บริษัท Rodinia Generation จากเดนมาร์กประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้น้ำในการผลิตเสื้อผ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการผลิตมากเกินความต้องการ/คำสั่งซื้อ และตั้งเป้าขยายการลงทุนเพื่อขยายโรงงานการผลิต (Microfactories) นี้ไปในประเทศอื่นๆ ในยุโรป และสู่ตลาดโลกต่อไป หลังจากที่ได้รับเงินลงทุนกว่า 3 ล้านยูโรจาก The Danish Export and Investment Fund (EIFO) และ Climentum Capital
บริษัท Rodinia สามารถตอบโจทย์ 3 ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเดนมาร์ก ได้แก่ (1) การไม่ใช้น้ำในการผลิต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตถึง 40% (2) สามารถผลิตเสื้อผ้าได้ภายในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ แทนการผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลากว่า 9 เดือน และ (3) Microfactories ของบริษัทฯ สามารถผลิตได้แม้มีปริมาณการสั่งซื้อน้อย จากระบบการผลิต Made-on-demand ซึ่งสามารถขจัดปัญหาการผลิตเสื้อผ้ามากเกินความต้องการ และสามารถควบคุมต้นทุนให้ใกล้กับปริมาณที่ขายได้จริง ต่างจากเดิมที่บริษัทเสื้อผ้าแฟชั่นจำเป็นต้องสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน
ทั้งนี้ นวัตกรรมของบริษัทฯ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลิตได้ในจำนวนมาก แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการผลิตจากดีไซน์เดียว สามารถปรับเปลี่ยนการดีไซน์ได้ตามต้องการ โดยสามารถสั่งผลิตได้มากกว่า 1,000 ดีไซน์ และสั่งไซส์ที่แตกต่างกันได้ ภายในการสั่งงานครั้งเดียว (1 batch)
เจ้าของกิจการ ดีไซน์เนอร์ และ CEO บริษัท Mads Nørgaard Copenhagen กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เริ่มจ้างให้บริษัท Rodinia Generation ผลิตเสื้อผ้าหลังจากได้ค้นพบนวัตกรรมนี้ จากเดิมที่บริษัทฯ จำเป็นต้องสั่งผลิตอย่างต่ำจำนวน 300 ชิ้น และใช้เวลายาวนานอย่างน้อย 3 เดือนจากข้อจำกัดของโรงงานการผลิตในต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถผลิตได้ภายในกรุงโคเปนเฮเกน สอดคล้องกับภาพลักษณ์แบรนด์ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งด้านการผลิต และการขนส่งทางไกลจากประเทศผู้ผลิตในเอเชีย
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะจัดหาสิ่งทอที่มีคุณภาพเพื่อเข้ากระบวนการ print, cure and cut อัตโนมัติโดยไม่ใช้น้ำ และสารเคมีที่เป็นพิษ และตัดเย็บในกรุงโคเปนเฮเกน โดยบริษัทฯ กล่าวว่า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมต้องใช้พื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร และใช้น้ำเกือบ 150 ล้านลิตรเพื่อผลิตเสื้อผ้าจำนวน 700,000 ชิ้น แต่โรงงานขนาดเล็ก Microfactory ของบริษัทฯ สามารถให้ผลผลิตขนาดเดียวกันได้ โดยใช้พื้นที่เพียง 200 ตารางเมตร และไม่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตเลย
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. ณ กรุงโคเปนเฮเกน:
• ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – มีนาคม) ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดกลุ่มประเทศ นอร์ดิกรวมมูลค่า 8.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 แบ่งออกเป็นการส่งออกไปยังตลาดเดนมาร์กมากที่สุด ที่มูลค่า 5.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 รองลงมา ได้แก่ สวีเดน มูลค่า 1.74 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 นอร์เวย์ มูลค่า 2.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.6 ฟินแลนด์ มูลค่า 0.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 153 และไอซ์แลนด์ มูลค่า 0.01 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69
• สินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มของไทยในตลาดกลุ่มประเทศนอร์ดิก คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมมูลค่า 8.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน บังกลาเทศ ตุรกี เวียดนาม และอิตาลี
• อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอจัดได้ว่าเป็นต้นเหตุการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงอุตสาหกรรมหนึ่ง คิดเป็น 8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ในขณะที่ แนวโน้มด้านความต้องการสินค้าเครื่องนุ่งห่ม และแฟชั่นที่เน้นความยั่งยืนเพิ่มขึ้น การปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มนี้มีความท้าทาย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกระบวนการผลิต ที่บริษัทออกแบบแฟชั่นส่งดีไซน์ไปจ้างผลิตในประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องสั่งผลิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงใช้น้ำ ใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้สีย้อมในปริมาณมหาศาล โดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เสื้อผ้าที่ผลิตออกมาจะขายได้มากขนาดไหน รวมทั้งการขนส่งที่ใช้เวลานาน
• การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ดังนั้น การพัฒนาสินค้า และเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้า และสิ่งทอเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มประเทศนอร์ดิกได้ เช่น การผลิตจากฝ้ายออร์แกนิก นวัตกรรมสิ่งทอ การลดการใช้พลังงาน และการใช้น้ำในการผลิตลดลง การใช้พลังงานสะอาดในการผลิต การพัฒนาวัสดุ/วัตถุดิบที่สามารถลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม การคำนวณการใช้ Co2 Emission การวางเป้าหมาย Zero emission การใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษจากป่าไม้ที่ยั่งยืน การไม่ใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ การลดการใช้บรรจุภัณฑ์ลง และอื่นๆ นอกจากนี้ กลุ่ม Start-up ยังสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : บริษัทสตาร์ทอัพเดนมาร์กประสบความสำเร็จคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตเสื้อผ้าภายในประเทศเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม