หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์

ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์

  1. ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 41.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 4.1% (YoY) โดยประกอบไปด้วยสินค้ากลุ่มสำหรับอาบน้ำ 12.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 3.3% (YoY)  สินค้าสำหรับผมอยู่ที่ 7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โตขึ้น 2.3% (YoY)  สินค้าดูแลผิวกายอยู่ที่ 7.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 2.9% (YoY) และสินค้ากลุ่มกระดาษเปียกอยู่ที่ 8.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 6.1% (YoY)

ในปี 2566 ภาพรวมความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารกยังคงเติบโตในอัตราคงที่มูลค่าปัจจุบัน ถึงแม้ว่าอัตราการเกิดในประเทศที่ลดลง โดยมีสาเหตุมาจาก 1) หลายแบรนด์ได้ทำการตลาดผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสินค้าที่เหมาะกับเด็กทารก โดยตอบโจทย์ข้อกังวลของพ่อแม่เกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น แบรนด์ A Tapir’s Tale และ Cherub Rubs ซึ่งพ่อแม่ชาวสิงคโปร์ต่างชื่นชอบจากการที่ให้ความสำคัญกับส่วนผสมจากธรรมชาติและสินค้าออร์แกนิค 2)ชาวสิงคโปร์มีรายได้หลังหักภาษีสูง และมีแนวโน้มในการใช้จ่ายเงินไปกับผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารกมากขึ้น ทำให้พ่อแม่ต่างตัดสินใจซื้อสินค้าที่หลากหลายสำหรับเด็กและทารกโดยเฉพาะ ดังนั้น จากการที่ตลาดมีสินค้าพรีเมียมที่ราคาสูงขึ้นส่งผลให้มูลค่าโดยรวมในตลาดเติบโตขึ้นในปี 2566 ถึงแม้ว่าการเติบโตในเชิงปริมาณจะลดลง แต่การนำเสนอสินค้าพรีเมียมทำให้มูลค่ายอดขายยังคงเติบโตขึ้น

ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็กและทารกมีการเติบโตที่สูงทั้งในด้านปริมาณและมูลค่าในปี 2566 เพราะพ่อแม่ต่างให้สำคัญกับสุขภาพผิวของลูกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดมากขึ้น โดยสินค้าควรมีส่วนผสมจากธรรมชาติและระดับ SPF ที่สูง เพราะพ่อแม่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะปกป้องผิวดีกว่าและอ่อนโยนต่อผิวเด็กมากกว่า นอกจากนี้ จากแบรนด์ต่างๆ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผิว ผู้ปกครองจึงมีความตระหนักในด้านความเสี่ยงทางสุขภาพของผิวที่เกิดจากแสงแดด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กโต เพราะมีการใช้ชีวิตนอกบ้านทำให้ต้องมีการปกป้องที่ดีจากแสงแดด ประกอบกับบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อผิวขาวในทุกวัย ส่งผลให้ความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดในหมู่ผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้น

สินค้าที่ทำจากธรรมชาติ ออร์แกนิค และสินค้ากลุ่มเวชสำอาง (Dermocosmetics) กำลังได้รับความสนใจในตลาดสิงคโปร์ แบรนด์เวชสำอางกำลังได้รับความสนใจจากผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสำหรับทารกและเด็กโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้ปกครองให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ลดการระคายเคืองที่อาจเกิดขึ้นกับผิวบอบบางของทารกมากขึ้น จึงก่อให้เกิดความต้องการที่ต้องการปกป้องผิวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของพ่อแม่ เพราะผิวของทารกมีความไวต่อการระคายเคือง การเน้นว่าเป็นสินค้าสูตรอ่อนโยนทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แตกต่างจากผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ส่วนผสมจากธรรมชาติและส่วนผสมที่แพทย์ผิวหนังได้รับการรับรองนั้นได้รับความนิยมอย่างสูงในด้านคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อผิวหนัง ด้วยส่วนผสมต่างๆ เช่น น้ำมันมะพร้าวและเชียบัตเตอร์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มแก้ไขปัญหาผิวที่ได้รับการรับรองถึงประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้ากลุ่มเวชสำอางอย่างชัดเจน เช่น แบรนด์ Cetaphil Baby เป็นที่รู้จักในด้านสูตรคิดค้นทางคลินิกและการรับรองทางการแพทย์ได้รับความนิยมในสินค้ากลุ่มการดูแลผิวสำหรับทารกและเด็กโดยเฉพาะ

  1. โอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์

ปัจจุบันแบรนด์ใหญ่ๆ (Mass Brands) ยังคงครองตลาดในแง่ยอดขายโดยรวม แต่สินค้าพรีเมียมกำลังเป็นเทรนด์ที่เติบโตในสิงคโปร์ และผลักดันการเติบโตในเชิงมูลค่าของผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กโดยเฉพาะ โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลใจของพ่อแม่เกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากส่วนผสมทางเคมีที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์บางชนิด โดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคจะถือว่าสินค้าที่มีคุณภาพพรีเมียมจะมีราคาที่สูงกว่า จึงสนใจในแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่า ความชื่นชอบในสินค้าพรีเมียมส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมพ่อแม่รุ่น Millennial และ Gen Z ซึ่งมีความตระหนักในการเลือกซื้อสินค้าให้บุตรหลานมากขึ้น โดยจะผ่านการศึกษาสินค้าอย่างละเอียด มีการประเมินผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบ และศึกษารายการส่วนผสมก่อนตัดสินใจซื้ออย่างมีข้อมูล

การสร้างความไว้วางใจในแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญในสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้บริโภคมีความใส่ใจในสุขภาพและความปลอดภัย คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและจากคนใกล้ตัวมีอิทธิพลอย่างมากต่อความไว้วางใจของผู้บริโภค ดังนั้น แบรนด์ผู้ผลิตจะต้องให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับส่วนผสมและกระบวนการผลิต พร้อมด้วยการทดสอบที่เข้มงวด แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เพื่อก่อให้เกิดการสร้างความไว้วางใจในแบรนด์

ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กโดยเฉพาะได้เติบโตขึ้นในช่องทางค้าปลีกแบบอีคอมเมิร์ซ และน่าจะเติบโตขึ้น โดยร้านค้าปลีกในสิงคโปร์ต่างลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะว่าผู้บริโภคชาวสิงคโปร์หันมาให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในการจัดส่งสินค้าถึงบ้านมากขึ้น และสินค้ามีให้เลือกหลากหลายในช่องทางออนไลน์ และราคาที่ถูกกว่า อย่างไรก็ดี ร้านค้าที่มีหน้าร้านยังคงเป็นช่องทางหลักในการซื้อผลิตภัณฑ์

3. ส่วนแบ่งทางการตลาดของแบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์

ในปี 2566 แบรนด์ Johnson’s มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 25.8% และแบรนด์ Pigeon อยู่ที่ 14.4% ตามมาด้วยแบรนด์ Johnson’s Baby อยู่ที่ 10.8% และ Kodomo อยู่ที่ 6.1%

4. งานแสดงสินค้า

งานแสดงสินค้าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาในการขยายสินค้า โดยงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเด็กที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ เช่น 1) Mothercare Baby & Kids Fair ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mothercare.com.sg/babyfair หรืองาน 2) Babyland Fair (www.babyland.com.sg/) และ 3) Mummy’s Market (www.mummysmarket.com.sg/#) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทดลองตลาดสิงคโปร์ได้เช่นกัน โดยแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยม ได้แก่ Lazada ที่มีกิจกรรมอย่าง Lazada Big Baby Fair, Shopee, Qoo10 หรือแพลตฟอร์มร้านค้าขายปลีกอย่าง www.littlebaby.com.sg และwww.mummysmarket.com.sg เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะมีการเกิดลดลงอย่างชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านๆมานี้ และมีแนวโน้มจะลดลงไปอีกเรื่อยๆ ในอนาคต แนวโน้มตลาดของผลิตภัณฑ์สินค้าสำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์จึงถูกคาดการณ์ว่าจะมีขนาดเล็กลง จากปัจจัยข้างต้นนี้ทำให้ผลิตภัณฑ์สำหรับทากรและเด็กในสิงคโปร์ไม่ได้มีอัตราการขยายอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการจำหน่าย เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตได้วางแผนการตลาดที่ดีให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงประเด็นที่ผู้ปกครองให้ความใส่ใจในความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น และมีความเอนเอียงในการเลือกซื้อสินค้าพรีเมียมมากกว่าสินค้าสำหรับเด็กแบบทั่วไป โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม
ออร์แกนิค สินค้าอ่อนโยน และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของธรรมชาติมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของราคาขายปลีกของสินค้าทำให้มูลค่าค้าปลีกผลิตภัณฑ์สินค้าสำหรับเด็กยังคงมีการขยายตัว จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดมายังสิงคโปร์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรมีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กให้ตรงตามความต้องการของตลาดสิงคโปร์ รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของสิงคโปร์[1] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

[1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของสิงคโปร์ – https://www.hsa.gov.sg/cosmetic-products/overview

ที่มาข้อมูล : Euromonitor

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลิตภัณฑ์สำหรับทารกและเด็กในสิงคโปร์

Login