หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > ประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ประชุมหารือแนวทางส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ท่ามกลางความต้องการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และยาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเวียดนามมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเวียดนาม โดยเฉพาะอบเชยและโป๊ยกั้กสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงต่างๆ ในการพัฒนาได้

นาย Vu Ba Phu ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนามภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเน้นย้ำว่า ด้วยแหล่งสมุนไพรที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ เวียดนามจึงมีศักยภาพและข้อได้เปรียบในการพัฒนาภาคส่วนนี้ให้เป็นอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจหลัก พื้นที่เพาะปลูกอบเชยในเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 150,000 เฮคตาร์ คิดเป็นร้อยละ 17 ของพื้นที่อบเชยทั่วโลก เวียดนามเป็นผู้ผลิตและส่งออกอบเชยรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกในแง่ของผลผลิต รองจากอินโดนีเซียและจีน ในขณะเดียวกัน โป๊ยกั้กเป็นพืชที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในเวียดนามและจีน

ตลาดส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์จากอบเชย โป๊ยกั้ก และพืชสมุนไพรมีการขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ของผู้บริโภค การทำฟาร์มและการแปรรูปอบเชยและพืชสมุนไพรของเวียดนามมีการเติบโตและมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในทิศทางของการลดผลิตภัณฑ์ดิบและการทำฟาร์มแบบดั้งเดิม เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปที่แข่งขันได้ และส่งเสริมการผลิตตามห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อบเชยและพืชสมุนไพรของเวียดนามได้ในอนาคต

ในส่วนของตลาด ผลิตภัณฑ์อบเชยและโป๊ยกั้กของเวียดนามมีการบริโภคอย่างมากในหลายประเทศในเอเชียใต้ (อินเดีย        บังคลาเทศ ปากีสถาน) ตะวันออกกลาง (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เกาหลี) สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป

ในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกอบเชยและโป๊ยกั๊กของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 276 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับตลาดสมุนไพรทั่วโลก

นาย Bui Trung Thuong ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าเวียดนามในอินเดียกล่าวว่า อินเดียนำเข้าเครื่องเทศประมาณ 11-12 ล้านตัน ต่อปี ในปี 2565 – 2566 เวียดนามส่งออกอบเชย 32,650 ตัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของการนำเข้าอบเชยของอินเดีย

โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ในเวียดนามจำเป็นต้องกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในอินเดีย เพื่อเรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลอบเชย ไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

นาย Do Ngoc Hung ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าเวียดนามในสหรัฐอเมริการะบุว่า การส่งออกอบเชยของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐอเมริกามีมูลค่าประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการนำเข้าอบเชยทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา การแข่งขันในตลาดต่างฯ ผู้ประกอบการเวียดนามจำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้น ตั้งแต่การขยายตลาดและการพัฒนาพื้นที่ปลูกไปจนถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและกระจายผลิตภัณฑ์

สำนักงานการค้าเวียดนามในแคนาดาแนะนำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสมุนไพรพิจารณาเข้าร่วมงาน SIAL Canada ครั้งที่ 21 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านวัตกรรมอาหารที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ ซึ่งจะจัดขึ้นที่มอนทรีออลในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 และงานโภชนาการอาหารของสมาคมอาหารเพื่อสุขภาพของแคนาดา (Canadian Health Food Association: CHFA) ในต้นเดือนเมษายน 2567 ที่เมืองแวนคูเวอร์

                                         (จาก https://vietnamnews.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคที่สนใจสุขภาพมากขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากสมุนไพรเป็นวัตถุดิบธรรมชาติและปราศจากสารเคมี สามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร เพื่อบำบัดโรค ทำให้ความต้องการอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรมากขึ้น นอกจากนั้นสมุนไพรยังสามารถเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และยาสมุนไพร ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมากขึ้น ปัจจุบันมีการส่งออกสมุนไพรเวียดนามไปยังประเทศต่างๆเพิ่มขึ้น ทำให้เวียดนามได้รับรายได้จากการส่งออกสมุนไพรเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อให้อุตสาหกรรมสมุนไพรเวียดนาม เดินหน้าเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานสินค้า ผู้ประกอบการต้องสร้างกลไกตั้งแต่ต้นทางการผลิตสร้างเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็ง จัดหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจปลูกสมุนไพรแบบเต็มรูปแบบ ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพ และพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถทำการส่งออกได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login