การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคเกษตรกรรมทั่วโลก ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรไม่แน่นอน รวมถึงกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ในกรณีของโคลอมเบียประสบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่ส่งผลกระทบให้เกิดความแห้งแล้งสู่ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่มีฝนตกหนักจากพายุหมุนเขตร้อน ดินถล่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมในประเทศ ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ในปีนี้มีระยะเวลาเกิดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน และคาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี จากข้อมูลของหน่วยงานวางแผนการเกษตรกรรมในชุมชน (Rural Agricultural Planning Unit: UPRA) และสถาบันอุทกวิยา อุตุนิยมวิทยา และสิ่งแวดล้อมศึกษา (Institute of Hydrology, Meteorology, and Environmental Studies: IDEAM) ของโคลอมเบีย คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) อาจใช้ระระเวลายาวนานจนถึงไตรมาสแรกของปี 2568 โดยภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมากที่สุด คือ แอนเดียน (โบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู และเวเนซูเอลา) และแคริบเบียน ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรในประเทศที่ได้รับผลกระทบจะมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยร้อยละ 11 ของพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม และร้อยละ 14.8 ของพื้นที่เกษตรทั่วไปและเขตชุมชนมีความเสี่ยงในระดับต่ำถึงปานกลาง
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคพืช และการออกดอกอย่างถาวร ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากปริมาณน้ำส่วนเกินจะเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีระดับน้ำใต้ดินสูงและพื้นที่ที่มีความเปราะบางสูง เช่น เขตลุ่มแม่น้ำ ซึ่งการคาดการณ์ผลกระทบดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนป้องกันและเตรียมการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น[1]
ปรากฏการณ์ “La Niña” และ “El Niño”
ในช่วงสภาวะปกติในมหาสมุทรแปซิฟิก ลมสินค้า (trade winds) จะพัดจากด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเส้นศูนย์สูตรไปยังด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากภูมิภาคอเมริกาใต้ไปยังภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่ปรากฏการณ์ El Niño และ La Niña เป็น 2 รูปแบบภูมิอากาศที่ตรงข้ามกัน ส่งผลให้เกิด El Niño-Southern Oscillation (ENSO) cycle หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรและความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ทำลายสภาวะปกติ
ปรากฏการณ์ El Niño และ La Niña ส่งผลกระทบทั่วโลกทั้งในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดไฟป่า การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และสภาพเศรษฐกิจ การเกิดปรากฏการณ์ El Niño และ La Niña ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 9 – 12 เดือน แต่บางครั้งอาจใช้ระยะเวลานานหลายปี ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 – 5 ปี อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ไม่ได้เป็นไปตามกำหนดหรือมีความคลาดเคลื่อนตลอดเวลา โดยทั่วไปปรากฏการณ์ El Niño จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าปรากฏการณ์ La Niña
ผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้นของทั้ง 2 ปรากฏการณ์ ได้แก่
1) การลดลงของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้[1]
2) การเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศผู้ผลิตอาหารรายสำคัญภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น อินเดีย ไทย ออสเตรเลีย ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตทางเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก และจากประวัติของการเกิดปรากกฏการณ์ La Niña ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ได้รับประโยชน์จากปริมาณผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ La Niña ที่รุนแรง ช่วงปีที่เกิดปรากฏการณ์ La Niña ที่รุนแรง ในปี 1999, 2007 และระหว่างปี 2010-2011 ผลผลิตข้าวของประเทศสมาชิกอาเซียนมีปริมาณเพิ่มขึ้น
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
ปรากฏการณ์ El Niño ของโคลอมเบียสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 และเข้าแทนที่ด้วยปรากฏการณ์ La Niña ในเดือนกันยายน 2567 ทั้งนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจาก สถาบันอุทกวิยา อุตุนิยมวิทยา และสิ่งแวดล้อมศึกษา (Institute of Hydrology, Meteorology, and Environmental Studies: IDEAM) ของโคลอมเบียยังมีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการกำหนดระยะเวลาและขนาดของปรากฏการณ์ La Niña ได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ดี คาดว่าปรากฏการณ์ La Niña จะส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการบรรเทาผลกระทบจากสภาพความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์ El Niño สำหรับพืชเกษตรบางชนิดในโคลอมเบีย เช่น กาแฟ ที่จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในปีนี้ ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดได้รับผลกระทบทางลบ มีปริมาณลดลง เช่น มันฝรั่ง อ้อย กล้วย ข้าว ข้าวโพด และจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงทำให้ราคาผลผลิตดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น
ผลกระทบทางลบทั้งจากปรากฏการณ์ El Niño และ La Niña ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรมีจำนวนลดลง ส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น และราคาสินค้าอาหารในภาพรวมมีราคาสูงขึ้นด้วย[1]
ในส่วนของประเทศไทย เริ่มได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ La Niña ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของไทย และส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว ที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ ปรากฏการณ์ El Niño ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างปี 2566 – 2567 ได้รับการบันทึกว่าเป็น 1 ใน 5 ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Niño ที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก
จากข้อมูลตารางที่ 1 โคลอมเบียนำเข้าข้าว (พิกัดศุลกากร 1006) จากไทยเป็นลำดับที่ 6 ในปี 2566 และนำเข้าข้าวกึ่งขัดสี หรือขัดสี (พิกัดศุลกากร 1006300090) จากไทยเป็นลำดับที่ 4 จากการนำเข้าจำนวน 9 ประเทศ โดยเปรูและเอกวาดอร์มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดรวมกันที่ร้อยละ 87 และไทยมีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 3 อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวของทั้งเปรูและเอกวาดอร์ได้รับผลกระทบทางลบจากปรากฏการณ์ La Niña เช่นเดียวกับโคลอมเบีย
ผลกระทบด้านลบของปรากฏการณ์ La Niña ในเปรู ส่งผลให้น้ำฝนทางชายฝั่งตอนเหนือของประเทศมีปริมาณลดลง ทำให้เกิดความแห้งแล้งและปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าว และอ้อย ในขณะที่น้ำฝนในพื้นที่เชิงเขาและพื้นที่ป่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อวงจรการเพาะปลูกและเกษตรกรรม และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง
ปรากฏการณ์ El Niño และ La Niña มีความรุนแรงและส่งผลกระทบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ทำการเกษตรกรรม โดยภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในสาขาที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ[1] ดังนั้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ส่งให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย และโคลอมเบียจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในส่วนของไทยอาจได้รับส่วนแบ่งตลาดข้าวในโคลอมเบียเพิ่มขึ้น เนื่องจากโคลอมเบียมมีแนวโน้มเพิ่มการนำเข้าสินค้าข้าวจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ La Niña จะส่งผลดีต่อผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน สคต.ฯ เห็นว่า หากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรุนแรงทั้งจากปรากฏการณ์ El Niño ปรากฏการณ์ La Niña และปรากฏการณ์ ENSO ผู้ประกอบการไทย เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมพร้อมต่อผลกระทบทางลบที่จะเกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้แก่
1) เกษตรกรควรประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
2) การสนับสนุนและส่ง เสริมการทำประกันภัยพืชผล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
3) การบริหารจัดการวัตถุดิบ และศึกษาตลาดล่วงหน้า เพื่อรับมือกับความผันผวนของต้นทุน สินค้าเกษตร และราคาสินค้าเกษตร เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
4) ภาครัฐสนับสนุนการจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูก โดยเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นทีนอกเขตชลประทาน พร้อมทั้งปรับปรุง เส้นทางน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่าง มีประสิทธิภาพ
5) การพัฒนาเทคโนโลยีการพยากรณ์ อากาศ และระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร สามารถวางแผนเพาะปลูก และเตรียม รับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว
6) การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ ที่ทนแล้ง ทนร้อน และทนน้ำท่วม รวมทั้งส่ง เสริมการเพาะปลูกพืชและพันธุ์ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
_____________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
ตุลาคม 2567
[1] https://cambio.com.co/articulo/fenomenos-el-nino-y-la-nina-que-son-y-cuales-son-sus-impactos-en-america-latina/
[1] The leading media and business intelligence organization dedicated to sustainable development and ESG – https://blog.croper.com/el-fenomeno-de-la-nina-y-su-impacto-en-la-agricultura-colombiana/#:~:text=El%20fen%C3%B3meno%20de%20La%20Ni%C3%B1a%20hace%20que%20se%20retrasen%20siembras,lleva%20los%20precios%20al%20alza
[1] A leading expert in credit insurance, debt collection and information services, facilitating trade – https://www.coface.com/news-economy-and-insights/la-nina-takes-over-el-nino-a-favorably-cooler-weather-but-many-unknowns
https://www.eco-business.com/opinion/la-nina-boon-or-bane-for-southeast-asias-food-security/
[1] Colombian´s online news – https://elcentavo.co/articulo/el-fenomeno-de-la-nina-podria-extenderse-hasta-el-primer-trimestre-de-2025/14717/
NOAA’s National Ocean Service – https://oceanservice.noaa.gov/facts/ninonina.html
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลกระทบจาก La Niña ต่อภาคเกษตรกรรมของโคลอมเบีย