บริษัท Agoprene จากกรุงออสโลพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า Biofoam ที่เข้ามาทดแทนโฟมดั้งเดิมที่ผลิตจากพลาสติก เพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุบุในเฟอร์นิเจอร์
บริษัทฯ เริ่มต้นการวิจัย และทดลองจากการใช้เปลือกหอยนางรม บดเป็นผง และเปลี่ยนเป็นวัสดุฟอง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ใช้กับขยะเกษตรกรรม (Agricultural waste) และเส้นใยไม้ (wood fibres) ที่ใช้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ทางบริษัทฯ พบปัญหาว่า หลังจากได้ลองใช้วัสดุต่างๆ มากมาย แต่ส่วนใหญ่กลับกลายเป็นโฟมแข็ง ไม่สามารถสร้างความยืดหยุ่นได้ จนในที่สุด บริษัทฯ ได้ค้นพบวิธีที่สามารถทำให้โฟมยืดหยุ่นได้ คือการใช้สาหร่ายมาเป็นวัตถุดิบการผลิต โดยแปลงเป็นผง และอบในเตาอบแบบพิเศษ โดยจะสร้างโฟมเป็นลักษณะบล็อค ซึ่งมีความนุ่มเพียงพอสำหรับใช้กับเบาะรองนั่ง และเก้าอี้ โดยเป้าหมายของบริษัทฯ คือ การลดการใช้พลาสติกโพลีเมอร์ (โพลียูรีเทน/polyurethane) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในชิ้นส่วนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ กล่าวคือ การพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นชิ้นส่วนในหมอน โซฟา และเบาะเก้าอี้
เจ้าของกิจการ และนักวิจัยพัฒนาของบริษัทฯ กล่าวว่า โฟมจากสาหร่ายนี้สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100% ลูกค้าสามารถทิ้งโฟมนี้ไว้ในดิน และโฟมจะย่อยสลายตามธรรมชาติภายในเวลา 8 เดือน หรือเร็วกว่านั้นหากหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งขณะนี้บริษัท Agoprene อยู่ระหว่างพิจารณาโอกาสในการขยายปริมาณการผลิตโดยการย้ายไปยังโรงงานผลิตที่ใหญ่ขึ้นในปีหน้า
เช่นเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากเดนมาร์ก Mater ได้ผลิตเก้าอี้ และพนักพิงที่ทำจากวัสดุเปลือกเมล็ดกาแฟ และ ขี้เลื่อยที่เหลือจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่อื่น และผลิตเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งที่ทำจากขยะจากมหาสมุทร นอกจากนี้ บริษัทเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก IKEA จากสวีเดนที่ได้วางนโยบายการใช้เฉพาะวัสดุหมุนเวียนและรีไซเคิลมาใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์เท่านั้นภายในปี 2573
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. โคเปนเฮเกน:
แนวโน้มเฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกยังคงโดดเด่นด้วยการให้ความสำคัญกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่เรียบง่าย และความมุ่งมั่นต่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น
1. การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติและอินทรีย์ (Natural and Organic Materials): ดังเช่นบริษัท Agoprene ที่เลือกใช้สาหร่าย และบริษัท Mater ที่เลือกใช้เปลือกเมล็ดกาแฟ และขี้เลื่อยที่เหลือจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ที่อื่นมาใช้ นอกจากนี้ ยังมีวัสดุอื่นๆ จากธรรมชาติที่ผู้ผลิตในกลุ่มประเทศนอร์ดิกนิยมนำมาใช้ เช่น ผ้าลินิน ขนสัตว์ และปอ เป็นวัสดุที่นิยม วัสดุเหล่านี้ไม่เพียงแต่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างบรรยากาศสบายๆ และ hygge (ภาษาเดนมาร์กสื่อถึงอารมณ์ของการดื่มด่ำความสุข และรู้สึกสบาย)
2. การออกแบบ Circular Design และ Upcycling: การออกแบบ Circular Design มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการสร้างเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถถอดส่วนประกอบ รีไซเคิล และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างง่ายดาย (disassembled, recycled, and upcycled) การพิจารณาวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัดขยะเป็นสิ่งสำคัญ
3. การผลิตแบบประหยัดพลังงาน (Energy-Efficient Production): ผู้ผลิตในกลุ่มประเทศนอร์ดิกนิยมเลือกใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์
4. การใช้ไม้จากแหล่งที่ยั่งยืน (Wood from Sustainable Sources): กลุ่มประเทศนอร์ดิกมีความนิยม และวัฒนธรรมการใช้ไม้ในเฟอร์นิเจอร์มายาวนาน และยังคงเน้นการใช้ไม้จากแหล่งที่ได้รับการรับรองที่ยั่งยืนและยั่งยืน ไม้ที่ได้รับการรับรอง FSC (Forest Stewardship Council) เป็นเอกสารเครื่องยืนยันสำคัญที่ผู้นำเข้ามักนำมาประกอบการพิจารณา
5. การออกแบบที่เรียบง่าย (Minimalist Design): การออกแบบสไตล์นอร์ดิกมักเกี่ยวข้องกับความเรียบง่าย (simplicity and minimalism) ด้วยเส้นสายที่สะอาดตา และการออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้สอย
6. เฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะและ Modular Furniture: เฟอร์นิเจอร์แบบ Modular สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการ และพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ และกำลังได้รับความนิยม ซึ่งแนวทางนี้ยังส่งเสริมอายุการใช้งานที่ยืนยาวและลดความจำเป็นในการเปลี่ยนบ่อยครั้ง
7. ท้องถิ่นและงานฝีมือ (Local and Handcrafted): อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคจำนวนมากในกลุ่มนอร์ดิกให้ความสำคัญกับเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในท้องถิ่นและสินค้าที่ทำจากมือ ซึ่งไม่เพียงแต่สนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ผู้บริโภคยังคำนึงถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งด้วย
อ่านข่าวฉบับเต็ม : บริษัทผู้ประกอบการนอร์เวย์พัฒนานวัตกรรมวัตุดิบเฟอร์นิเจอร์จากธรรมชาติ