หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย หลังชิลีมีประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย หลังชิลีมีประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลชิลีได้จัดให้มีการออกเสียงต่อการรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ซึ่งผลการโหวตจากประชาชนทำให้ชิลีเป็นประเทศเดียวในกลุ่มลาตินอเมริกา ที่ปฏิเสธ      รับร่างรัฐธรรมนูญถึงสองครั้งภายในระยะเวลาเพียง 15 เดือน[1] ด้วยคะแนนเสียง 55.76% ต่อ 44.24% โดยมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในครั้งนี้ถึง 84.5% การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของชิลี สืบเนื่องมาจากผลของการประท้วงใหญ่เมื่อปี 2562 ที่ประชาชนชาวชิลีออกมารวมตัวกันกว่า 1.2 ล้านคน เรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสาธารณสุข การศึกษา และที่อยู่อาศัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2523[2] โดยรัฐบาลภายใต้อำนาจการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งล้าสมัยและไม่ทันต่อสภาวะสังคมของชิลีในปัจจุบัน เนื่องจากสาระของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน และกลุ่มชนชั้นสูง ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้รับการปรับปรุงในครั้งแรกได้เพิ่มสาระการคุ้มครองสิทธิของชนชาวพื้นเมือง การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ การกำหนดให้มีจำนวนสตรีอย่างน้อยกึ่งหนึ่งดำรงตำแหน่งในสถาบัน/หน่วยงานของรัฐ และร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้รับการปรับปรุงในครั้งที่ 2 มีประเด็นการคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ที่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำเพียงเล็กน้อยจาก รัฐธรรมที่บังคับใช้ในปัจจุบัน และอาจเพิ่มอัตราการทำแท้งผิดกฎหมายในประเทศ

หลังคณะกรรมการเลือกตั้งประกาศผลฯ ประธานาธิบดีกาเบรียล โบริก ของชิลี ได้กล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ โดยได้กล่าวปิดการอภิปรายเกี่ยวกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขณะนี้ หลังจากความพยายามในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญล้มเหลวมาแล้วถึงสองครั้ง โดยต้องการดูแลปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ เช่น การปฏิรูประบบเงินบำนาญและภาษี ในขณะที่ นาย โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ ซึ่งเป็นอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในครั้งที่นายกาเบรียล โบริกลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2564 ได้เรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขและการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล ในด้านสังคม และความมั่นคง และความเสื่อมโทรมลงของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และองค์กรต่าง ๆ คาดการณ์ว่าหากรัฐบาลไม่มีการดำเนินการใด ๆ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลกระทบต่อ GDP ของชิลีที่อาจขยายตัวได้ไม่ถึง 1.5%[3] ในปี 2567 แม้อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และอยู่ในระดับ 4.5% ในปัจจุบัน แต่ค่าครองชีพและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และอยู่ในระดับ 8.9% ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลแก่รัฐบาล

จากการสืบค้นข้อมูลทางสถิติของ สคต. ณ กรุงซันติอาโก พบว่า ตัวเลขการนำเข้าสินค้าของไทยมายังชิลีในช่วงก่อนการโหวตร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2565 การนำเข้าของชิลีมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ในช่วงก่อนการโหวตร่างฯ เพียง 1 เดือนในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงอย่างมาก และลดลงต่อเนื่องภายหลังการโหวตร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกันยายน 2565 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจ

ชิลีนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในช่วงปี 2565 – 2566 (ค.ศ. 2022-2023) ชิลีนำเข้าสูงสุดจากเวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ ซึ่งการนำเข้ามีมูลค่าลดลงจากทุกประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมูลค่าการนำเข้าจากไทยลดลงจาก 680 ล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 483 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.94 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถึงสองครั้งภายในระยะเวลาเพียง 15 เดือน และการปฏิเสธไม่มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการชะลอทางเศรษฐกิจต่อเนื่องอีกตลอด 2 ปีข้างหน้า จนกว่าจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่[1] ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของชิลี ที่ผ่านมา สินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกไปยังชิลีมีอัตราการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดี สินค้าไทยที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลากระป๋อง อาหารสัตว์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ฝ้าย รวมทั้ง สินค้าในกลุ่มน้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล ที่มีการอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8,900 ในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ไทยและชิลีมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปชิลีได้โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี และจากข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิจากความตกลงฯ พบว่า ระหว่างปี 2561 – 2565 (ยกเว้นปี 2563) มีการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในการส่งออกสูงที่สุดในปี 2565[1] ได้แก่ รถบรรทุกสำหรับขนส่งของ ถุงมือและยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคล ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (กระป๋อง) อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของชิลีเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชิลี แต่ชิลียังคงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในหลายหมวด ซึ่ง สคต. ณ กรุงซันติอาโกจะติดตามสถานการณ์และนโยบายของภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่มีความประสงค์ในการขยายตลาดมายังประเทศชิลี โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaitrade@ttcsantiago.cl

______________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

ธันวาคม 2566

[1] กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

[1] https://english.elpais.com/international/2023-11-01/keys-to-understanding-the-new-draft-of-chiles-constitution-from-the-welfare-state-to-the-polls.html

[1] https://www.emol.com/noticias/Internacional/2023/12/18/1116069/resultados-plebiscito-reacciones-internacionales.html

[2] https://www.nytimes.com/es/2023/12/17/espanol/chile-plebiscito-constitucional-resultados.html

[3] https://www.emol.com/noticias/Economia/2023/12/16/1115918/plebiscito-constitucional-economia.html

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย หลังชิลีมีประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

Login