เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.หยางจินหลง ประธานธนาคารกลางไต้หวัน ได้ตอบข้อซักถามในสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไต้หวันในปีนี้ว่า เดิมทีคาดว่าการระบายสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการจะจบลงในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว คาดว่าอาจต้องลากยาวไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 จึงคาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณและบัญชีกลางไต้หวันได้ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ว่ามีการหดตัวร้อยละ 3.02 โดยคาดว่ามูลค่าการขยายตัวตลอดปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 1.67 อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ของสำนักงบประมาณฯ ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบจากการใช้จ่ายภาคประชาชนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการคืนเงินภาษีให้ประชาชนคนละ 6,000 เหรียญไต้หวัน เชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนได้มากขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจของไต้หวันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3-0.45
นอกจากนี้ ดร.หยางฯ ยังชี้ว่า ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะชะลอดตัว แต่ในระยะหลังมานี้ สถาบันทางเศรษฐกิจหลายแห่งเริ่มปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของยุโรปและสหรัฐฯ โดยเชื่อว่าในปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวแต่จะขยายตัวต่ำกว่าปีที่แล้ว พร้อมนี้ ดร.หยางฯ ยังให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เดิมทีคาดว่าการระบายสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว อาจต้องรอจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ทุกอย่างถึงจะเข้าที่ ซึ่งหากการส่งออกมีการหดตัว จะทำให้การนำเข้าและการลงทุนหดตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เมื่อถึงไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ดร.จางเจี้ยนอี ประธานสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน (Taiwan Institute of Economic Research) ก็ชี้ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของไต้หวันมีการขยายตัวดี แต่การบริโภคภายในไต้หวันกลับอ่อนแรง แต่ปีนี้ เมื่อภาคค้าปลีกและร้านอาหารมีการขยายตัวสูงขึ้น กลับต้องพบกับปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับการที่ราคาสินค้าในไต้หวันปรับเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เชื่อว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปีนี้น่าจะมากกว่าร้อยละ 2 ในขณะที่ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการที่ความต้องการในตลาดโลกหดตัว ส่งผลให้อาจต้องรอถึงไตรมาสที่ 4 หรือช่วงต้นปีหน้า มูลค่าส่งออกจึงจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ทำให้คาดว่าในปีนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันอาจไม่ถึงร้อยละ 2
ที่มา: United Daily News / Commercial Times (May 25, 2023)
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
หลังจากที่ภาคการส่งออกของไต้หวันมีการขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้เริ่มประสบกับภาวะชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 17.7 ในขณะที่มูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 16.9 โดยที่มูลค่านำเข้าในแต่ละหมวดสินค้าส่วนใหญ่ต่างหดตัวลง โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์ ที่มีการหดตัวร้อยละ 27.9, 0.8 และ 22.3 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนกลับมีการขยายตัวร้อยละ 14.3 คาดว่าได้รับอานิสงส์จากปริมาณความต้องการยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในตลาด ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)