หน้าแรกTrade insight > ผลกระทบของปรากฏการณ์ EL Ninos Costero และ El Niño ต่อเปรู

ผลกระทบของปรากฏการณ์ EL Ninos Costero และ El Niño ต่อเปรู

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้ออกประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Niño) อาจยังคงอยู่ทั่วโลกเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน หรืออาจนานถึง 2 ปี โอกาสการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม โดย WMO คาดการณ์ว่าการเกิดปรากฏการณ์ El Niño จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม มีโอกาสประมาณร้อยละ 60 ในช่วงมิถุนายน – สิงหาคม ประมาณร้อยละ 70 และในช่วงกรกฎาคม – กันยายน ประมาณร้อยละ 80

การแจ้งเตือนดังกล่าวของ WMO ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งเปรูเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Niño และปรากฏการณ์เอลนีโญตามชายฝั่ง (El Niño Costero) ซึ่งทั้ง 2 ปรากฏการณ์ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมและดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของเปรู ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ El Niño และ El Niño Costero เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนในนานน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้เส้นศูนย์สูตร อย่างไรก็ดี ผลกระทบของปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของโลก รวมถึงระยะเวลา และความรุนแรง

จากข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเปรู (MINAM) ผลกระทบของ El Niño Costero มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผลกระทบจาก El Niño Costero ที่เกิดขึ้นล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ทำให้ชาวเปรูจำนวนกว่า 67,200 ไม่มีที่อยู่อาศัย ประชาชนประมาณ 391,000 คน ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม มีผู้เสียชีวิต จำนวน 99 ราย และเส้นทางคมนาคมทางถนนได้รับความเสียหายเป็นระยะทางกว่า 640 กิโลเมตร
คาดการณ์ผลกระทบของ El Niño Costero ที่อาจเกิดขึ้นต่อเปรู
• การเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝนส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ต่าง ๆ และเป็นการช่วยฟื้นฟูสภาพป่าที่แห้งแล้งตามชายฝั่งทางตอนเหนือของเปรู อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ El Niño Costero มีแนวโน้มที่จะลดความรุนแรงของการเกิดน้ำค้างแข็งในพื้นที่ทางตอนกลางและตอนเหนือของพื้นที่ราบสูง Sierra
• ผลกระทบที่ทำให้ธารน้ำแข็งละลายตัวเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก โครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย โอกาสการเกิดไฟป่าที่จะเพิ่มขึ้น รวมถึง ผลผลิตหลักทางการเกษตรของเปรูมีแนวโน้มลดลง เช่น มันฝรั่ง เนื่องจากโรคพืช

El Niño ส่งผลกระทบในหลายด้านในการดำรงชิวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ การเพิ่มขึ้น/ลดลงของสายพันธุ์ปลา การเกษตรกรรม (น้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงของปริมาณผลผลิตทางการเกษตร โรคและศัตรูพืช) การปศุสัตว์ เปรูประสบกับผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Niño ตั้งแต่ปี 2523 โดยเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปี 2525 – 2526 และช่วงปี 2540 – 2541 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคเศรษฐกิจและการประมงของเปรู โดยจากข้อมูลการศึกษาของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (CEPAL) พบว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของเปรูที่เกิดจาก El Niño ในช่วงปี 2540 – 2541 มีมูลค่าสูงถึง 3,569 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงปี 2525 – 2526 เศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ 10 ทั้งนี้ เปรูยังคงประสบกับปรากฏการณ์ El Niño และได้รับผลกระทบในรูปแบบของภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลเปรูมีการจัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศทำหน้าที่ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาของภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีการจัดทำแผนงานและเพิ่มงบประมาณในการป้องกันปัญหาฯ รวมทั้ง มีการจัดทำมาตรการในการฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ และโครงสร้างพื้นฐาน

บทวิเคราะห์/ความเห็นของ สคต.
มาตรการในการป้องกันผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Niño อาจรวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยที่จะลดความเสียหายจากแรงลม เช่น การสร้างหลังคาแบบหน้าจั่ว แทนการสร้างหลังแบบแบนราบ การหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุมุงหลังคาแบบอุ้มน้ำ การออกแบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การวางผังเมืองและการควบคุมการขยายการเติบโตของเมือง การออกมาตรการห้ามการบุกรุกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ซึ่งการดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวของรัฐบาลเปรูมีการใช้งบประมาณประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลเปรู จะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทยที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อาทิ ปูนซีเมนต์ ซึ่งที่ผ่านมาเปรูยังเคยนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทย อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกซีเมนต์สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลกในปี 2564 และอันดับที่ 6 ของโลกในช่วงปี 2560 – 2563 ไทยยังคงมีโอกาสในการขยายการส่งออกซีเมนต์ไปยังเปรู
แม้ว่าผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างของไทยจะเน้นการส่งออกภายในภูมิภาคเอเชีย สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าการขยายการส่งออกและการแสวงหาตลาดเป้าหมายใหม่จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคลาตินอเมริกา ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวผู้ประกอบการควรพิจารณาปรับกระบวนการผลิตโดยลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูงให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
_________________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤษภาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login