ผลจากการขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศส่งผลกระทบต่อบังกลาเทศเป็นอย่างมาก โดยนอกจากส่งกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทั้งในอุตสาหกรรม และระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนี้
ปัญหาการผลิตไฟฟ้า
ประสบปัญหาการผลิตและจ่ายไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีปลดโหลดไฟฟ้าบางส่วน (load shedding) โดยระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม- ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ บังกลาเทศ ผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าความต้องการเฉลี่ย ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์ หรือราวร้อยละ ๒๐ ของอุปสงค์รวม สาเหตุเกิดจาก
(๑) วิกฤติขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ (ดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำให้ไม่สามารถเปิด L/C ชำระค่าถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่จากอินโดนีเซีย) ส่งผลให้มีโรงไฟฟ้าเพียง ๕๗ แห่งจาก ๑๗๐ แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง และมีโรงไฟฟ้า ๖๒ แห่งที่ผลิตได้เพียงครึ่งหนึ่งของศักยภาพการผลิต
(๒) ความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงในเดือนเมษายน – พฤษภาคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นฤดูร้อนและบังกลาเทศเผชิญคลื่นความร้อนที่อุณหภูมิสูงถึงระหว่าง ๔๐-43 องศาในพื้นที่บางส่วนของประเทศ
(๓) พายุไซโคลน Mocha ทำให้คลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (floating LNG Terminal) ๒ แห่งในทะเลตัองหยุดการจ่ายก๊าซชั่วคราว)
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบให้ไฟดับ/ไฟตกทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ร้านค้า โรงแรม โรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องเตรียมน้ำมันสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นอกจากนี้ยังส่งผลให้สำนักงานการประปาและระบายน้ำกรุงธากา (Dhaka WASA) ไม่มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับสูบน้ำเข้าระบบ จึงมีหลายพื้นที่ ที่ไม่มีน้ำประปามาตั้งแต่ต้น มิ.ย. ๒๕๖๖ ในส่วนภาคอุตสาหกรรมและบริการ โรงงานหลายแห่งต้องหยุด หรือชะลอการผลิตหรือผลิตได้ไม่เต็มศักยภาพ หรือผลิตได้ล่าช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป (Ready Made Garment) ซึ่งมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ ๘๐ ของประเทศ เนื่องจากโรงงานต้องเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเป็นระยะเวลานาน การผลิตไม่คุ้มค่าต่อราคาพลังงานเชื้อเพลิง (น้ำมันหรือก๊าซ) ที่ต้องนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนั้นยังทำให้ต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางอากาศแทนทางเรือเพื่อให้สินค้าถึงปลายทางภายในระยะเวลากำหนด และหน่วยงาน/ธุรกิจภาคบริการหลายแห่ง เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ให้บริการได้จำกัดและปิดทำการเร็วกว่าปกติ
ค่าครองชีพและเงินเฟ้อ
สำนักงานสถิติแห่งชาติบังกลาเทศรายงานว่า ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ บังกลาเทศ มีอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ ๙.๙๔ (จากร้อยละ ๙.๒๔ ในเดือนเมษายน) สูงสุดในรอบ ๑๐ ปี และสูงกว่าการเติบโตค่าเฉลี่ยรายรับซึ่งอยู่ที่ร้อยละ ๗.๓๒ เนื่องจากราคาสินค้าทั้งหมวดอาหารและมิใช่หมวดอาหารยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง
แนวโน้มสถานการณ์
๓.๑ หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ แจ้งว่าพยายามแก้ไขสถานการณ์ไฟดับ/ไฟตก และคาดว่าน่าจะดีขึ้นในอีก ๒ สัปดาห์ข้างหน้า โดยคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ ๒ แห่งจะใช้เวลาราว ๑๒ – ๑๕ วันที่จะเริ่มจ่ายก๊าซอีกครั้ง และหนี้ค่าถ่านหินที่บังกลาเทศติดค้างอินโดนีเซียได้รับการผ่อนผัน และได้ส่งถ่านหินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า Rampal และ Payra ที่หยุดเดินเครื่องมาประมาณ 1 สัปดาห์ เนื่องจากไม่สามารถเปิด L/C เพื่อซื้อถ่านหินนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้
๓.๒ ปัญหาค่าครองชีพสูงและเงินเฟ้อในบังกลาเทศ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาหลักสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง แม้ว่ารัฐบาลบังกลาเทศ จะมีความพยายามเรียกร้องให้พ่อค้ายกเลิกการกักตุนสินค้า และให้กระทรวงพาณิชย์นำสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งข้อริเริ่มให้จัดตั้งคลังสินค้าเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนเทียม (artificial shortage) ในกลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐาน
ความคิดเห็นสำนักงานฯ
จากสถานการณ์ปัจจุบัน บังกลาเทศยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้อาจเกิดปัญหาการจ่ายเงินค่าสินค้าล่าช้าหรือชะลอการจ่ายเงิน อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมกับผู้นำเข้าของบังกลาเทศได้ จึงขอให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งต้องสอบถามขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินกับคู่ค้ารวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบังกลาเทศ หากพิจารณาเห็นว่ามีความเสี่ยงในการทำการค้า อาจจะชะลอไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ที่มา ข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น