หน้าแรกTrade insight > ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค GEN Z ประเทศเยอรมนี

ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค GEN Z ประเทศเยอรมนี

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมการค้าออนไลน์และการค้าทางไปรษณีย์แห่งประเทศเยอรมนี (Bundesverband E-Commerce und Versandhandel Deutschland e.V.) ได้เปิดเผยผลงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัย University of Rostock ประเทศเยอรมนี ภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ Christian Brock ในหัวข้อ “NEXT GENERATION E-COMMERCE: เจาะลึกพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันและอนาคต” โดยศึกษากลุ่มสำรวจช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 25 ปี จำนวน 930 คน รวมผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองขนาดใหญ่ ไปจนถึงเมืองขนาดกลางและเล็ก ทั้งนี้ นักวิจัยให้ความเห็นว่ากลุ่มสำรวจช่วงอายุดังกล่าว เติบโตมาพร้อมกับยุคเทคโนโลยีดิจิทัล และมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการค้าออนไลน์ในอีก 25 ปี ข้างหน้า

งานวิจัยดังกล่าวเน้นศึกษาปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) เทคโนโลยี 2) การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัย 3) ประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าส่วนบุคคล 4) การจัดส่งที่รวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 5) ความยั่งยืนและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลการวิจัยมีรายละเอียด ดังนี้

ผู้บริโภคเลือกเข้าร้านค้าแบบดั้งเดิมเพื่อซื้อสินค้าสำหรับชีวิตประจำวันเท่านั้น

จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 84 จับจ่ายซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนเป็นประจำ ร้อยละ 75 ซื้อสินค้าผ่านโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์พีซี นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการซื้อสินค้าทางออนไลน์พบว่า กลุ่มสำรวจร้อยละ 75 เลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ ร้อยละ 13 ซื้อผ่านร้านค้าปลีกออนไลน์ และร้อยละ 12 ซื้อสินค้าโดยตรงจากเว็บไซต์ของแบรนด์ผู้ผลิต ในทางกลับกัน ร้านค้าแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มไม่ได้รับความนิยมมากนักในอีก 25 ปี ข้างหน้า อ้างอิงจากแบบสอบถามพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 75 ให้ความเห็นว่าตนอาจซื้อสินค้าทางออนไลน์เป็นหลัก ร้อยละ 50 จะเข้าร้านค้าในกรณีเร่งด่วนเท่านั้น และร้อยละ 57 จะเข้าร้านค้าเมื่อมีสินค้าน่าสนใจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่าร้านค้าแบบดั้งเดิมยังคงได้รับความนิยม สำหรับการเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าอุปโภคและบริโภค ยารักษาโรค และของใช้ในบ้านที่จำเป็นสำหรับทุกวัน

ผู้บริโภครุ่นใหม่มีแนวโน้มไม่ยึดติดกับการเลือกซื้อสินค้าจากร้านประจำ

จากการศึกษาสรุปได้ว่าผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่ใช่ลูกค้าที่มีความภักดีต่อร้านค้าใดร้านค้าหนึ่ง โดยกลุ่มสำรวจจำนวนหนึ่งในสาม มองว่าตนเองเป็นลูกค้าที่ “มีส่วนร่วม” กับร้านค้าน้อยลงหรือไม่มีเลย เช่น การให้คะแนน การแสดงความคิดเห็น หรือการแนะนำต่อ นอกจากนี้ มีกลุ่มสำรวจเพียงร้อยละ 19 ที่มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของร้านค้าใดร้านหนึ่ง และเพียงร้อยละ 18 มีการเขียนความคิดเห็นเชิงบวกสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ซื้อ นอกจากนี้ จากผลการวิจัยยังพบว่ากลุ่มสำรวจเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น มีความเห็นว่าการหาร้านค้าใหม่มีความซับซ้อน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าการเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากร้านใหม่ไม่ใช่อุปสรรค

โซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกซื้อสินค้า

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ YouTube และ Instagram แม้ว่ากลุ่มสำรวจร้อยละ 55 แสดงความคิดเห็นว่าโซเชียลมีเดียสร้างแรงบันดาลใจในการซื้อสินค้า แต่มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ที่เลือกซื้อสินค้าตามอินฟลูเอนเซอร์ ทั้งนี้ ช่องทางโซเชียลมีเดียที่กระตุ้นแรงบันดาลใจในการเลือกซื้อสินค้าและการค้นหาสินค้า คือ Instagram ในขณะที่ ผู้บริโภคมักค้นหาข้อมูลและการรีวิวสินค้าจากแพลตฟอร์ม YouTube ตามมาด้วย TikTok ในทางกลับกัน แพลตฟอร์ม Facebook Pinterest และ Twitch ได้รับความนิยมรองลงมาตามลำดับ

ความแตกต่างระหว่างเพศในการเลือกบริโภคสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม

คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมและมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาสินค้าของบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มสำรวจร้อยละ 80 จะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างสิ้นเปลือง แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของทุกคน กล่าวคือ กลุ่มสำรวจเพศหญิงร้อยละ 40 ยอมรับความไม่สะดวกสบายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่กลุ่มสำรวจเพศชายมีเพียงร้อยละ 26 เท่านั้นที่เห็นด้วย นอกจากนี้ กลุ่มสำรวจเพศหญิงร้อยละ 73 และกลุ่มสำรวจเพศชายร้อยละ 52 เห็นว่าการผลิตสินค้าที่มีความยั่งยืนมีความสำคัญมากกว่าแบรนด์ ในขณะที่ กลุ่มสำรวจเพศหญิงร้อยละ 26 และกลุ่มสำรวจเพศชายร้อยละ 47 ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากกว่าเรื่องความยั่งยืน นอกจากนี้ กลุ่มสำรวจเพศหญิงร้อยละ 55 และกลุ่มสำรวจเพศชายร้อยละ 37 มีความเห็นว่าความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Christian Brock ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นดังกล่าวว่า ความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ที่จะบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น ไม่ได้สะท้อนให้เห็นในเชิงพฤติกรรมอย่างแท้จริงมากนัก อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยพบว่าการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่โปร่งใส และการนำเสนอกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าไปในเชิงบวกมากขึ้นได้

ความตระหนักถึงความเสี่ยงจากเทคโนโลยีการซื้อขายแบบใหม่

กลุ่มสำรวจส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นในเชิงบวกต่อการซื้อสินค้าแบบไร้เงินสด และการเลือกซื้อสินค้าในโลกเสมือนจริง ทั้งนี้ แรงจูงใจที่สำคัญในการใช้เทคโนโลยีการซื้อขายแบบใหม่นั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ 24 ชั่งโมง และสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืนมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า หากเทคโนโลยีสามารถช่วยให้ผู้บริโภคเลือกดูผลิตภัณฑ์แบบ 3 มิติได้ อาจช่วยลดการส่งคืนสินค้า หรือหลีกเลี่ยงการผลิตที่เกินความจำเป็น อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่มีขีดจำกัดในการใช้เทคโนโลยีเช่นกัน เช่น การซื้อสินค้าแบบจดจำใบหน้า และการใช้เครื่องมือช่วยแปลภาษา เนื่องจากพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว จากผลสำรวจพบว่าร้อยละ 41 ของกลุ่มสำรวจยินดีให้ข้อมูลส่วนบุคคล หากพวกเขาสามารถได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่ชัดเจนจากการให้ข้อมูล

Bundesverband E-Commerce und Versandhandel Deutschland e.V.

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login