หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ปัญหากบฏฮูตี (Huthi) เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจของยุโรป

ปัญหากบฏฮูตี (Huthi) เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจของยุโรป

เพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการโจมตีเรือสินค้าของกบฏฮูตีในทะเลแดง สหภาพยุโรป (EU) จึงพยายามวางแผนส่งเรือรบไปยังภูมิภาคนี้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024 โดย EU ประสงค์ที่จะสนับสนุนกำลังทหารให้แก่อเมริกัน อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ ที่ขณะนี้ได้ลาดตระเวนในน่านน้ำย่านนี้มาหลายสัปดาห์แล้ว โดยพวกเขาได้ป้องกันการโจมตีนับครั้งไม่ถ้วนจากกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงมา และในสัปดาห์ที่ผ่านมาเอกอัครราชทูตประจำ EU ทั้ง 27 ท่าน ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (EEAS – European External Action Service) ว่า ควรย้ายเรือพิฆาตหรือเรือฟริเกต (Frigate) อย่างน้อย 3 ลำ ไปประจำการยังทะเลแดงเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี โดยหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ได้รับข้อมูลเอกสารการวางแผนของ EU ซึ่งเป็นเอกสารพื้นฐานสำหรับใช้ในการอภิปรายต่อไป และในเอกสารฉบับนี้ได้งแสดงข้อกังวลใจว่า “หาก EU เพิกเฉยหรือไม่ทำอะไรเลย ก็น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจยุโรปในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้านำเข้า ทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าที่ปกติขนส่งผ่านทะเลแดง มีราคาสูงขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ด้านธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์ต่างก็ออกมาเน้นย้ำถึงผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน โดยนาย Robert Holzmann ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศออสเตรีย กล่าวในงาน World Economic Forum ในเมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ว่า “ภัยคุกคามด้านภูมิศาสตร์ทางการเมือง (Geopolitics) ได้ขยายตัวขึ้น” การโจมตีดังกล่าวอาจจะกลายเป็น “จุดเริ่มต้นที่ส่งผลกระทบในวงกว้างขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อระบบการเดินเรือในคลองสุเอซ” ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การปรับราคาสินค้าขึ้น ด้านนาย Ralph Ossa หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ฯ ว่า การค้าโลกถึง 12% ใช้ช่องทางผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซ โดย 1 ใน 3 ของเรือคอนเทนเนอร์ทั้งหมดที่เดินทางจากเอเชียไปยังยุโรปใช้เส้นทางนี้ และ “ในตอนนี้ปัญหาจะใหญ่ขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าวิกฤติดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกนานแค่ไหน” สำหรับกลุ่มกบฏฮูตีมีฐานตั้งอยู่ในประเทศเยเมน ได้ออกมาโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านในทะเลแดงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบันบริษัทเดินเรือสมุทรจำนวนมากหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว และต้องเดินทางอ้อมไปทางทวีปแอฟริกาแทน ซึ่งจะมีระยะทางเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 กิโลเมตร สำหรับ บริษัทในยุโรปหมายความว่า ค่าระวางเรือและค่าประกันภัยจะปรับสูงขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ พวกเขายังเจอกับปัญหาราคาน้ำมันที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น หากปัญหาสงครามในฉนวนกาซาลุกลามไปสู่ความขัดแย้งที่หนักกว่าเดิมอีกด้วย โดยนาย Michael Heise หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทผู้จัดการสินทรัพย์ HQ Trust ออกมาเตือนว่า “หากสถานการณ์ดังกล่าวเลวร้ายลงอีก จะส่งผลกระทบในวงกว้างในทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ และปลายน้ำ ที่จะปรับราคาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะค่าขนส่งที่สูงขึ้นที่เกิดจากปัญหาคอขวด (Bottlenecks) ในด้านการขนส่ง” ซึ่งขณะนี้เริ่มสังเกตเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการโจมตีดังกล่าวได้บ้างแล้ว นาย Volker Treier หัวหน้าฝ่ายการค้าต่างประเทศของสภาหอการค้าพาณิชย์และอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK – Der Deutsche Industrie- und Handelskammertag) กล่าวว่า “โกดังบางแห่งเริ่มว่างและเริ่มมีการหยุดชะงักในกระบวนการผลิตของบริษัทเยอรมันบางส่วน” ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายอย่างเช่น บริษัท Tesla ในเมือง Grünheide ติดกรุงเบอร์ลิน บริษัท Volvo ในประเทศเบลเยี่ยม และบริษัท Suzuki ในประเทศฮังการี ต่างก็ต้องประกาศปิดโรงงานระงับการผลิตชั่วคราว

 

นาย Vincent Clerc ผู้บริหารของบริษัท Maersk จากประเทศเดนมาร์ก กล่าวที่เมืองดาวอสว่า “ปัญหาการติดขัดในห่วงโซ่อุปทานอาจกินเวลานาน 2 – 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ และเขาหวังว่าจะสั้นกว่านี้ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะใช้เวลานานกว่านั้น เนื่องจากไม่อาจคาดการณ์ได้เลยว่าสุดท้ายจะเป็นเช่นไร ตามการวิเคราะห์ของธนาคาร Bank of America ประเมินว่า ต้นทุนการขนส่งสินค้าทั่วโลกน่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งกว่า 120 ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังติดตามผลกระทบจากปัญหานี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น (ซึ่งรวมถึงวัตถุดิบ) อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นได้อีกครั้ง จากงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า ราคาค่าขนส่งที่พุ่งขึ้นนี้ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะเป็นไปในลักษณะหรือทิศทางใด ดังนั้น สิ่งนี้จึงไม่สามารถถ่ายโอนไปยังสถานการณ์ปัจจุบันได้โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามนาย Jörg Krämer นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Commerce Bank ดูประเด็นเงินเฟ้อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาราคาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นเมื่อนำมาดูโดยรวมแล้วปัญหาดังกล่าว น่าจะส่งผลกับอัตราเงินเฟ้อ “เพียงเล็กน้อย” เท่านั้น เพราะสัดส่วนการบริโภคของผู้บริโภคเมื่อเทียบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังน้อยเกินไปที่จะส่งผลกระทบออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม แน่นอนปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นเพราะระยะทางในการขนส่งไกลกว่าเดิม และเรือที่ต้องเดินทางนานขึ้นจนทำให้ขาดแคลนเรือสมควรได้รับความสนใจมากขึ้น แต่วิกฤตฮูตีในปัจจุบันเทียบไม่ได้กับวิกฤติการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา เพราะในช่วงโควิดนั้น ท่าเรือสำคัญต่าง ๆ ในจีนต่างก็ถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน และเรือบรรทุกสินค้าเต็มเรือต่างก็รอที่จะเข้าเทียบท่า โรงงานในหลาย ๆ ที่ต่างก็ต้องระงับการผลิตเพราะขาดแคลนชิ้นส่วน หลังจากนั้นยุโรปก็ยังประสบปัญหาราคาพลังงานที่สูงขึ้นหลังจากที่รัสเซียเข้าโจมตียูเครน จนทำให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปพุ่งถึงระดับเลข 2 หลัก โดยการโจมตีของกลุ่มฮูตีไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงเท่ากับที่เคยเป็นมา นาย Stefan Kooths จากสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) จึงไม่เห็นความสำคัญที่จะแก้ไขค่าการประเมินตัวเทศกาลพัฒนาตัวทางเศรษฐกิจของสถาบันฯ แต่อย่างใด โดย Ifw คาดการณ์ว่า ในปี 2024 อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลง และเขาเห็นว่า ผลกระทบต่อการพัฒนาตัวของราคาจากวิกฤตดังกล่าว “เราสามารถรับมือได้”

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลของประเทศในยุโรปตะวันตกต่างก็ยังมีความกังวลใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา การปฏิบัติการทางเรือที่นำโดยประเทศสหรัฐฯ ที่ใช้นามว่า “Prosperity Guardian” ได้ทิ้งระเบิดในที่มั่นของกลุ่มฮูตีในประเทศเยเมน ในระหว่างที่ EU มีการปฏิบัติการเชิงรับมากกว่าเชิงรุก โดยการปฏิบัติการของ EU มีจุดประสงค์หลักเพื่อปกป้องเรือขนส่งสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมัน ตามที่นักการทูต EU ระบุว่า ขณะนี้มีฉันทามติทั่วไปในหมู่เอกอัครราชทูตเกี่ยวกับภารกิจทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการวางแผนที่จะขยาย “Operation Agenor” ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2020 ออกไปอีก และมอบอาณัติ EU ให้อีกด้วย โดยจะเป็นการรวมตัวกันของกองกำลัง 7 ประเทศ ในยุโรปภายใต้การนำของประเทศฝรั่งเศส เพื่อคุ้มครองเรือขนส่งสินค้าในช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ซึ่งเป็นช่องแคบระหว่างประเทศอิหร่านและคาบสมุทรอาหรับนั่นเอง การปฏิบัติการนี้อยู่ภายใต้ “Operation Agenor” โดยรัศมีการปฏิบัติหน้าที่จะขยายไปยังทะเลแดง แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ประเทศใดจะเข้าร่วมการปฏิบัติการดังกล่าว ในขั้นแรกประเทศสเปนส่งสัญญาณว่า จะไม่เข้าร่วม ในขณะที่เยอรมนีพร้อมที่จะส่งเรือรบเข้าร่วมปฏิบัติการดังกล่าว ในรัฐสภา EU กำลังเร่งเตรียมภารกิจดังกล่าวอย่างหนัก อย่างไรก็ตามกระบวนต่าง ๆ ก็กินเวลาและไม่น่าจะสามารถปฏิบัติการได้ก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ประการแรก สภาประเทศสมาชิกจะต้องลงเสียงรองรับแผนการปฏิบัติการดังกล่าว ประการต่อไปตามด้วยการลงคะแนนเพื่อตัดสินว่าจะเริ่มปฏิบัติการดังกล่าวได้เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นไปได้อย่างช้าที่สุดการตัดสินใจครั้งแรกเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวของ EU น่าจะเกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2024 แต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีการตัดสินใจเร็วกว่านั้น หลังจากนั้นรัฐสภาเยอรมันจึงจะสามารถหารือเรื่องดังกล่าวในรัฐสภาได้ คาดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะพรรค CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands (พรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี) พรรคฝ่ายค้านก็ได้ออกมาแสดงการสนับสนุนภารกิจดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการชี้แจงรายละเอียดการปฏิบัติการดังกล่าวอยู่ อย่างคำถามที่ว่า EU พร้อมที่จะทิ้งระเบิดที่มั่นของกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมน หรือจะจำกัดการปฏิบัติงานไว้เพราะการสกัดกั้นจรวดและโดรนของผู้ก่อการร้าย ผู้เชี่ยวชาญในตะวันออกกลางไม่เชื่อว่า กระสุนเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะทำให้กลุ่มฮูตีสงบตัวลงได้ นาย Farea al-Muslimi จาก Thinktank Chatham House ของประเทศอังกฤษเห็นว่า “การยิ่งจรวดจากระยะไกลไม่น่าจะสามารถแก้ปัญหาได้” ประเทศเยเมนกว้างมาก และกลุ่มฮูตีก็มีอุปกรณ์สงครามที่ครบครัน

 

 

จาก Handelsblatt 2 กุมภาพันธ์ 2567

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ปัญหากบฏฮูตี (Huthi) เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจของยุโรป

Login