รายงานข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 12 มีนาคม 2568 – การบริโภคผลไม้ในบังกลาเทศปัจจุบันกลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยสำหรับผู้บริโภคทั่วไป แม้ว่าจะมีความจำเป็นต่อโภชนาการเพียงใดก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าผลไม้สดอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นและปริมาณการนำเข้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในปีงบประมาณ 2564-2565 (ปีงบประมาณบังกลาเทศ เริ่มจาก 1 กรกฎาคม – 30 มิถุนายน) อัตราภาษีนำเข้าผลไม้สดอยู่ที่ 89.32% แต่ในปีงบประมาณปัจจุบัน อัตราภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 136.20% ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี โดยหากผู้นำเข้าซื้อแอปเปิล 1 กิโลกรัมจากตลาดต่างประเทศในราคา 100 ตากา (หน่วยเงินของบังกลาเทศ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 12 มีนาคม 2568 100 ตากา เท่ากับ 27.85 บาท) จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีก 136.20 ตากา เมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าขนส่ง ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร และต้นทุนอื่น ๆ ราคาของแอปเปิล 1 กิโลกรัมที่เริ่มต้นจาก 100 ตากา จะพุ่งสูงถึงอย่างน้อย 250 ตากา เมื่อถึงตลาดค้าส่ง
การประท้วงและผลกระทบต่อธุรกิจ
เมื่อเดือนที่แล้ว สมาคมผู้นำเข้าผลไม้สดแห่งบังกลาเทศได้แสดงความไม่พอใจต่อนโยบายนี้ โดยได้มีการระงับการเคลียร์ผลไม้จากท่าเรือทั่วประเทศเพื่อประท้วงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และอากรนำเข้าเพิ่มเติม นายมูฮัมหมัด ซิราจุล อิสลาม ประธานสมาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ระงับการเคลียร์สินค้า มีตู้คอนเทนเนอร์ผลไม้ 100 ตู้ค้างอยู่ที่ท่าเรือจิตตะกอง และรถบรรทุกผลไม้ 75 คันติดค้างที่ด่านชายแดน เช่น เบนาโพล (ด่านชายแดนอินเดีย-บังกลาเทศ) แม้ว่าผู้นำเข้าจะกลับมาเคลียร์สินค้าเพื่อลดความเสียหายได้ แต่ยังคงกังวลเกี่ยวกับยอดขายในช่วงรอมฎอน สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานสรรพากรแห่งชาติ (NBR) เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกอากรเสริมและ VAT เพิ่มเติม
ภาษีที่พุ่งสูง: สาเหตุของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก NBR ระบุว่า ภาษีนำเข้าผลไม้ เช่น แอปเปิล ส้ม องุ่น ลูกแพร์ และสับปะรด อยู่ที่ 89.32% ในปีงบประมาณ 2564-2565 เพิ่มเป็น 113.80% ในปี 2566 และปรับขึ้นอีกสองครั้งในปีงบประมาณปัจจุบัน จนถึงระดับ 136.20% เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา อัตราภาษีล่าสุดประกอบด้วย ภาษีศุลกากร 25%, ภาษีอากรเสริม 30%, VAT 15%, ภาษีล่วงหน้า 10%, ภาษีล่วงหน้าอื่น 5% และอากรควบคุม 20% โดยการคำนวณภาษีไม่ได้เป็นการนำตัวเลขมาบวกแบบตรงไปตรงมา หรือง่าย ๆ เช่น ภาษีศุลกากรและภาษีล่วงหน้า จะถูกคำนวณมาจากมูลค่าสินค้าก่อน จากนั้นจึงคำนวณอากรเสริมและ VAT จากยอดรวม ทำให้ภาระภาษีสูงขึ้นอย่างมาก
นายนูรุดดิน อาเหม็ด เลขาธิการสมาคมผู้นำเข้าผลไม้สดแห่งบังกลาเทศ กล่าวว่า “ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา NBR ได้เพิ่มอากรเสริมสำหรับผลไม้ที่นำเข้าถึง 3 ครั้ง คิดเป็นเงิน 60-70 ตากา โดยมองว่าผลไม้เป็นสินค้าหรูหรา การเพิ่มภาษีทุกปีทำให้ผลไม้กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเอื้อมถึงได้ยาก แอปเปิล องุ่น และส้ม เป็นอาหารสำหรับเด็กและผู้ป่วย เราคิดไม่ถึงเลยว่าทำไมถึงถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย”
การนำเข้าผลไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลการนำเข้าผ่านท่าเรือจิตตะกองแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าผลไม้ เช่น แอปเปิล ส้ม มอลตา องุ่น มะม่วง ลูกแพร์ และแก้วมังกร ลดลง 77,471 ตัน หรือ 18.56% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 (กรกฎาคม-ธันวาคม) มีการนำเข้าผลไม้รวม 154,426 ตัน ส่วนในปี 2567 การนำเข้าผลไม้สดทั้งหมดอยู่ที่ 339,894 ตัน ลดลงจาก 386,410 ตันในปี 2566, 480,213 ตันในปี 2565, 465,322 ตันในปี 2564 และ 417,365 ตันในปี 2563
ปัจจุบัน บังกลาเทศนำเข้าผลไม้ 38 ชนิดจาก 22 ประเทศ โดย 95% เป็นแอปเปิล ส้ม มอลตา องุ่น และทับทิม ส่วนที่เหลือ 5% รวมถึงลูกแพร์ คินนาว บักวา อะโวคาโด ลิ้นจี่ และอื่นๆ การเพิ่มภาษีทำให้ความต้องการผลไม้ลดลง ส่งผลให้ผู้นำเข้าหลายรายขาดทุนหนัก โดยพ่อค้าในตลาดผลไม้จิตตะกองระบุว่า มีผู้นำเข้าในท้องถิ่นอย่างน้อย 50 รายล้มละลายและเลิกกิจการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ราคาผลไม้พุ่งสูง ผู้ค้าลำบาก
พ่อค้าตลาดค้าส่งผลไม้ถนนสเตชัน จิตตะกอง รายงานว่า ราคาผลไม้เพิ่มขึ้น 50-100 ตากา ต่อกิโลกรัมในสัปดาห์ที่ผ่านมา แอปเปิลรอยัลกาลาจากแอฟริกาใต้ ขายที่ 370-380 ตากา ต่อกิโลกรัม จากเดิม 260-280 ตากา เพิ่มขึ้นเกือบ 100 ตากา แอปเปิลเขียวอยู่ที่ 370 ตากา ต่อกิโลกรัม เพิ่มจาก 280 ตากา ส้มจาก 180 ตากา เป็น 250 ตากา ลูกแพร์จาก 280 ตากา เป็น 330 ตากา องุ่นเขียวจาก 260 ตากา เป็น 320 ตากา และทับทิมจาก 350-425 ตากา เพิ่มขึ้นสูงสุด 75 ตากา
นายจินนัต อาลี ผู้นำเข้าผลไม้ในจิตตะกองและเจ้าของร้านผลไม้ค้าส่ง JM Trading กล่าวว่า “หลายคนไม่เคลียร์ผลไม้ที่นำเข้าเพราะภาษีที่พุ่งขึ้นกะทันหัน หากขายในราคาตลาดปัจจุบัน เราจะขาดทุนหนัก จึงรอให้ราคาขยับขึ้น แต่ก็ไม่แน่ใจว่าผลไม้ที่นำเข้ามาด้วยต้นทุนสูงจะขายได้หรือไม่” ด้านนายจูนัยดุล ฮาค ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสมาคมพ่อค้าผลไม้จิตตะกอง ระบุว่า รัฐบาลอ้างวิกฤตโควิด-19 และปัญหาค่าเงินดอลลาร์ในการปรับภาษีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้การนำเข้าลดลงอย่างมาก พ่อค้าที่เคยนำเข้า 12 ตู้ต่อเดือน เหลือเพียง 2-3 ตู้เท่านั้น
ราคาผลไม้ไทยในบังกลาเทศ
ผลไม้ไทยในบังกลาเทศ วางจำหน่ายในตลาดพรีเมี่ยม เช่น ห้างสมัยใหม่ขนาดใหญ่ ร้านจำหน่ายผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น โดยกลุ่มลูกค้าเป็นคนท้องถิ่นระดับบน และชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในบังกลาเทศ ราคาสินค้าที่จำหน่ายจึงมีต้นทุนในการดำเนินการสูง โดยเฉพาะผลไม้สดนำเข้าโดยการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ ราคาสินค้าจากแหล่งผลิตในประเทศไทย ค่าคัดแยกและบรรจุหีบห่อ ค่าขนส่งจากต้นทางไปยังสนามบิน ค่าธรรมเนียมการจัดระวาง ค่าธรรมเนียมขนส่งทางเครื่องบิน และเมื่อสินค้าถึงสถานีปลายทางจะมีค่าใช้จ่ายในการนำของออกจากสนามบิน การจ่ายภาษีนำเข้าและภาษีอื่น เมื่อนำสินค้าใปวางในห้าง จะมีค่าธรรมเนียมการวางในชั้น ค่าเช่าชั้นวาง ค่าจ้างพนักงาน กำไรผู้นำเข้า เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ส่งผลให้ราคาผลไม้ไทยสูงมาก จากการสำรวจราคาขายปลีกผลไม้ชนืดต่างๆ ที่วางขายในห้างของ สคต. ณ กรุงธากา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 เป็นดังนี้

ทั้งนี้ จากการสังเกตราคาผลไม้นำเข้าจากไทย พบว่าราคาสินค้าเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูง จากการสอบถามผู้นำเข้าผลไม้ไทยรายใหญ่ซึ่งมีปริมาณนำเข้าคละชนิดต่อปีประมาณ 700 ตัน ได้ความว่า ตั้งแต่สิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 ปริมาณสินค้านำเข้าจากไทยค่อนข้างคงที่ ซึ่งต่างจากผลไม้นำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง อาจจะเพิ่มหรือลดปริมาณตามฤดูกาลการผลิต หรือตามความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ ในส่วนของราคาสินค้า ผู้นำเข้ารายนี้แจ้งว่า ผลไม้สดจากไทยอ่อนไหวต่ออุณหภูมิ มีอายุและระยะวางชั้นค่อนข้างต่ำ รวมทั้งการจัดเก็บรักษาค่อนข้างยาก จึงเป็นต้นทุนของผู้นำเข้า เป็นเหตุให้ราคาจำหน่ายปลีกค่อนข้างสูง
โอกาสที่ราคาผลไม้นำเข้าที่เข้าสู่ตลาดบังกลาเทศจะลดลงนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันยังเป็นไปได้ยาก สืบเนื่องจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าและอากรอื่นๆ เป็นรายได้หลักของรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลบังกลาเทศต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับเงินกู้จาก IMF ที่กำหนดให้ต้องปฏิรูปมาตรการจัดเก็บภาษีทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐ นอกจากนั้น รัฐบาลบังกลาเทศมีภาระต้องจ่ายคืนเงินกู้ยืมจากต่างประเทศแหล่งอื่นๆ ทำให้ต้องแสวงหาแหล่งรายได้เพิ่ม ในส่วนของผลไม้ไทยจำเป็นต้องรักษาระดับคุณภาพและปริมาณนำเข้าที่สม่ำเสมอ ซึ่งสำนักงานฯ ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพกับผู้นำเข้าสม่ำเสมอ รวมทั้งส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาการค้าสินค้าผลไม้เพื่อแสวงหาแหล่งนำเข้าหรือสินค้าใหม่ๆ
——————
สคต. ณ กรุงธากา
มีนาคม 2568
ที่มาข่าว/ภาพ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น https://www.tbsnews.net/
/ตารางราคาจากการสำรวจของสำนักงาน
อ่านข่าวฉบับเต็ม : บังกลาเทศ: ผลไม้นำเข้ากลายเป็นสินค้าหรูหรา หลังภาษีนำเข้าพุ่งสูงต่อเนื่อง