกผลิตภัณฑ์มัลติสติ๊กแบบสีเดียว ซึ่งใช้งานได้หลากหลายทั้งอายแชโดว์ บลัชออน และลิปสติก หรือความนิยมในสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางผสานสกินแคร์เพิ่มสูงขึ้น เช่น แบรนด์ Shiseido ได้นำเสนอนวัตกรรมรองพื้นเสริมความงามและบำรุง
สุขภาพผิว Revital Essence Skin Glow Foundation ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนผสม
พรีไบโอติกสองชนิด Fermented Kefir+ และ Niacinamide

แบรนด์ความงามของเหล่าคนดังนำเสนอผลลัพธ์ที่หลากหลาย บางแบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างมาก และบางแบรนด์ไม่ได้ผลตอบรับที่ดี เช่น แบรนด์ R.E.M Beauty ของ Ariana Grande เนื่องจากปัญหาด้านคุณภาพ ในทางกลับกัน แบรนด์อื่นๆ เช่น Fenty Beauty โดย Rihanna และ Rare Beauty โดย Selena Gomez เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้บริโภคทั้งในเรื่องความถูกต้อง ความโปร่งใส และประสิทธิภาพ จึงสามารถเติบโตในตลาดนี้ได้ นอกจากนี้ แบรนด์ที่สร้างสรรค์โดยช่างแต่งหน้าที่มีชื่อเสียงได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและการแต่งหน้า เช่น Makeup by Mario ซึ่งก่อตั้งโดยช่างแต่งหน้าชื่อดัง Mario Dedivanovic โดยผู้ซื้อได้ให้ความเชื่อถือจากพื้นฐานวิชาชีพในการแต่งหน้า และการ
ปรากฎตัวบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย

3. ส่วนแบ่งทางการตลาดของเครื่องสำอางในสิงคโปร์

ในปี 2566 แบรนด์ Christian Dior มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 6.3% และแบรนด์ Chanel อยู่ที่ 6.1% ตามมาด้วยแบรนด์ Mac ,L’Oreal Paris และ Maybelline New York อยู่ที่ 5.9% 5.4% และ 5% ตามลำดับ

4. งานแสดงสินค้า

งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ได้แก่ BeautyAsia ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.beautyasia.com.sg

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบและเน้นความสะดวกสบาย ส่งผลให้เทรนด์การเลือกใช้สินค้าเครื่องสำอางออกมาในรูปแบบใช้งานง่าย สะดวก และสามารถทำได้หลายหน้าที่ภายในชิ้นเดียวกัน หรือกลุ่มเครื่องสำอางผสานสกินแคร์ ในส่วนของการทำการตลาดในสิงคโปร์นั้น กลยุทธ์การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ และโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมอย่างมากในสิงคโปร์ เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของสิงคโปร์[1] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

[1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของสิงคโปร์ – https://www.hsa.gov.sg/cosmetic-products/overview

ที่มาข้อมูล : Euromonitor

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในสิงคโปร์

Login