หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ > ผลสำรวจชี้เงินเฟ้อกระทบถึงคนรวย ลดสินค้าแบรนด์หันซื้อของถูก

ผลสำรวจชี้เงินเฟ้อกระทบถึงคนรวย ลดสินค้าแบรนด์หันซื้อของถูก

บริษัทวิจัยทางการตลาด GfK ประเทศออสเตรีย ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาต่อการจับจ่ายสินค้าอาหารและยา (Food & Drug) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 โดยสามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงและเงินเฟ้อไม่กระทบต่อกำลังซื้อ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 36 ของครัวเรือน ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 38 และ 45 ในปี 2565 และ 2564 ตามลำดับ (2) ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางการเงินจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 42 ขยายตัวจากร้อย 40 ในปี 2564 และ (3) ผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งขยายตัวจากร้อยละ 16 ในปี 2564 มาอยู่ที่ร้อยละ 23 ในปี 2566 และพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ 4 ข้อ ได้แก่

 

  1. ความถี่ในการจับจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ครัวเรือนในออสเตรียมีการไปจับจ่ายสินค้าอาหารและยาเฉลี่ย 113 ครั้ง ซึ่งสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.3 โดยกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 63 ระบุเหตุผลว่าสามารถรอคอยเพื่อซื้อสินค้าในภายหลังหากได้ราคาถูกกว่าหรือข้อเสนอที่ดีกว่า

 

  1. ผู้บริโภคย้ายไปจับจ่ายในร้านค้าราคาประหยัด (discount store) มากขึ้น

ส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มร้านค้าสินค้าราคาประหยัดในช่วงครึ่งปีแรก 2566 เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 28 จากร้อยละ 27 และ 26 ในปี 2565 และ 2564 ตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าออร์แกนิก ขณะที่สัดส่วนตลาดของซุปเปอร์มาร์เก็ตลดลงร้อยละ 1 แต่ยังคงเป็นรูปแบบช่องทางค้าปลีกที่ขนาดใหญ่ที่สุด (ร้อยละ 34) ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างเหนียวแน่นได้ที่ร้อยละ 22 ทั้งนี้ พบว่าผู้บริโภคกลุ่มที่ (1) ซึ่งมีฐานะทางการเงินมั่นคง เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่หันไปจับจ่ายในร้านค้าราคาประหยัด (จากร้อยละ 24 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 26 ในปี 2566) ผู้บริโภคกลุ่มที่ (2) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 28 ส่วนผู้บริโภคกลุ่มที่ (3) ไม่เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ 30) เนื่องจากจับจ่ายในร้านค้าราคาประหยัดเป็นประจำอยู่แล้ว

 

  1. สินค้าตราห้าง (Private labels) ขยายตัว สินค้าแบรนด์หดตัว

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 สัดส่วนของสินค้าตราห้าง (ซึ่งมีราคาถูกกว่าสินค้าแบรนด์) อยู่ที่ร้อยละ 24 แต่มาถึงช่วงเดียวกันของปีนี้พบว่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงร้อยละ 37  โดยพบว่าผู้บริโภคทุกกลุ่มกันมาซื้อสินค้าตราห้างมากขึ้น กลุ่มที่ (3) เพิ่มจากร้อยละ 36 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 41 ในปี 2566 กลุ่มที่ (2) จากร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 37 และกลุ่มที่ (1) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 34 ขณะที่การจับจ่ายสินค้าแบรนด์ลดลงจากร้อยละ 67 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 63 ในปี 2566 (สินค้าแบรนด์ผู้นำตลาดลดลงจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 20 สินค้าแบรนด์ราคาระดับกลางลดลงจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 12 และสินค้าแบรนด์พรีเมี่ยมลดลงจากร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 31)

 

  1. สัดส่วนการซื้อสินค้าลดราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สัดส่วนสินค้าที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (เช่น การลดราคา) ของสินค้าแบรนด์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 45 ในปี 2566 แม้แต่สินค้าตราห้างซึ่งโดยปกติจำหน่ายในราคาพิเศษอยู่แล้วยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายบ่อยขึ้น จากร้อยละ 16 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 17 ในปี 2566 นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคกลุ่มที่ (1) ซึ่งมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง มีสัดส่วนการจับจ่ายสินค้าส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 45 ในปี 2566

 

แหล่งที่มา www.retailreport.at

 

 

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ

จากผลสำรวจนี้พบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงกลายเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อราคาและมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในการจับจ่ายมากที่สุดในช่วงที่มีภาวะเงินเฟ้อระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบหลักๆ ต่อผู้ผลิตสินค้าแบรนด์และธุรกิจค้าปลีกช่องทางหลักอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งในแง่ของยอดขาย ความภักดีต่อแบรนด์และอัตรากำไร ตลอดจนอำนาจการต่อรองระหว่างผู้ผลิตสินค้าและห้างค้าปลีกที่วางจำหน่ายสินค้า

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา

พฤศจิกายน 2566

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลสำรวจชี้เงินเฟ้อกระทบถึงคนรวย ลดสินค้าแบรนด์หันซื้อของถูก

Login