ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลบังกลาเทศได้พยายามเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศให้หันมาลงทุนในบังกลาเทศ โดยรัฐบาลบังกลาเทศได้ปรับเปลี่ยนระเบียบ มาตรการต่างๆ ให้เอื้ออำนวยและเป็นมิตร ตลอดจนส่งเสริมให้มีการลงทุนในประเทศ ส่งผลให้มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนหนึ่งเดินทางมาลงทุนและแสวงหาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อร่วมลงทุน อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้รายงานผลจากความพยายามของรัฐบาลทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน เกิดมีคดีความที่เป็นข้อพิพาททางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจต่างประเทศกับนักลงทุนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน รวมทั้งเกิดปัญหาการแก้ไขข้อพิพาททางธุรกิจที่ล่าช้า ส่งผลให้มีคดีค้างระหว่างบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในบังกลาเทศกับคู่ค้าทางธุรกิจหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีคดีที่รอผลการตัดสินจำนวนมาก
คดีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเงินลงทุนกว่า 300,000 ล้านตากา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจนถึงศาลอุทธรณ์ คดีต่างๆ ถูกยื่นฟ้องด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ความบาดหมางระหว่างบริษัทกับบริษัทหรือระหว่างบริษัทกับบุคคล ธุรกรรมทางการเงิน การโอนหุ้น ความเป็นเจ้าของ การละเมิดสัญญา การฉ้อฉล ปัญหาการลงทุนและการจัดหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
ตามข้อมูลจากศาลฎีกาและแผนกทนายความของกระทรวงยุติธรรม ในไตรมาสแรกของปีนี้เพียงปีเดียว (2566) มีการยื่นฟ้องคดีกว่า 117 คดี เทียบกับจำนวน 427 คดีทั้งปีในปี 2565 จำนวน 374 คดีในปี 2564 จำนวน 256 คดีในปี 2563 และจำนวน 186 คดีในปี 2562
ผู้เชี่ยวชาญและแหล่งข่าวจากวงการยุติธรรมได้เน้นย้ำว่ามีคดีประมาณ 4 แสนคดีที่รอการตัดสิน ท่ามกลางการขาดแคลนผู้พิพากษาและศาลทั่วประเทศ ไม่มีศาลเฉพาะสำหรับพิจารณาคดีที่ยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติ
นอกจากนี้ การขาดทนายความที่มีทักษะความสามารถในการจัดการกับคดีต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยื่นฟ้องภายใต้พระราชบัญญัติบริษัท (บังกลาเทศ) ปี 1994 (The Companies (Bangladesh) Act, 1994) ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
มีคดีประมาณ 1,200 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลฎีกา และอีก 1,800 คดีอยู่ในศาลชั้นต้น บางคดียืดเยื้อยาวนานถึงกว่า 20 ปี ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การจำหน่ายคดีธุรกิจที่ผ่านกระบวนการไปอย่างเชื่องช้า ทำให้เกิดความกังวลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและโอกาสการลงทุนในอนาคต กระบวนการชำระคดีความที่ยืดเยื้อ ยังรบกวนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็สร้างภาระทางการเงินที่สำคัญให้กับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นาย Syedur Rahman Ranu ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมบริติช-บังกลาเทศ กล่าวว่า คดีความที่ค้างคาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
“ปริมาณ FDI ที่ไหลเข้าบังกลาเทศมักจะต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เหตุผลประการหนึ่งคือข้อพิพาททางการค้าในบังกลาเทศใช้เวลานานมาก กว่าจะได้รับการแก้ไข” เขากล่าว
การระงับข้อพิพาทที่ล่าช้าเห็นได้ชัดจากจำนวนคดีข้อมูลที่ยื่นฟ้องคดีพิพาททางธุรกิจนั้น สูงกว่าอัตราการยุติคดี ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติหรือไม่ก็ตาม
ตามข้อมูลจาก Solicitor Wing ของกระทรวงยุติธรรม มีคดีจำนวน 7,309 คดีที่ได้ตัดสินไปในปี 2565 ในขณะที่มีการยื่นฟ้องประมาณ 29,000 คดี
ในปีที่แล้วคดีจำนวน 6,750 คดีที่ผ่านการตัดสิน จากจำนวนคดีทั้งหมด 23,000 คดี ในปี 2564 มีการตัดสินจำนวน 4,800 คดี จากจำนวนคดียื่นฟ้อง 17,000 คดี
รายงานดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลกปี 2564 บ่งชี้ว่าบังกลาเทศอยู่ในอันดับที่ 189 จาก จำนวน 190 ประเทศในแง่ของการบังคับใช้สัญญา ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นต้นทุนของการลงทุนที่ต้องอาศัยเงินลงทุน เวลาและค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาททางการค้าและคุณภาพของกระบวนการยุติธรรม
งานค้างและความล่าช้า
ในปี 2541 บริษัท Capgemini ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติจากเบลเยียมได้ร่วมมือกับ LeyodBD Ltd. เพื่อทำธุรกิจในบังคลาเทศ ด้วยการลงทุนจำนวนเริ่มต้นประมาณ 32 ล้านตากา (ประมาณ 10 ล้านบาท) ในไม่ช้า Capgemini ก็พบกับข้อพิพาทกับหุ้นส่วน
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 Capgemini ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงธากา-5
เนติบัณฑิต Shah Mohammad Ahsanur Rahman ซึ่งเป็นทนายความของ Capgemini กล่าวว่า ศาลชั้นต้นได้ตัดสินในปี 2554 จากนั้น บริษัท LeyodBD Ltd. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในปี 2557 มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาตัดสิน
ในปี 2556 บริษัท Tosiana Xingsu บริษัทสัญชาติเกาหลีที่ผลิตชุดหุ้มเบาะหนังสำหรับรถยนต์ ได้จ่ายเงินล่วงหน้าจำนวน 50 สิบล้านตากา เพื่อซื้อหนังดิบจากบริษัท Enam Traders
อย่างไรก็ตามบริษัท Enam Traders ไม่สามารถส่งวัตถุดิบตามที่ตกลงกันไว้และไม่ได้คืนเงิน
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 Tosiana Xingsu ได้ยื่นฟ้องต่อศาลธากาเพื่อเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืน ทนายความ ASM Shahriar Kabir กล่าวว่า การพิจารณาคดีถูกระงับชั่วคราวเนื่องจากการแทรกแซงศาลสูง
จากผลทางกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข Tosiana Xingsu จึงตัดสินใจไม่ลงทุนเพิ่มเติมในบังกลาเทศ โดยเลื่อนแผนการขยายธุรกิจออกไป
ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของบริษัท Tanzib-ul-Alam กล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Business Standard ว่าพระราชบัญญัติบริษัทระบุอย่างชัดเจนว่าควรจัดตั้งศาลแยกต่างหากในแต่ละเขตและศาลอุทธรณ์ในแต่ละแผนกเพื่อจัดการกับคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
พระราชบัญญัตินี้ยังมีข้อกำหนดสำหรับขั้นตอนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution – ADR) “แต่จนถึงขณะนั้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม และการแก้ไขข้อพิพาทต้องใช้เวลาหลายปี” เขากล่าว
นาย Md Jashim Uddin ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งบังกลาเทศ กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศตั้งอยู่ในเขต Dhaka และ Chattogram ข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าในพื้นที่สองเมืองใหญ่นี้ก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน
ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก ADR (การระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution – ADR))
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของบริษัท Barrister Ajmalul Hossain QC กล่าวว่าการระงับข้อพิพาททางเลือกเป็นสิ่งจำเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าผ่านการอนุญาโตตุลาการนอกศาล
กระบวนการ ADR ทั่วไปรวมถึงการไกล่เกลี่ย อนุญาโตตุลาการ และการประเมินที่เป็นกลาง กระบวนการเหล่านี้โดยทั่วไปจะเป็นความลับ เป็นทางการน้อยกว่า และเครียดน้อยกว่ากระบวนการพิจารณาของศาลแบบดั้งเดิม
ขณะนี้มีประมาณ 80 ประเทศมอบอำนาจให้ ADR ระงับข้อพิพาทดังกล่าว รวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ แต่ยังไม่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ Barrister Ajmalul กล่าวเสริม
มีกรอบกฎหมายใหม่หรือไม่?
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ นาย Tipu Munshi กล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Business Standard ว่ามีการจัดประชุมหลายครั้งกับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งควรจะเป็นหน่วยงานที่จะต้องคิดริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
นาย Anisul Haque รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้ขอให้ศาลพิจารณาเร่งรัดให้ยุติข้อพิพาทและคดีความโดยเร็ว คดีจำนวนมากได้รับการตัดสินในช่วงสามปีที่ผ่านมา และการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าก็อยู่ในระหว่างดำเนินการ
ในปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ขอให้กระทรวงยุติธรรมกำหนดนโยบายเพื่อการระงับข้อพิพาททางการค้าอย่างรวดเร็ว
จากนั้นกระทรวงยุติธรรมได้ขอให้คณะกรรมาธิการกฤษฎีกาของบังคลาเทศจัดทำร่างในเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการฯ จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติระงับข้อพิพาททางการค้า
ร่างดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยการแก้ไขกฎหมายอนุญาโตตุลาการ นาย ABM Khairul Haque อดีตหัวหน้าผู้พิพากษา ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เป้าหมายคือเพื่อสร้างความไว้วางใจในหมู่นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศโดยการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าโดยทันที ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการนอกศาล โดยข้ามผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนของระบบตุลาการในปัจจุบัน
นาย ABM Khairul Haque ชี้ว่า หากกฎหมายผ่านการพิจารณา ความรวดเร็วในการระงับข้อพิพาททางการค้าจะเพิ่มขึ้น
ข้อคิดเห็นสำนักงาน
- บังกลาเทศใช้ระบบศาลแบบสหราชอาณาจักร มีทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา โดยศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Appellate Division และ High Court Division และยังมี ศาลระดับล่าง ได้แก่ District Courts, Thana Courts (ตำบล) และ Village Courts (หมู่บ้าน) นอกจากนี้ ยังมีศาลพิเศษอื่น ๆ เช่น ศาลครอบครัว ศาลแรงงาน* และศาลเคลื่อนที่ที่สามารถพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดในพื้นที่เกิดเหตุได้ทันที (เช่น การจับปรับการละเมิดกฎจราจร การจับปรับการวางสินค้าขายริมฟุตบาท รวมทั้งออกปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เช่น หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อออกตรวจจะมีหน่วยงานปราบปราม (ตำรวจ) และศาล เมื่อพบเห็นการกระทำความผิดสามารถไต่สวน พิพากษาและลงโทษได้ในพื้นที่เกิดเหตุ)
- การบังคับใช้กฎหมายในบังกลาเทศยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และการฉ้อโกงทางธุรกิจ
- ปัญหาการใช้เอกสารปลอม บังกลาเทศขึ้นว่ามีการใช้เอกสารปลอมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น เอกสารใบรับรองทางการแพทย์ เอกสารทางธุรกิจ เอกสารทางการเงิน เอกสารการรับรองสถานะบุคคล ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มองหาพันธมิตรทางธุรกิจในการร่วมลงทุนกับคนบังกลาเทศจะต้องใช้ความระมัดระวัง และมีความรอบคอบ รวมทั้งต้องมีที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก่อนที่จะร่วมกิจกรรมทางธุรกิจ
- ในการเจรจาซื้อขายสินค้า ผู้ประกอบการควรตรวจสอบ สอบทานกับคู่ค้าชาวบังกลาเทศให้มั่นใจว่ามีความเข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะในการร่วมธุรกิจในครั้งแรก ๆ เช่น การตรวจสอบคุณภาพชนิดสินค้า ประเภท ปริมาณ ขนาดบรรจุ สี มาตรฐานสินค้า ตรา ส่วนผสม กล่อง ของแถม สินค้าโปรโมชั่น ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจสอบสินค้าต้นทาง ปลายทาง หากมีการซื้อขายสินค้าที่ระยะเวลาการขนส่ง การจัดเก็บมีผลกระทบกับสี (ซีด จางลงหรือเข้มขึ้น) กลิ่น (น้อยลงหรือมากขึ้น) ปริมาณของสินค้า (ลดลงจากความร้อนหรือเพิ่มขึ้นเนื่องจากความชื้น) ควรมีหน่ายงานรับจ้างตรวจสอบที่เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าทั้งก่อนส่งมอบและรับมอบ
- ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจกับนักธุรกิจบังกลาเทศและต้องการคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อแก้ไขปัญหา สามารถติดต่อสอบถามสำนักงานฯ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ตามที่อยู่ด้านล่าง
——————
สคต. ณ กรุงธากา
มิถุนายน 2566
ที่มา หนังสือพิมพ์ The Business Standard, * Country Report บังกลาเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)