ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มออสเตรเลียได้เผชิญกับปัญหาหลายอย่าง อาทิ ปัญหาการที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อในตลาดโลก การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนแรงงาน และความตึงเครียดของภาวะเศรษฐกิจในประเทศและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนกำลังเร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในอนาคต
ปี 2566 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มออสเตรเลียสามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยมี ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มการดำเนินธุรกิจและทิศทางอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มออสเตรเลีย ดังนี้
- ปัญหาการติดขัดในระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปี 2566 จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ และมาตรการคว่ำบาตรทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาความแออัดบริเวณท่าเรือขนส่งสินค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (ผู้ผลิตบางรายต้องปรับสูตรการผลิต) ทำให้มีการนำโมเดล Circular supply chain models เพื่อใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำเทคโนโลยียุคใหม่ (AI) มาปรับใช้และควบคุมกระบวนการผลิตมากขึ้น
- ต้นทุนด้านวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ภัยน้ำท่วม ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ราคาน้ำมันและราคาค่าขนส่งสินค้า ทำให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มมีการปรับขนาดสินค้าให้เล็กลง
- ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังดำเนินต่อไปในออสเตรเลีย ส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการอาหารต้องปรับลดระยะเวลาให้บริการ ทั้งนี้ คาดว่า ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อทิศทางภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 ปี
- ผู้บริโภคตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ (เลือกซื้อสินค้าอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นตามฤดูกาล สินค้าที่มีการผลิตที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำ และมี บรรจุภัณฑ์สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Paper-based packaging) อีกทั้งยังเป็นการกำหนดทิศทางการผลิตและทำตลาดของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในภาคอุตสาหกรรมออสเตรเลียด้วย
- การปรับใช้ระบบดิจิทัลและระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการผลิตและบริการที่มีต้นทุนต่ำ เช่น ระบบฉลากดิจิทัล (Digital expiration date label) ระบบเซ็นเซอร์และวิเคราะห์ประเมินอายุของสินค้าบนชั้นวาง สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้า และการทำตลาดออนไลน์แบบผสมผสานเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายทุกรูปแบบ
- ตลาดอาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทานเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกและมีเวลาน้อย สินค้าดังกล่าวมีราคาประหยัดและคุ้มค่า ตอบโจทย์ผู้บริโภคปัจจุบันซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหาร
- ผู้บริโภคเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยตระหนักว่า การรับประทานอาหารนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ทำให้การซื้อสินค้าอาหารจะเน้นอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อย ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ และอาหารที่มีน้ำตาลสูง ทำให้อาหารประเภท Gluten-free หรือ อาหารมังสวิรัติขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- ความนิยมดื่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการหดตัวลงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการให้ความสำคัญต่อสุขภาพการดื่มเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์จึงเป็นอีกทางเลือกที่ผู้บริโภคเลือกดื่มในช่วงการสังสรรค์นอกบ้าน
- ความต้องการสินค้า Plant-based และโปรตีนทางเลือกเพิ่มขึ้น ข้อมูลโดย Food Innovation Australia Limited : FIAL ระบุว่า ตลาดสินค้า Plant-based และโปรตีนทางเลือก (ได้แก่ สาหร่าย ถั่ว เมล็ดธัญพืช และแมลง) มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่า จะมีมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญออสเตรเลียในอีก 10 ปีข้างหน้า
…………………………………………………………………………
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
Deloitte
FIAL
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)