หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > น้ำผลไม้แท้ทวงบัลลังค์สงครามเครื่องดื่มในจีน

น้ำผลไม้แท้ทวงบัลลังค์สงครามเครื่องดื่มในจีน

สงครามเครื่องดื่มในตลาดจีนต่างต่อสู้แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างดุเดือด ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้เครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล เช่น ชา และน้ำอัดลม เป็นต้น แต่พบว่าในช่วงที่ผ่านมาเครื่องดื่มกลุ่มน้ำผลไม้ได้กลับมาทวงบัลลังค์เครื่องดื่มยอดนิยมอีกครั้ง

 

  1. ยอดขายน้ำผลไม้กลับมาพลิกฟื้น

 

ข้อมูลจาก Kantar Worldpanel เปิดเผยว่า เมื่อปี 2563 ยอดขายตลาดน้ำผลไม้ลดลงร้อยละ -9.4 แต่ยอดขายน้ำผลไม้ในเขตเมืองของจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 – 2566 เป็นต้นมา โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ร้อยละ 21 และร้อยละ 24 ตามลำดับ

 

ตารางอัตราการเติบโตของยอดขายน้ำผลไม้ในช่วง ปี 2563 – 2566

ปี การเปลี่ยนแปลงของยอดจำหน่าย
2563 -9.4%
2564 9.5%
2565 21.0%
2566 24.0%
2567/Q1 20.8%

ที่มา :  Kantar Worldpanel

 

ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำผลไม้ของบริษัทใหญ่ในจีนต่างพบว่ามียอดจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 รายได้จากการจำหน่ายน้ำผลไม้ของบริษัท Uni-President China Holdings Ltd. มูลค่า 3,404.2 ล้านหยวน (17,021 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 สูงสุดในรอบ 7 ปี และคิดเป็นอัตราเพิ่ม 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 ส่วนน้ำผลไม้ของโคคาล่า (น้ำผลไม้อัดลม) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 น้ำผลไม้ของหนงฟู่ซานฉวนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 3,533 ล้านหยวน (ประมาณ 17,665 ล้านบาท) ทั้งนี้ น้ำผลไม้ยังคงมีแนวโน้มทยานสูงขึ้นอีก โดยพบว่าไตรมาสแรกของปี 2567 ยอดขายน้ำผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 แซงหน้าเครื่องดื่มประเภทอื่นอย่างชาบรรจุขวด

 

ที่มาภาพ : Weibo@美汁源饮料

2. การพลิกฟื้นของน้ำผลไม้มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง

การเติบโตของยอดขายน้ำผลไม้ระหว่างปี 2557 – 2562 แบ่งเป็นน้ำผลไม้ 100% เติบโตร้อยละ +12.9 น้ำผลไม้เข้มข้นปานกลางเติบโตร้อยละ +9.4 และน้ำผลไม้เข้มข้นต่ำเติบโตเพียงร้อยละ +0.4 ซึ่งการเติบโตใหม่ของน้ำผลไม้มีแรงหนุนมาจากความนิยมน้ำผลไม้ NFC (not from Concentrated หรือน้ำผลไม้คั้นสดที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ) และน้ำผลไม้ 100% จากรายงาน 2024 China Shopper Report ซึ่งจัดทำโดยสถาบัน Bain และ Kantar Worldpanel เปิดเผยว่า กลุ่มน้ำผลไม้คุณภาพสูง ได้แก่ น้ำผลไม้ NFC และน้ำผลไม้ 100 % กำลังเข้ามาแทนที่น้ำผลไม้เข้มข้นต่ำแบบดั้งเดิม โดยพบว่าตั้งแต่ปี  2566 เป็นต้นมา กลุ่มน้ำผลไม้คุณภาพสูงมียอดจำหน่ายเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของตลาดบริโภค ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

 

2.1 การเติมสารเสริมอาหารเป็นเทรนด์ของน้ำผลไม้ฟังก์ชั่น

ตั้งแต่มีการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกได้เปลี่ยนแนวคิดการบริโภค จึงเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติด้านสุขภาพและภูมิคุ้มกันได้รับความสนใจ ทั้งนี้ จาก ‘รายงานการสำรวจปัญหาสุขภาพทั่วโลก’ โดยประเทศจีนเป็นกรณีศึกษาพบว่าผู้บริโภคจีนร้อยละ 71 มีการรับรู้ว่าวิตามินซีและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาให้ความสำคัญต่ออาหารเสริมที่มีวิตามินซีเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สอดคล้องกับ ‘รายงานการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2566’ ผู้บริโภคที่เลือกซื้อน้ำผลไม้ NFC เนื่องจากคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินสูง นอกจากนี้ น้ำผลไม้ยุคใหม่ยังชูจุดเด่นทางโภชนาการตามธรรมชาติด้วย อาทิ น้ำบลูเบอร์รี่ช่วยเสริมแอนไซยานิน น้ำมะพร้าวช่วยเสริมโพแทสเซียม และน้ำลูกพรุนมีฤทธิ์เป็นยาระบาย เป็นต้น ซึ่งนอกจากเทรนด์ของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแล้ว ความนิยมน้ำผลไม้ที่ฟื้นตัวยังมาจากคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาใหม่ ๆ

 

ที่มาภาพ : Weibo @源究所OriLab

 

2.2 ผลไม้ที่เป็นที่รู้จักน้อย เป็นจุดเติบโตใหม่ของน้ำผลไม้

หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ตลาดน้ำผลไม้เกือบทั้งหมดเป็นน้ำส้ม แต่ปัจจุบันมีน้ำผักและผลไม้ใหม่ ๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมีจำหน่ายในตลาดมากขึ้น อาทิ น้ำฝรั่ง น้ำหม่อน น้ำลูกแพร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ความหลากหลายของรสชาติยังช่วยหนุนให้ราคาเฉลี่ยของน้ำผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ช่วงก่อนปี 2564 คนจีนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักมะขามป้อม แต่ปัจจุบันสามารถหาซื้อน้ำมะขามป้อมได้ตามร้านสะดวกซื้อในเมืองใหญ่ได้แล้ว โดยพบว่าในปี 2564 รายได้ของร้านเครื่องดื่มชาแบรนด์ NAIXUE มูลค่า 4,100 ล้านหยวน (ประมาณ 20,500 ล้านบาท) ร้อยละ 24 มาจากผลิตภัณฑ์น้ำมะขามป้อม ส่วนแบรนด์ชั้นนำอย่าง CoCo , Lelecha และ Ganqing ก็มีเครื่องดื่มน้ำมะขามป้อมเช่นกัน ซึ่งแบรนด์ชั้นนำเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการนำมะขามป้อมให้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมี แบรนด์ Lemon Republic ได้ออกเครื่องดื่มรสชามะนาวไทย ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากร้านค้าออฟไลน์

ที่มาภาพ : Weibo@奈雪的茶 , Xiaohongshu@柠檬共和国

 

2.3 ร้านอาหารและค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นช่องทางเจาะตลาดของน้ำผลไม้

แบรนด์ Songyouzhi ได้หลีกเลี่ยงช่องทางการค้าปลีกที่มีการแข่งขันสูง โดยเดินหน้าทำการตลาดในร้านออฟไลน์อย่างร้านหม้อไฟ และบาร์บีคิว เป็นหลัก โดยในปี 2565 แบรนด์ Songyouzhi ทำยอดขายไปถึง 396 ล้านหยวน (ประมาณ 1,980 ล้านบาท) และปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านหยวน (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ซึ่งยังมีโอกาสอีกมากมายในตลาดร้านอาหาร นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์น้ำผลไม้อัดลม ‘Hope water’ ที่มุ่งเน้นเจาะตลาดร้านอาหาร โดยแรงบันดาลใจในการทำเครื่องดื่มของ Hope water คือซอฟต์ดริงก์ที่เหมาะกับบาร์บีคิว จึงได้นำเสนอน้ำอัดลมชานจา (Hawthorn Berry) ออกมา ซึ่งสามารถตีตลาดร้านบาร์บีคิวและร้านหม้อไฟแฟรนไชน์ด้วย

 

นอกจากช่องทางร้านอาหารแล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกแบบออฟไลน์และออนไลน์มีบทบาทที่สำคัญในการทำให้น้ำผลไม้พรีเมี่ยมสามารถเข้าสู่ตลาดใหญ่ได้ ยกตัวอย่างแบรนด์น้ำผลไม้ HPP ‘VCLEANSE’ ร่วมมือกับ ซูเปอร์มาร์เก็ต ‘เหอหม่า (HEMA)’ จำหน่ายน้ำผลไม้ HPP (High Pressure Processing) ซึ่งต้องอาศัยโลจิสติกส์แบบ Cold Chain ซึ่งทำให้มีราคาแพงกว่าเครื่องดื่มน้ำผลไม้อื่นๆ ซึ่งเหอหม่ามีส่วนช่วยแบกรับต้นทุนการขนส่ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของแบรนด์น้ำผลไม้ได้เป็นอย่างมาก

3. คาดการณ์อนาคตของน้ำผลไม้

สถาบันวิจัยหลายแห่งประเมินว่ายังมีช่องว่างสำหรับการเติบโตของน้ำผลไม้พรีเมี่ยมที่ดีต่อสุขภาพ อย่างน้ำผลไม้ 100% น้ำผลไม้ NFC น้ำผลไม้ HPP สาเหตุก็เนื่องมาจากผู้บริโภคนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก สะอาด และดีต่อสุขภาพ โดยข้อมูลจากรายงานตลาดเครื่องดื่มน้ำผักและผลไม้ของจีนของสถาบัน Leadleo คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2566 – 2570 ของตลาดน้ำผักและผลไม้จะอยู่ที่ร้อยละ 17 ขณะที่ Euromonitor คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีของยอดขายและปริมาณจำหน่ายของตลาดน้ำผลไม้ชนิดที่มีปริมาณน้ำผลไม้ต่ำและไม่ใช้น้ำผลไม้ 100% จะมีแนวโน้มลดลง

 

ทั้งนี้ รูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ มีดังนี้

 – น้ำผลไม้พรีเมี่ยม อย่างน้ำผลไม้ NFC และน้ำผลไม้ 100% ยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัจจุบันน้ำผลไม้ 100% ครองส่วนแบ่งตลาดน้ำผลไม้จีนเพียงร้อยละ 6 ขณะที่เมื่อเทียบกับตลาดญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งถึงร้อยละ 62 และข้อมูลจาก Euromonitor เปิดเผยว่า ราคาน้ำผลไม้ต่อลิตรในตลาดจีนขยับเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2550 มีราคาอยู่ที่ 6.6 หยวนต่อลิตร (33 บาทต่อลิตร) เพิ่มขึ้นเป็น 10 หยวนต่อลิตร (50 บาทต่อลิตร) ในปี 2566 ซึ่งผู้บริโภคยังคงเต็มใจที่จะจ่ายแพงเพื่อสุขภาพที่ดี

 – ความก้าวหน้าทางนวัตกรรม เช่น บริษัท NewTree Fruit Company ได้คิดค้นเทคโนโลยีในการแยกน้ำตาลออกจากผลไม้ กักเก็บวิตามิน สารเสริมเพื่อต้านอนุมูลอิสระ และสารอาหารอื่นๆ ส่งผลให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่กังวลกับการบริโภคน้ำตาล และผู้รักสุขภาพได้มากขึ้น

 – การเสริมส่วนผสมพิเศษ นอกจากสารอาหาร เช่น วิตามินแล้ว น้ำผลไม้ยังสามารถเพิ่มส่วนผสมอื่นๆ อาทิ ขมิ้น ผักแคล หรือคุณสมบัติอื่นๆ เช่น โปรไบโอติกส์ ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นเทรนด์ในอนาคตของน้ำผลไม้

 – การประยุกต์กับเครื่องดื่มรูปแบบอื่นๆ เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ชา หรือไวน์ ฯลฯ หรือตามความชอบของผู้บริโภค

 

ที่มาภาพ : https://www.foodtalks.cn

 

ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

ตลาดน้ำผลไม้ของจีนยังคงมีโอกาสในกลุ่มน้ำผลไม้แท้ น้ำผลไม้ฟังก์ชั่น และน้ำผลไม้ที่มีนวัตกรรม โดยปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจีนจะมีความยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าดีต่อสุขภาพ แต่การตั้งราคาให้เหมาะสมก็จะสามารถเจาะตลาดได้หลากหลายกลุ่มยิ่งกว่า นอกจากนี้ยังต้องหาคู่ค้าหาพันธมิตร เดินหน้าขยายตลาดออฟไลน์หลายช่องทาง เช่น ร้านสะดวกซื้อแฟรนไชน์แล้ว ร้านอาหาร รวมถึงร้านค้าปลีกรูปแบบใหม่ และที่สำคัญก็ต้องขยายช่องทางออนไลน์ควบคู่ และมีการประชาสัมพันธ์แบรนด์ทางช่องทางสื่อโซเชียลมีชื่อของจีนให้มาก ให้เกิดการสร้างการรับรู้สินค้าในวงกว้าง

 

ที่มาข้อมูล : https://www.foodtalks.cn/news/53719

ที่มาภาพปก : suja

******************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : น้ำผลไม้แท้ทวงบัลลังค์สงครามเครื่องดื่มในจีน

Login