หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > บังกลาเทศเปิดใช้ทางด่วนยกระดับสายแรกในกรุงธากา

บังกลาเทศเปิดใช้ทางด่วนยกระดับสายแรกในกรุงธากา

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 นาง Sheikh Hasina นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้เป็นประธานพิธีเปิดทางด่วนยกระดับสายแรกในกรุงธากา (Dhaka Elevated Expressway) ที่ Old Trade Fair Ground Sher-E-Bangla Nagar นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศได้กล่าวว่า โครงการนี้เป็นของขวัญสำหรับประชาชน และเป็นหมุดหมายใหม่ในด้านคมนาคมขนส่งของบังกลาเทศ และได้เปิดให้บริการในเฟสแรก เริ่มจากท่าอากาศยานนานาชาติ Hazrat Shahjalal International Airport ถึง Farmgate ระยะทางประมาณ 11.5 กม.  และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ระยะทาง ประมาณ 19.73 กม. (จากท่าอากาศยานนานาชาติ Hazrat Shahjalal ถึง Kutubkhali) เพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวงไปเมืองจิตตะกองภายในเดือนมิถุนายน 2567

การเปิดให้บริการทางด่วนยกระดับได้รับการตอบรับที่ดี โดยภายใน 24 ชม. มีรถใช้บริการ 22,805 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล เก็บค่าบริการได้ 1,850,000 ตากา (ราว 721,500 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 1 ตากา เท่ากับ   0.39 บาท) และช่วยลดระยะเวลาสัญจรจากเดิม ๖๐ – ๙๐ นาที เหลือไม่เกิน 20 นาที

ทางด่วนยกระดับสายนี้ เป็นโครงการก่อสร้างทางด่วนยกระดับให้กับบริษัท First  Dhaka Elevated Expressway (FDEE) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทย ได้แก่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ถือหุ้นร้อยละ 51 ร่วมกับวิสาหกิจของจีน ได้แก่ บริษัท China Shandong International Company ถือหุ้นร้อยละ 34 และบริษัท Sinohydro Company ถือหุ้นร้อยละ 15 โดย ITD ได้รับสัมปทานโครงการฯ เมื่อปี ๒๕๕๔ ระยะเวลาสัมปทาน ๒๕ ปีนับจากวันเริ่มโครงการ (ตั้งแต่ ๑ ม.ค. ๒๕๖๓) เป็นความร่วมมือในรูปแบบ Public-Private–Partnership (PPP) เป็นโครงการแรก ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำหรับโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับเอกชนต่างประเทศรายอื่นๆ ต่อไป

ในภาพรวม โครงการนี้ก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเลื่อนประกาศวันเริ่มก่อสร้าง การส่งมอบที่ดินล่าช้า โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ โครงการก่อสร้างอยู่ในระยะที่สองซึ่งคืบหน้าร้อยละ 54  คาดว่าปัญหาการส่งมอบที่ดินน่าจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว โดยรัฐบาลบังกลาเทศประกาศพร้อมเปิดให้บริการทางด่วนยกระดับสายนี้ตลอดเส้นทางในอีก 10 เดือนข้างหน้า ดังนั้น จึงเป็นการบังคับกลายๆ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมแก้ไขปัญหา รวมทั้งขณะนี้รัฐบาลบังกลาเทศอยู่ระหว่างการเรียกคะแนนนิยม จึงเร่งเปิดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อเป็นผลงานก่อนการเลือกตั้ง (ปลายปี 66 หรือต้นปี 67) ได้แก่ การเปิดอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่เพื่อใช้งานบางส่วนที่สนามบินนานาชาติ Hazrat Shahjalal (ต.ค. ๒๕๖๖) และการเปิดใช้งานอุโมงค์กรรณะภูลีที่จิตตะกองซึ่งเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำกรรณะภูลีเชื่อมระหว่างเมืองท่าหลักและฝั่งตะวันตกของกรรณะภูลี ไปยังเขตอุตสาหกรรมทางตะวันออก ในช่วงปลายปี 2566

ทางด่วนช่วยลดความแออัดของการจราจรและเวลาในการเดินทาง

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ากรุงธากาซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศบังกลาเทศ ขึ้นชื่อติดอันดับเมืองที่มีการจราจรคับคั่งระดับโลก ตามดัชนีการจราจรรายประเทศทั่วโลกกลางปี 2023 (Traffic Index by Country 2023 Mid-Year) อยู่ในอันดับที่ 3 และตามรายงานของธนาคารโลกความเร็วการจราจรเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงเหลือ 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจาก 21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดการณ์ว่าหากการเติบโตของจำนวนยานพาหนะยังคงดําเนินต่อไปตามอัตราปัจจุบัน โดยไม่มีการแก้ไขปัญหาด้านการลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ ความเร็วเฉลี่ยอาจลดลงเหลือ 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในปี 2578 เท่านั้น ซึ่งช้าพอ ๆ กับการเดิน

รายงานผลการศึกษาจากสถาบัน Brac Institute of Government and Development กรุงธากาจัดอยู่ในอันดับที่สองของโลกในแง่ของการสูญเสียทรัพยากรเวลาไปในการจราจร จากจำนวนยานพาหนะไม่สอดคล้องกับจำนวนเส้นทางจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้อง

ถนนประมาณการว่ามียานพาหนะชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 13 ชนิด ตั้งแต่ยานพาหนะที่ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน พลังงานไฟฟ้า (จากการดัดแปลงสามล้อถีบให้ใช้ไฟฟ้า) และจากแรงงานมนุษย์ที่ใช้ในการปั่น เข็น ลากและดัน รวมทั้งการขาดระเบียนวินัยในการจราจร ดังนั้น รัฐบาลจึงมีโครงการสร้างระบบขนส่งสาธารณะขึ้นอีกประมาณ 6 โครงการ การเปิดใช้งานทางด่วนยกระดับสายนี้ จึงช่วยลดเวลาการเดินทางประชากรในเมืองจะทำให้สามารถเดินทางจากย่านธุรกิจสำคัญต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภายในตัวเมืองไปยังสนามบินได้ภายใน 20 นาทีแทนที่จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที ด้วยรถยนต์บนถนนสาธารณะปกติ ทางด่วนนอกจากจะช่วยลดเวลาประหยัดเวลาการเดินทาง ไม่เฉพาะต่อผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการนำเข้า

 โครงการทางด่วนยกระดับเส้นแรกที่บริษัทไทยมีส่วนร่วมสำคัญ

ความเป็นมา:  ทางด่วนยกระดับสายแรกในกรุงธากา (First Dhaka Elevated Expressway: FDEE) 

ในปี ๒๕๕๔ บริษัท First Dhaka Elevated Expressway (FDEE) Company Limited ได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับ Bangladesh Bridge Authority ของรัฐบาลบังกลาเทศ โดย FDEE ได้รับสิทธิตามสัญญาสัมปทาน ในการก่อสร้างและบริหารงาน (Build-Operate-Transfer) โครงการทางด่วนยกระดับ Dhaka Elevated Expressway มีมูลค่าโครงการประมาณ ๔๑,๑๙๒ ล้านบาท ทั้งนี้ FDEE ได้ลงทุน ในรูปแบบ Public-Private Partnership ร่วมกับบริษัท China Shandong International และบริษัท Sinohydro มูลค่า ๑,๐๖๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการดำเนินงานก่อสร้างดังกล่าว

ทางด่วนยกระดับสายนี้มีความยาวรวม ๑๙.๗๓ กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ท่าอากาศยานนานาชาติ Hazrat Shahjalal International Airport สิ้นสุดที่ Chittagong Highway ใน Kutubkhali มีอายุสัมปทาระยะเวลา ๒๕ ปี ซึ่งรวมระยะเวลางานก่อสร้าง ๔๒ เดือน ปัจจุบัน Bangladesh Bridge Authority ได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างใหม่เป็น ๕๔ เดือน โดยเริ่มนับอายุสัมปทานตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันที่บริษัทได้รับหนังสืออนุญาตให้เริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ

อุปสรรคในการดำเนินการงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินการโครงการนี้ พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ดังนี้

– Bangladesh Bridge Authority ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า จึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ได้ตามกำหนดเวลาแผนการก่อสร้าง ราคาวัตถุดิบหลักปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าภาษีในทุกกิจกรรมค่อนข้างสูง และการโอนเงินไปต่างประเทศใช้ระยะเวลานานและมีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง  ปัญหาเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขาดตลาด

– ในการดำเนินธุรกิจ FDEE ประสบกับปัญหาระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ของบังกลาเทศที่ซับซ้อน โดยเฉพาะด้านการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้า แม้ว่าจะเป็นการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ  รัฐบาลบังกลาเทศกลับไม่ได้ให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่อย่างใด โดยสถานะป้จจุบัน ITD ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ FDEE  ถือเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีความพร้อมในด้านเทคนิค อุปกรณ์ บุคลากร ประสบการณ์และความชำนาญในการก่อสร้างในบังกลาเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ ITD ประสบมีลักษณะเดียวกับเอกชนไทยและจากต่างประเทศรายอื่น ๆ คือ อัตราภาษีในบังกลาเทศสูงและกฎระเบียบไม่เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ และข้อจำกัดในการโอนเงินกลับไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนนักลงทุนต่างประเทศเรียกร้องให้บังกลาเทศแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น แม้ว่า รัฐบาลบังกลาเทศจะประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนภายใต้โครงการต่างๆ ภายในประเทศโดยให้สิทธิพิเศษทางภาษี การอำนวยความสะดวกในการโอนเงินผลกำไรกลับประเทศ การจัดเก็บภาษี ผู้สนใจเข้ามาลงทุนจึงต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน รวมทั้งต้องสอบทวน/สอบถามระเบียบ ข้อกำหนดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบังกลาเทศปรับกฏระเบียบอยู่บ่อยครั้ง ทำให้พบว่า หน่วยงานที่สนับสนุนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลมีระเบียบที่ขัดแย้งกัน และใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานาน กระทบต่อแผนการดำเนินงานและส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจ

 ความเห็น/ข้อสังเกตของสำนักงาน

  1. การเข้ามาลงทุนก่อสร้างของ ITD ในบังกลาเทศถือเป็นการส่งออกภาคบริการการก่อสร้างของไทยในต่างประเทศ ผลงานการก่อสร้างได้รับการยอมรับในแง่ของงานวิศวกรรม การออกแบบ เทคโนโลยี ความเอาใจใส่ต่อความปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่พบในทุกบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุจากการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของหน่วยงาน ซึ่งคาดว่าในอนาคตปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขต่อไป
  2. นอกเหนือจากการได้ประโยชน์จากการสร้างผลงานในต่างประเทศแล้ว ในภาพรวมไทยยังได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าที่ใช้ภายในโครงการด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง รวมทั้งการเผยแพร่ศักยภาพการบริการการก่อสร้างของไทยให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนไทยที่สนใจศึกษาข้อมูลการลงทุนในสาขาต่างๆ ของบังกลาเทศ สามารถสืบค้นได้จากเวปไซต์ของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนของบังกลาเทศ https://www.bida.gov.bd/publications
  3. ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการลงทุนของบังกลาเทศแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมีกำหนดเดินทางมาร่วมประชุม Bimstec Summit ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน- 2 ธันวาคม 2566 พร้อมทั้งเป็นผู้นำส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุนมาบรรยายให้ความรู้พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศด้วย โดยภาคการลงทุนที่น่าสนใจในบังกลาเทศ ได้แก่ การแปรรูปสินค้าเกษตร ระบบห้องเย็นอุตสาหกรรม การแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมเบา การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระบบพลังงานทางเลือก (พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม) ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ภาคบริการ ได้แก่ การบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง การรักษาพยาบาล การร่วมทุนโครงการก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้
    สำนักงานฯ จะติดตามความคืบหน้ากิจกรรมของบังกลาเทศในช่วงเวลาดังกล่าวและจะประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมต่อไป

——————

สคต. ณ กรุงธากา
กันยายน  2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login