หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > บริษัทอเมริกันในจีนเร่งหาฐานกิจการใหม่เพื่อลดความเสี่ยง – สคต. ชิคาโก

บริษัทอเมริกันในจีนเร่งหาฐานกิจการใหม่เพื่อลดความเสี่ยง – สคต. ชิคาโก

“จีนและสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา”

ปัจจัยด้านการทำสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครนที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี ประกอบกับปัจจัยด้านความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินโยบายความมั่นคงแห่งชาติของจีนที่แข็งกร้าวโดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนได้อย่างเต็มที่ ล้วนส่งผลทำให้บรรดาผู้ประกอบการสัญชาติอเมริกันและชาติอื่นที่เข้าไปลงทุนในจีนต่างหวั่นวิตกต่อความเสี่ยงที่จะถูกทางการจีนบุกเข้าตรวจสอบ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วกับบริษัท Bain & Co. บริษัท ที่ปรึกษาทางธุรกิจสัญชาติอเมริกันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองบอสตัน สหรัฐฯ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จีนบุกเข้าไปสอบปากคำพนักงานของบริษัทสาขาเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมถึงบริษัท Mintz Group บริษัทตรวจสอบประเมินทรัพย์สินของสหรัฐฯ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จีนบุกเข้าไปตรวจค้นสำนักงานสาขาปักกิ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเองยังดำเนินนโยบายทางการค้าที่แข็งกร้าวโดยได้สั่งห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการจีนรายใหญ่สั่งซื้อชิ้นส่วนตัวนำไฟฟ้าจากบริษัท Micron Technology ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติของจีนอีกด้วย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีนต่างมีความวิตกกังวลกับความเสี่ยงและแรงกดดันต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พบว่า ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไปลงทุนในจีนหลายรายเริ่มมีนโยบายชะลอการลงทุนขยายกิจการในจีนและมองหาแหล่งผลิตใหม่ในภูมิภาคมากขึ้น เช่น บริษัท Grey Duck Outdoor บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาทางน้ำสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Roseville รัฐมินนิโซตา โดย Mr. Rob Bossen เจ้าของบริษัทกล่าวว่า บริษัทได้ทำสัญญาว่าจ้างโรงงานในจีนผลิตกระดานเครื่องเล่นทางน้ำ (Paddleboards) เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตที่มีคุณภาพและมีต้นทุนการผลิตต่ำ โดยสินค้าของบริษัททั้งหมดผลิตโดยโรงงานในเขตมณฑล Shenzhen ทั้งหมดทั้งการผลิตวัตถุดิบแผ่นโฟม ยางเรซิน และพลาสติกขึ้นรูป (Injection-Molded Plastics) ซึ่งล้วนแต่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจที่ดีกับบริษัทมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยด้านการทำสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครนทำให้บริษัทกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่คล้ายกันในจีนได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจการค่อนข้างมาก เนื่องจากบริษัทมีฐานการผลิตสินค้าทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน

ในส่วนของบริษัท PPG ผู้ผลิตสีและสีเคลือบสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Pittsburgh รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งมีโรงงานการผลิตสินค้าตั้งอยู่ในจีนทั้งสิ้น 15 แห่งและมีการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นกว่า 4,000 ตำแหน่ง โดยสินค้าที่ผลิตในจีนเกือบทั้งหมดใช้สำหรับทำตลาดในประเทศจีนโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดติด 1 ใน 3 ของบริษัทในด้านยอดขาย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่เกิดการทำสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน บริษัทได้รับผลกระทบทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าของบริษัทในตลาดรัสเซียลดลงสูงเป็นมูลค่าถึง 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินกิจการในจีนมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลลับทางกิจการต่างๆ ในจีน เนื่องจากกฎหมายด้านทรัพย์สิน ทางปัญญาใหม่ของจีนอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาตรวจสอบโรงงานและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของกิจการได้ โดยปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสำคัญสำหรับบริษัทในการพิจารณาขยายการลงทุนในจีนในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (U.N. Industrial Development Organization) ระบุว่า จีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 31 ของภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งคิดแล้วจีนมีส่วนแบ่งภาคการผลิตเกือบสองเท่าของสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 17 นอกจากนี้ จีนเองยังถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการสัญชาติอเมริกันหลายบริษัทอีกด้วย ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอเมริกันบางรายยังมีความเห็นว่า สหรัฐฯ และจีนควรที่จะรักษาความเป็นพันธมิตรทางการค้าระหว่างกัน เช่น Mr. Tim Cook ประธานกรรมการ บริหารบริษัท Apple ซึ่งกล่าวในระหว่างการเยือนจีนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าทั้งสองต่างมีบทบาทสำคัญของกันและกันมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ และ Mr. Elon Musk ประธานบริหารบริษัท Tesla ซึ่งกล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนจีนเมื่อไม่นานมานี้ว่า ทั้งสองควรที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐฯ ซึ่งเดิมเคยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมและการผลิตรายใหญ่ของโลกได้สูญเสียความได้เปรียบทางการผลิตให้กับประเทศผู้ผลิตรายใหม่โดยเฉพาะจีนที่มีความได้เปรียบทั้งในด้านต้นทุนและกำลังการผลิตสามารถผลิตสินค้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วในระดับราคาที่ถูกจนกลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจขยายฐานกิจการไปสู่จีนมากขึ้น ทำให้ยิ่งนับวันสหรัฐฯ ยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยการผลิตและนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการเป็นมูลค่ามหาศาลซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่งคงของชาติ ดังนั้น สหรัฐฯ ในช่วงการบริหารประเทศของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งมีนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างรุนแรงและแข็งกร้าวจึงได้ดำเนินนโยบายด้านต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อดึงดูดจนถึงขั้นบังคับให้กลุ่มธุรกิจชาวอเมริกันพิจารณาย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ

โดยหนึ่งในนโยบายหลักคือการนำมาตรการตอบโต้ทางการค้าภายใต้กฎหมายการค้า 2517 มาตรา 301 (The Trade Act 1974, Section 301) ซึ่งให้อำนาจผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative หรือ USTR) ใช้มาตรการทางด้านภาษี (Import Tariff) และได้ดำเนินนโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มในอัตราที่สูงตามมาตรการป้องกัน (Safeguard Measure)

การดำเนินมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศอย่างรุนแรงและเป็นชนวนกระตุ้นให้ฝ่ายจีนเลือกดำเนินมาตรการตอบโต้เพื่อกดดันฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลกระทบกลับตกอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการบริษัทอเมริกันที่มีฐานการผลิตในจีนซึ่งต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางธุรกิจที่ไม่แน่นอน (Uncertainty Risk) จนทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ตัดสินใจหรือมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะยังเหลือสินค้าจีนในกลุ่มที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามมาตรการป้องกัน (Safeguard Measure) เพียง 352 รายการ ซึ่งจะครบกำหนดบังคับเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ก็ตาม แต่ด้วยท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันเองก็ดูเหมือนว่าแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะยังคงตึงเครียดต่อเนื่องและยังไม่มีทีท่าจะจบลงในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ การเพิ่มระดับความเข้มข้นในการตอบโต้ของรัฐบาลจีนเองที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจสอบกิจการต่างชาติได้อย่างง่ายดายก็เหมือนจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติในการพิจารณาย้ายฐานกิจการออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ (Risk Mitigation)  ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้จึงน่าจะเห็นผู้ประกอบการต่างชาติทยอยย้ายฐานกิจการหรือกระจายฐานกิจการออกจากจีนไปสู่ประเทศใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และไทยซึ่งยังคงมีความเหมาะสมที่จะเป็นฐานการผลิตแหล่งใหม่ของกิจการ

โดยแนวโน้มดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย รวมถึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการสนับสนุนสินค้ากลุ่มวัตถุดิบการผลิต และการบริการต่างๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงต้องเร่งพยายามเสริมสร้างจุดแข็งที่มีอยู่เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคทั้งในด้านความพร้อมในระบบสาธารณูปโภค ระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน กำลังแรงงานฝีมือสนับสนุน อุตสาหกรรม นโยบายที่สนับสนุนทางภาครัฐ มาตรการทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มกิจการและผู้บริหารของกิจการจากต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านระดับค่าแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมก็มีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกย้ายไปตั้งฐานกิจการของผู้ประกอบการเหล่านั้นด้วย โดยปัจจัยดังกล่าวถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของไทยเนื่องจากหากพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำไทยในปัจจุบันประมาณ 8.60 – 9.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาค เช่น เวียดนาม (5.92 – 6.66 ดอลลาร์สหรัฐ)  อินโดนีเซีย (4.07 – 10.00 ดอลลาร์สหรัฐ) และกัมพูชา (6.47 ดอลลาร์สหรัฐ) ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจึงควรพิจารณาการดำเนินนโยบายปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำในไทยอย่างถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโอกาสและการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานสำหรับกิจการต่างชาติและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน (Thailand Hub of ASEAN) ในอนาคต

หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login