หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > บัลแกเรียยังไม่ได้ผู้ชนะอย่างเด็ดขาดจากการเลือกตั้งล่าสุด ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

บัลแกเรียยังไม่ได้ผู้ชนะอย่างเด็ดขาดจากการเลือกตั้งล่าสุด ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 10-14 เมษายน2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest

บัลแกเรียจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 5 ของบัลแกเรียในรอบ 2 ปี หลังช่วงกลางปีที่แล้ว บรรดาพรรคฝ่ายค้านร่วมลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรี นาย Kiril Petkov และประธานาธิบดีบัลแกเรีย นาย Rumen Radev ได้แต่งตั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นาย Galab Donev ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงเพียงแค่ 46.3% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ และหลายพรรคได้รับคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่ความกังวลต่อระดับความสามารถของรัฐบาลบัลแกเรียในการจัดการกับความท้าทายที่บัลแกเรียเผชิญอยู่ โดยเฉพาะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งบัลแกเรียประกาศว่า กลุ่มพรรค GERB-SDS นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย นาย Boyko Borisov ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 26.49% ถือว่าได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ตามมาด้วยกลุ่มพรรค PP-DB ซึ่งประกอบด้วยพรรค We Continue the Change ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด นาย Kiril Petkov และพรรค Democratic Bulgaria ได้รับคะแนนเสียง 20.5% ส่วนพรรค Revival และพรรค Movement for Rights and Freedoms-DPS ได้รับคะแนนเสียง 14.16% และ 13.75% ตามลำดับ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งที่จะสามารถขึ้นมาเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศยังคงไม่แน่นอน ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่าบัลแกเรียอาจต้องจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในปีนี้

วิกฤตการณ์ทางการเมืองของบัลแกเรีย ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บัลแกเรียประสบปัญหาคอร์รัปชั่นและสถาบันการเมืองไม่เข้มแข็ง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี 2566 ของบัลแกเรียลง โดยอ้างว่าการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกของบัลแกเรีย มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน โดย IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ปี 2566 ของบัลแกเรียลงเหลือเพียง 1.4% ลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.5% ขณะที่ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์จาก 2.9% เหลือเพียง 1.6%

IMF ยังแสดงความกังวลว่า การที่แนวโน้มเศรษฐกิจของบัลแกเรียยังไม่แน่นอนจากประเด็นเรื่องการเมืองอาจทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ด้านธนาคารโลกตั้งข้อสังเกตว่า อัตราการเติบโตของ GDP ของบัลแกเรียที่ไม่สูงนัก ตลอดจนการคอร์รัปชั่นของบัลแกเรียที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของบัลแกเรีย ยิ่งไปกว่านั้น บัลแกเรียยังประสบปัญหาภาวะสมองไหลของแรงงานที่มีทักษะและมีการศึกษาทยอยย้ายออกจากประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปทำงานในประเทศที่ได้รับค่าแรงมากกว่า ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะยาว ทำให้บัลแกเรียกำลังสูญเสียความสามารถของบัลแกเรียในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการสร้างงานในประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติบัลแกเรียประจำปี 2565 เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ของบัลแกเรียมีมูลค่าประมาณ 8.883 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีภาคบริการเป็นส่วนสำคัญในขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีสัดส่วนถึง 65.5% ของ GDP ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียง 29.5% ของ GDP และด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) มีมูลค่า 2.25 พันล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของ GDP

เมื่อพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของบัลแกเรียประจำปี 2565 มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกของบัลแกเรียอยู่ที่ 4.83 หมื่นล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 39% อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าของบัลแกเรียอยู่ที่ 5.54 หมื่นล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 42% โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปยังตลาดโลกของบัลแกเรีย ได้แก่ ทองแดงบริสุทธิ์ ข้าวสาลี พลังงานไฟฟ้า ปิโตรเลียมกลั่น และยารักษาโรค โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี โรมาเนีย กรีซ อิตาลี และตุรกี ด้านสินค้านำเข้าหลักของบัลแกเรีย ได้แก่ แร่ทองแดง ก๊าซปิโตรเลียม น้ำมันปิโตรเลียมดิบ รถยนต์ และยารักษาโรค ส่วนใหญ่นำเข้าจากเยอรมนี ตุรกี กรีซ โรมาเนีย และอิตาลี จึงจะเห็นได้ว่าคู่ค้าสำคัญของบัลแกเรียคือประเทศในสมาชิกสหภาพยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อคิดเห็นของ สคต.

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของบัลแกเรียครั้งล่าสุด บ่งชี้ว่าวิกฤตทางการเมืองของบัลแกเรียยังไม่แน่นอน เนื่องจากยังไม่มีผู้ชนะที่ได้เสียงส่วนมากที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ความไม่แน่นอนนี้ ส่งผลกระทบต่อนโยบายการต่างประเทศและการค้าของบัลแกเรียทั้งในและนอกสหภาพยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือภายในสหภาพยุโรป การที่บัลแกเรียไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ อาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจนโยบายระดับสหภาพ และอาจส่งผลให้อำนาจต่อรองและพิทักษ์ผลประโยชน์ของบัลแกเรียในเวทีสหภาพยุโรป ในส่วนของผลกระทบนอกสหภาพยุโรป วิกฤตการณ์ทางการเมืองอาจทำให้บัลแกเรียต้องมุ่งเน้นการจัดการปัญหากายในประเทศก่อน รวมทั้ง ต้องปรับลดเป้าหมายและความคาดหวังในการบรรลุเป้าหมายนโยบายต่างประเทศกับคู่ค้านอกสหภาพยุโรป อาจทำให้กิจการต่างประเทศบัลแกเรียในอนาคตอันใกล้นี้ไม่โดดเด่นนัก

นอกจากนี้ วิกฤตการเมืองของบัลแกเรียอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเข้าร่วมเขตเชงเก้น (Schengen Area) และเขตยูโร (Eurozone) ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน เนื่องจากหากประเทศผู้สมัครสมาชิกยังขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง จะไม่สามารถบรรลุเกณฑ์การเข้าร่วมกลุ่มได้ ทั้งนี้ บัลแกเรียเคยกำหนดไว้ว่าจะเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นและเขตยูโรให้ได้ภายในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ทว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน การบรรลุเป้าหมายในกรอบเวลาดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยาก

ในมิติความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและบัลแกเรีย อาจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองของบัลแกเรียมากนัก เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับบัลกาเรียมีมูลค่าไม่มากนัก รวมทั้งในบัลกาเรียก็ยังไม่มีการลงทุนจากนักลงทุนไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมและความสามารถทางการแข่งขันของบัลแกเรียชะลอตัว ทั้งนี้ บัลแกเรียเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยลำดับที่ 85 จากข้อมูลล่าสุด มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบัลแกเรียประจำปี 2565 อยู่ที่ 6.47882 พันล้านบาท คิดเป็นการส่งออก 3.54732 พันล้านบาท และการนำเข้า 2.93150 พันล้านบาท โดยสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปบัลแกเรีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา ส่วนสินค้านำเข้าหลักจากบัลแกเรียมาไทย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ รวมถึงกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ

ที่มาของข้อมูล: Aljazeera, Balkan Insight, Bulgarian National Bank, Bulgarian News Agency, Central Election Commission of Bulgaria, Euronews, Observatory of Economic Complexity, Politico, Reuters, SEE News (1, 2), Sofia Globe (1, 2), VoA News, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login