บริษัทฉางอาน (China Changan Automobile Group) ก่อตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2548 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครฉงชิ่ง บริษัทฉางอานประกอบกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์ การจำหน่ายและบริการรถยนต์ และโลจิสติกส์รถยนต์ ครอบคลุมห่วงโซ่อุตสาหกรรมธุรกิจรถยนต์ทั้งหมด ปัจจุบัน บริษัทฉางอานมีฐานการผลิตรถยนต์อยู่ในนครฉงชิ่ง มณฑลเฮยหลงเจียง มณฑล เหอเป่ย มณฑลเจียงซี มณฑลเจียงซู มณฑลอานฮุย มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลกวางตุ้ง ฯลฯ และได้จัดตั้งสำนักงานการตลาดกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ บริษัทฉางอานมีการจำหน่ายและส่งออกมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
ตามรายงานทางการเงินประจำไตรมาสของบริษัทฉางอาน ระบุว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทฉางอานมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์รวมทั้งสิ้น 1.869 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.24 และมีรายได้อยู่ที่ 108.206 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.78 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
บริษัทฉางอานเป็นเจ้าของแบรนด์ทั้งสามแบรนด์ ได้แก่ Changan、Hafei และ Dongan โดยแบรนด์ Changan (ฉางอัน) ได้รับรางวัล “เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงของจีน” มีมูลค่าแบรนด์ (Brand Value) กว่า 40.1 พันล้านหยวน นอกจากนี้ บริษัทฉางอานยังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนรถยนต์หลายแบรนด์ด้วย เช่น Dongan Auto Engine / Qingshan Transmission / Jiangbin Piston เป็นต้น
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 บริษัทฉางอานได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ให้กับฐานการผลิตรถยนต์ที่จังหวัดระยอง ประเทศไทย ซึ่งฐานนี้นับเป็นหนึ่งในการดำเนินการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของบริษัทฉางอาน เรียกว่าแผน “All Rivers Run into Sea” โดยมีวัตถุประสงค์จะให้บริการไปยังตลาดทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน รวมทั้ง “ตลาดรถพวงมาลัยขวา” ทั่วโลก ฐานการผลิตในประเทศไทยแห่งนี้จะสร้างโรงงานการพ่นสี โรงงานการประกอบเครื่องยนต์ โรงงานการประกอบแบตเตอรี่ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่วางแผนในระยะแรกจะสูงถึง 100,000 คันต่อปี ซึ่งมีแผนจะเริ่มการผลิตในต้นปี 2568 หลังจาก ฐานการผลิตระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการแล้ว กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 200,000 คันต่อปี รถยนต์ใหม่ที่ผลิตโดยฐานการผลิตเมืองไทยแห่งนี้ ไม่เพียงแต่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังจะส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ และประเทศอื่นๆ อีกด้วย
บริษัทฉางอานเริ่มขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศในปี 2534 และได้ก่อตั้งศูนย์การออกแบบรถยนต์ในอิตาลีในปี 2546 ปัจจุบัน บริษัทฉางอานมีฐานการผลิต 14 แห่ง และมีโรงงานผลิตรถยนต์ เครื่องยนต์ และเกียร์รถยนต์ทั้งหมด 33 แห่งทั่วโลก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทฉางอานได้เร่งการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการพัฒนาของบริษัทฉางอานที่ระบุว่า บริษัทฯ จะเข้าสู่ตลาดสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ อาเซียนและยุโรปภายในปี 2567 และจะเข้าสู่ตลาดมากกว่าร้อยละ 90 ของตลาดโลกภายในปี 2573
ก่อนหน้านี้ รถยนต์จากญี่ปุ่นมีการเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานกว่า 30 ปี และครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบร้อยละ 90 แต่ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังส่งเสริม “การใช้พลังงานไฟฟ้า” จึงทำให้ความต้องการรถยนต์พลังงานใหม่ (EV) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รถยนต์จากญี่ปุ่นตอบสนองความต้องการในตลาดค่อนข้างล่าช้า ซึ่งทำให้บริษัทรถยนต์จีนมีโอกาสแซงหน้าบุกตลาดไทยได้ นอกจากบริษัทฉางอานแล้ว แบรนด์ Nezha Automobile / BYD / GAC Aion / Geely / Chery Automobile ต่างก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะบุกตลาดไทยเช่นกัน
จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แบรนด์จีนมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ พบว่า แบรนด์ BYD อยู่ในอันดับที่ 1 ด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 35.4 Nezha Automobile อยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 18.8 SAIC อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 16.1 ส่วนแบรนด์ Tesla และ Great Wall อยู่ในอันดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับ
ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้พัฒนาเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 10 และเป็นตลาดจำหน่ายรถยนต์ใหญ่อันดับที่ 16 ของโลก ประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 2 ล้านคันทุกปี และมีซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นหนึ่งเกือบ 700 ราย ซึ่งนับเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านรถยนต์ที่เติบโตเต็มที่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขณะที่รถยนต์พลังงานใหม่ของจีนกำลังเป็นผู้นำตลาดโลก และสามารถตอบสนองความต้องการในการเปลี่ยนแปลงตลาดของประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์
คุณหวัง หุย รองประธานของบริษัทฉางอาน กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศไทยเปลี่ยนมาสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การเข้ามาของบริษัทฉางอานในประเทศไทยจะไม่เพียงแต่ช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคและระดับโลกเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการเชื่องโยงและความร่วมมือด้านรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างจีนและไทยเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งบริษัทฉางอานจะมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมและบริการขั้นสูงสุดให้แก่ผู้ใช้ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก นอกจากนี้ ยังจะเร่งดำเนินการขยายธุรกิจในตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับสากล และแสดงให้โลกเห็นถึงพลังชั้นนำของ Made in China
————————————————–
แหล่งข้อมูล :
http://cq.people.com.cn/n2/2023/1112/c365412-40637220.html
https://finance.eastmoney.com/a/202310252881580651.html
https://www.pcauto.com.cn/hj/article/2171909.html
https://baike.baidu.com
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1781803458494414104&wfr=spider&for=pc
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
อ่านข่าวฉบับเต็ม : บริษัทฉางอานเปิดตัวในเมืองไทย