หน้าแรกTrade insightข้าว > ผลกระทบจากมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาวของอินเดียในเยอรมนี

ผลกระทบจากมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาวของอินเดียในเยอรมนี

Photo by Nandhu Kumar on Unsplash
Photo by Nandhu Kumar on Unsplash

ราคาข้าวในประเทศอินเดียเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11.50 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลอินเดียสั่งระงับการส่งออกข้าวขาวไปยังต่างประเทศทั่วโลกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการควบคุมราคาข้าวสำหรับการบริโภคในประเทศไม่ให้สูงเกินไป และเพื่อสำรองข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคข้าวในประเทศ ซึ่งประเทศอินเดียมีประชากรบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียยังอนุญาติให้มีการส่งออกข้าวบาสมาติและข้าวกล้องได้ จากนโยบายรระงับการส่งออกข้าวขาวของอินเดียคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของอินเดียอาจทำให้ราคาข้าวขาวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากสถิติและการคาดการณ์จากสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา อินเดียมีการส่งออกข้าวขาวจำหน่ายทั่วโลกจำนวนกว่า 10 ล้านตัน จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด 22 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของอินเดีย

ผู้เชี่ยวชาญกังวลต่อวิกฤตอุปสงค์ในประเทศนำเข้าข้าว

ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และสภาวะสงครามในประเทศยูเครน รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้มีฝนมรสุมตกหนักในประเทศอินเดีย และทำลายพืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ทำให้การผลิตพืชผลทางการเกษตรลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียได้มีการสั่งระงับการส่งออกปลายข้าวไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2565 และมีการเรียกเก็บภาษีส่งออกร้อยละ 20 สำหรับการส่งออกข้าวคุณภาพสูง เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น

อินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั่วโลก จากการวิเคราะห์ของบริษัท Gro Intelligence (บริษัทให้บริการวิเคราะห์ตลาดชื่อดังของโลก) พบว่า การประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวของอินเดียอาจทำให้เกิดวิกฤตอุปสงค์ในประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าข้าว เช่น ประเทศในแอฟริกา ตุรกี และซีเรีย ที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้มีราคาพุ่งสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ B.V. Krishna Rao ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดียยังกล่าวเตือนถึงผลกระทบร้ายแรงของการระงับการส่งออกข้าวขาวต่อประเทศผู้นำเข้าข้าว จะเป็นการยากเป็นพิเศษสำหรับประเทศในแอฟริกาที่จะนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นทดแทนการนำเข้าจากอินเดีย อย่างไรก็ตาม ประเทศส่งออกสำคัญอื่นๆ เช่น เวียดนาม หรือไทย ก็ไม่มีข้าวสำรองเพียงพอที่จะมาทดแทนได้

Photo by REUTERS/Amit Dave/File Photo

สถานการณ์การนำเข้าข้าวในเยอรมนี

เยอรมนีถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป และเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสำหรับข้าวไทย โดยในปีการตลาด (marketing year)  2021/2022 ที่ผ่านมา เยอรมนีนำเข้าข้าวจากประเทศนอกยุโรปคิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 66,476 ตัน มากเป็นอันดับ 9 ของสหภาพยุโรป โดยร้อยละ 90 ของการนำเข้าเป็นข้าวสารที่สีแล้วหรือสีบางส่วน (milled & semi-milled) อินเดียครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในเยอรมนีมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 22.7 รองลงมา คือ กัมพูชา(16.20%) ปากีสถาน (15.40%) เวียดนาม (14.1%) สหรัฐอเมริกา (12.30%) และไทย (11.70%)

*ข้อมูลสถิติล่าสุดจาก EUROSTAT (COMEXT system) ณ วันที่ 26 ก.ค. 66

แนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคข้าวในเยอรมนี

แม้ข้าวจะไม่ใช่อาหารหลักในเยอรมนี แต่ปัจจุบันผู้บริโภคได้หันมานิยมรับประทานข้าวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลของกระทรวงอาหารและการเกษตรของเยอรมนีชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการบริโภคข้าวในเยอรมนีเพิ่มขึ้นและขยายตัวต่อเนื่อง ในปี 2021/22 มีการบริโภคข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี[1] ขยายตัวร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีในปี 2017/18 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยผู้บริโภคในเยอรมนีนิยมรับประทานข้าวเมล็ดยาวคุณภาพดีเป็นพิเศษ เช่น ข้าวบาสมาติ ข้าวกลิ่นหอมของสหรัฐฯ ข้าวหอมมะลิไทย ทั้งนี้ ข้าวไทยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค

ข้อคิดเห็นของสคต.

  1. การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาวะสงครามในยูเครน และปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ความมั่นคงด้านอาหารกลายเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น อินเดียเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกต้องมีมาตรการระงับการส่งออกข้าว หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก มีแนวโน้มใช้มาตรการลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการนำเข้าอาหารจากประเทศผู้ส่งออกหลากหลายมากขึ้น ไทยอาจจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และมีโอกาสส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้น
  2. อุปสรรคและความท้าทายของการส่งออกข้าวไทย ได้แก่ ราคาส่งออกที่สูงขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง สถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงจากปกติ รวมถึงประเทศคู่ค้าหันไปนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม และกัมพูชามากขึ้น ซึ่งมีต้นทุนการผลิต และราคาขายต่ำกว่าไทย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า ถึงแม้ว่าคุณภาพข้าวจะด้อยกว่าไทย
  3. กระแสพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพ และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารเพิ่มมากขึ้น นับเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกข้าวของไทย โดยนอกจากการนำเสนอข้าวพรีเมียม เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีคุณภาพและรสชาติเป็นที่รู้จักในตลาดเยอรมนีแล้ว ข้าวทางเลือกเพื่อสุขภาพที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสี ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวออร์แกนิค เจาะตลาดยุโรปเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ส่งออกข้าวไทยอาจพิจารณานำระบบการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบแหล่งที่มาได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น

www.zeit.de

[1] ข้อมูลสถิติล่าสุดจาก Bundesministerium für Ernährung und Landwirtschaft (bmel-statistik) ณ วันที่ 26 ก.ค. 66

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login