หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > “บริษัทยักษ์ใหญ่จับมือร่วมกันผลิตแอมโมเนียจากเสื้อผ้าใช้แล้ว” ลด CO2 ได้ร้อยละ 80 ในกระบวนการผลิต

“บริษัทยักษ์ใหญ่จับมือร่วมกันผลิตแอมโมเนียจากเสื้อผ้าใช้แล้ว” ลด CO2 ได้ร้อยละ 80 ในกระบวนการผลิต

บริษัท ITOCHU Corporation และบริษัท Resonac Holdings Corporation ได้ร่วมมือกันเพื่อผลิตแอมโมเนียจากเสื้อผ้าใช้แล้วที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์จากสารเคมี ซึ่งจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับการผลิตแบบเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในกระบวนการผลิต โดยบริษัท Resonac มีแผนที่จะผลิตแอมโมเนียทั้งหมดจากขยะในปี 2030 เป็นอย่างเร็ว การร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการเชื่อมปัญหาขยะจากเสื้อผ้าใช้แล้วของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกับการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization)
บริษัท ITOCHU และบริษัท Resonac ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โดยบริษัท ITOCHU จะเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบของแข็งที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์จากสารเคมีของเสื้อผ้าใช้แล้วผสมกับขยะพลาสติกและจัดส่งวัตถุดิบให้กับบริษัท Resonac เพื่อผลิตแอมโมเนียในโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมืองคาวาซากิ มีแผนเริ่มผลิตภายในปีงบประมาณ 2023 โดยบริษัท ITOCHU มีแผนจัดส่งวัตถุดิบของแข็งเพื่อผลิตแอมโมเนีย 1,000 ตันในปีแรก และตั้งใจจะจัดส่งเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ตันภายในปี 2027 และคาดว่า วัตถุดิบ 10,000 ตันจะสามารถผลิตแอมโมเนียได้ประมาณ 9,000 ตัน
วิธีการผลิตแอมโมเนียโดยทั่วไปจะผลิตโดยการใช้ก๊าซธรรมชาติกับน้ำทำปฏิกิริยาด้วยความร้อนเพื่อให้เกิดไฮโดรเจนและนำมาสังเคราะห์กับโนโตรเจน ซึ่งวิธีการผลิตนี้ มีข้อเสียคือทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในกระบวนการผลิต จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) การผลิตแอมโมเนีย 1 ตัน โดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิต จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2.4 ตัน หากเปลี่ยนวิธีการผลิตโดยใช้เสื้อผ้าใช้แล้วกับขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบแล้ว คาดว่า จะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับวิธีการผลิตแบบเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากโดยหลักการแล้วไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งความร้อนในการผลิตไฮโดรเจน และมีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมาใช้ใหม่
บริษัท ITOCHU ได้มอบหน้าที่ให้บริษัทในเครือเป็นผู้จัดหาเสื้อผ้าใช้แล้วและขยะพลาสติก บริษัทในเครือ เช่น บริษัท UNICO Corporation ผู้ผลิตชุดยูนิฟอร์มให้กับร้านอาหารและร้านค้าปลีก บริษัท DOME Corporation แบรนด์ชุดกีฬา เป็นต้น โดยชุดยูนิฟอร์มของบริษัท UNICO ส่วนใหญ่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์จากสารเคมี บริษัทจะรวบรวมชุดยูนิฟอร์มเมื่อลูกค้ามีการเปลี่ยนดีไซน์ชุด นอกจากนี้ บริษัท ITOCHU กำลังพิจารณาเพื่อรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วจากบริษัทคู่ค้าหลายร้อยบริษัทอีกด้วย
เมื่อปลายปี 2022 บริษัท ITOCHU ได้ลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพ ECOMMIT ซึ่งเป็นบริษัทที่รวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้ว บริษัท ITOCHU ได้ร่วมมือกับ ECOMMIT เพื่อเป็นฐานในการรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้ว และจะนำส่วนหนึ่งมาใช้ผลิตแอมโมเนีย สำหรับบริษัท Resonac นั้น ได้มีความพยายามในการดำเนินการใช้วัตถุดิบจากขยะมาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตแอมโมเนีย เช่น ขยะพลาสติกจากครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมืองคาวาซากิ ที่สามารถผลิตแอมโมเนียจากขยะพลาสติกได้แล้วในเชิงพาณิชย์ ปัจจุบัน การผลิตแอมโมเนียของบริษัทประมาณครึ่งหนึ่งยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ซึ่งบริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้วัตถุดิบจากขยะมาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตแอมโมเนียทั้งหมดภายในปี 2030 เป็นอย่างเร็ว และการร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากขยะพลาสติกแล้ว บริษัทยังสามารถนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอมโมเนียอีกด้วย
โรงงานที่เมืองคาวาซากิของบริษัท Resonac นั้น สามารถผลิตแอมโมเนียได้ปริมาณ 120,000 ตัน/ปี ซึ่งเท่ากับปริมาณการบริโภคแอมโมเนียเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในประเทศญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 10 โดยร้อยละ 70 ของแอมโมเนียที่ผลิตนั้น นำไปใช้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าและใช้ในการผลิตปุ๋ย ส่วนที่เหลือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของ “Acrylonitrile” สารประกอบเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบของ “synthetic resin” ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัท Resonac ยังมีสาร Acrylonitrile ที่ใช้สำหรับเส้นใยอะคริลิคจำนวนไม่มาก แต่หากบริษัทสามารถดึงดูดผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบรีไซเคิลได้ก็จะพิจารณาจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ ก็จะพิจาณาการนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) มาใช้ด้วย
ด้วยความนิยมของ Fast Fashion ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มประสบกับปัญหาปริมาณเสื้อผ้าใช้แล้วที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก จากรายงานของ The Japan Research Institute, Limited พบว่า ปี 2020 ปริมาณการป้อนสินค้าใหม่ประเภทเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศญี่ปุ่นเท่ากับ 819,000 ตัน และเกือบร้อยละ 60 หรือ 512,000 ตันนั้นคาดการณ์ว่าถูกทิ้งเป็นขยะ
แบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ ได้มีการดำเนินการเก็บรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วเช่นกัน เช่น แบรนด์ H & M จากประเทศสวีเดน ได้ให้บริการรับเสื้อผ้าใช้แล้วไม่ว่าจะมีสภาพอย่างไรหรือจะเป็นแบรนด์อะไร เช่นเดียวกับแบรนด์ ZARA จากประเทศสเปนที่กำลังดำเนินการให้บริการเพื่อรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วเช่นกัน   หลังจากเสื้อผ้าใช้แล้วถูกเก็บรวบรวมแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะถูกนำไป reuse เพื่อใช้เป็นวัสดุกันเสียงสำหรับรถยนต์ หรือนำมาใช้เป็นแหล่งความร้อนในการเผาไหม้ แต่การนำมาแยกเชิงเคมีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบ “Chemical Recycle” นั้นยังทำกันน้อย บริษัท ITOCHU ได้นำจุดแข็งของบริษัทที่เป็น General Trading Company ซึ่งทำธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมเคมี โดยนำเสื้อผ้าใช้แล้วมาแยกเชิงเคมีเพื่อนำมา reuse ต่อไป

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกตื่นตัวกับปัญหาขยะเสื้อผ้าที่มีจำนวนมากซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แบรนด์ดังระดับโลกต่างให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าของแบรนด์ตัวเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ ผู้บริโภคเองก็ตระหนักในเรื่อง Sustainability มากขึ้น ทำให้การพิจารณาการเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นเริ่มเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยรัฐบาลไทยได้ผลักดันและส่งเสริมนโยบาย BCG Economy ซึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอประเทศไทยมีจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและใช้วัตถุดิบธรรมชาติในการผลิต ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการผลิตสิ่งทอจากธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิล ทั้งการผลิตเส้นใยชีวภาพ การนำทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ จึงเป็นโอกาสทางการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ตระหนักในเรื่อง Sustainability ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญยิ่ง

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

10 เมษายน 2566

————————————–
อ้างอิง
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2566
ภาพถ่ายประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://www.nikkei.com/

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login