หน้าแรกTrade insightปาล์มน้ำมัน > น้ำมันปาล์มราคาถูกกำลังจะหมดไป: การผลิตชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ไบโอดีเซลพุ่งสูงขึ้น

น้ำมันปาล์มราคาถูกกำลังจะหมดไป: การผลิตชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ไบโอดีเซลพุ่งสูงขึ้น

ราคาน้ำมันพืชอาจทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกหลายปี อันเป็นผลจากการผลิตที่ซบเซาและนโยบายส่งเสริมไบโอดีเซลในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้น้ำมันปาล์มซึ่งเคยมีต้นทุนต่ำปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความได้เปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชประเภทอื่นลดลง น้ำมันปาล์มเป็นส่วนสำคัญในตลาดน้ำมันพืชทั่วโลก โดยถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตั้งแต่ขนมเค้ก ไขมันสำหรับทอด ไปจนถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันพืชรายใหญ่ของโลก ดร. ดอราบ มิสตรี (Dorab Mistry) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงและผู้อำนวยการบริษัท Godrej International ระบุว่า “ยุคน้ำมันปาล์มราคาถูกที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน นั้นจบลงแล้ว น้ำมันปาล์มจะไม่ถูกอีกต่อไป ตราบใดที่อินโดนีเซียยังคงให้ความสำคัญกับไบโอดีเซล” ขณะที่อินโดนีเซียได้เพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มเป็นร้อยละ 40 ในปีนี้ และกำลังพิจารณาเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปี 2026 รวมถึงเริ่มใช้ไบโอดีเซลร้อยละ 3 ในเชื้อเพลิงอากาศยานในปีหน้า

การส่งเสริมไบโอดีเซลของอินโดนีเซียจะทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มลดลงเหลือเพียง 20 ล้านตันภายในปี 2030 จากระดับ 29.5 ล้านตันในปี 2024 ตามการประเมินของ นายเอดดี้ มาร์โตโน (Eddy Martono) ประธานสมาคมน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย (GAPKI) นอกจากนี้ ภัยน้ำท่วมในมาเลเซียยังส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ดันให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงกว่าน้ำมันถั่วเหลือง ทำให้ผู้ซื้อลดการนำเข้าลง

ในอินเดียราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) มีราคาสูงกว่าน้ำมันถั่วเหลืองดิบติดต่อกันมานานกว่า 6 เดือน และบางช่วงมีส่วนต่างสูงถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน เปรียบเทียบกับปี 2022 ที่ราคาน้ำมันปาล์มถูกกว่า 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปาล์มดิบในอินเดียมีราคา 1,185 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่น้ำมันปาล์มดิบมีราคาต่ำกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน

เมื่อเทียบกับน้ำมันพืชชนิดอื่น ราคาน้ำมันปาล์มที่พุ่งสูงขึ้นกระทบต่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ      ของรัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาน้ำมันปาล์ม รวมถึงประเทศที่ใช้น้ำมันถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน และเรพซีดเป็นหลัก

อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 1980 – 2020 โดยการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในทุก ๆ 10 ปี ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำที่ดินมาใช้เพาะปลูก อย่างไรก็ตามการผลิตเริ่มชะลอตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมาเลเซียซึ่งมีพื้นที่จำกัดและการปลูกทดแทนล่าช้า ขณะที่อินโดนีเซียก็เผชิญแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมทำให้การขยายพื้นที่ปลูกชะลอตัว ประกอบกับการปลูกทดแทนที่ล่าช้า โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตน้ำมันปาล์มถึงร้อยละ 40 ของปริมาณทั้งหมด ส่งผลให้การเติบโตของการผลิตทั่วโลกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ นายโธมัส มิลค์ (Thomas Mielke) ผู้อำนวยการของ Oil World คาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันปาล์มในทศวรรษนี้จะเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1.3 ล้านตัน ลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.9 ล้านตันต่อปี เขาเตือนว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นปาล์มที่เริ่มแก่ และโรคเชื้อรากาโนเดอร์มา (Ganoderma)   อาจทำให้ผลผลิตลดลงไปอีก ดร. ดอราบ มิสตรี (Dorab Mistry) และนายโธมัส มิลค์ (Thomas Mielke)  ยังเห็นพ้องกันว่า อินโดนีเซียควรกลับมาออกใบอนุญาตให้ปลูกปาล์มน้ำมันใหม่ หลังจากระงับมาตั้งแต่ปี 2018  ดร. ดอราบ มิสตรี (Dorab Mistry) กล่าวว่า “หากอินโดนีเซียยังคงระงับการขยายพื้นที่ปลูก จะเกิดภาวะขาดแคลนเป็นระยะ และราคาน้ำมันปาล์มจะพุ่งสูงเป็นช่วงๆ” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค 3-4 พันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

 

ความคิดเห็นสำนักงาน

อินโดนีเซียเดินหน้าผลักดันการผลิตไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงนโยบายพลังงานของรัฐบาลที่ต้องการลดการพึ่งพาน้ำมันดิบ และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานภายในประเทศ โดยกำหนดให้เพิ่มอัตราส่วนการผสมไบโอดีเซลในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังมีแผนผสมน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ร้อยละ 3 ในเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยเช่นกัน นโยบายดังกล่าว ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพในประเทศ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์มภายในประเทศ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันปาล์มทั่วโลกโดยลดลงอย่าง     มีนัยสำคัญ จาก 29.5 ล้านตันในปี 2024 คาดว่าอาจลดลงเหลือ 20 ล้านตันภายในปี 2030 ขณะที่การบริโภคไบโอดีเซลภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 0.8 ล้านตันในปี 2015 เป็น 13.6 ล้านตันในปี 2025 ด้านการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 32.5 ล้านตันในปี 2015 เป็น 50 ล้านตันในปี 2025 ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียลดลงอย่างต่อเนื่องโดยในปีล่าสุดการส่งออกลดลงเหลือ 27.35 ล้านตัน นโยบายดังกล่าวของอินโดนีเซียเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับไทย เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายสำคัญหากอินโดนีเซียลดการส่งออก ไทยสามารถเพิ่มการส่งออกเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปและได้รับประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตภายในประเทศก็อาจเพิ่มขึ้นกระทบอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน ผู้ประกอบการไทยควรเร่ง พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และส่งเสริมน้ำมันปาล์มคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงกระจายแหล่งนำเข้าน้ำมันพืชชนิดอื่นเพื่อลดผลกระทบ

 

 

กราฟแสดงปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย ควบคู่กับการบริโภคไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกลดลง

 

น้ำมันปาล์มซึ่งเดิมมีราคาต่ำกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตที่ลดลงและความต้องการใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้น

 

กราฟแสดงการเปรียบเทียบราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดโลก

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : น้ำมันปาล์มราคาถูกกำลังจะหมดไป: การผลิตชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ไบโอดีเซลพุ่งสูงขึ้น

Login