กระทรวงพาณิชย์ปากีสถานออกคำสั่งตามพระราชบัญญัติ (Statutory Regulatory Order: SRO) อนุญาตให้ทำการค้าแบบ Bater Trade (การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่มีการชำระเงินระหว่างกัน) กับอิหร่านและรัสเซียตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566
ตาม SRO การยื่นคำขอเพื่อขออนุญาตการนำเข้าและการส่งออกสินค้าภายใต้ Barter Trade ระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน (B2B) จะต้องดำเนินการโดยผู้ค้าหรือตัวแทนที่ได้รับอนุญาต ผ่านทางออนไลน์ BT Module ในระบบ WeBOC โดยคำขอจะต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้: ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ลักษณะ ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าที่จะนำเข้า ลักษณะ ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าที่จะส่งออก ความถูกต้องและวันหมดอายุของสัญญา และเอกสารรับรองว่าสินค้าจะต้องมาจากประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ทำ Barter Trade
กระทรวงพาณิชย์อาจกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเฉพาะของประเทศหรือสินค้าสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าภายใต้กลไกการแลกเปลี่ยนสินค้าแบบ B2B การส่งออกและนำเข้าภายใต้ SRO นี้ จะอนุญาตเฉพาะสินค้าและประเทศตามที่ระบุไว้ในภาคผนวก-A ของ SRO
ทั้งนี้การค้าสินค้าภายใต้ข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน (B2B BARTER TRADE) จะได้รับอนุญาตบนหลักการของ “การนำเข้าตามด้วยการส่งออก” (import followed by export) การส่งออกจะดำเนินการภายใต้มูลค่าของสินค้านำเข้า โดยขึ้นอยู่กับกลไกที่ยอมรับได้ที่ระบุไว้ตามความจำเป็นใดๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าชาวปากีสถานจะต้องรับผิดชอบในการหักล้างมูลค่าสินค้าเป็นรายไตรมาส กล่าวคือ ภายใน 90 วันหลังจากออกใบอนุญาต อนึ่ง การค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ได้รับการหารือในการเจรจาระหว่างอิหร่านและปากีสถาน
ความเห็นสำนักงาน
อิหร่านถูกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศได้ ซึ่งกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศโดยตรง การที่อิหร่านกับปากีสถานจัดทำข้อตกลงให้มีการค้าแบบ Barter Trade ระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน จะส่งผลให้การค้าระหว่าง 2 ปรเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น ลดการพึ่งพึงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศที่ไม่ได้มีข้อตกลงแบบ Barter Trade อย่างเช่นประเทศไทย อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้ามายังอิหร่าน เช่น สินค้าข้าวไทยกับสินค้าข้าวอิหร่าน เป็นต้น
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)