หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ได้พบกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจ คือ การลดภาษีเงินได้และการเพิ่มภาษีนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศ นายทรัมป์ได้ประกาศกับสมาชิกพรรครีพับลิกันว่ามีแผนที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าและลดภาษีเงินได้ให้กับชาวอเมริกันคาดว่าจะต่ำลงถึงอัตราร้อยละ 0
หัวใจสำคัญของนโยบายทางเศรษฐกิจของนายทรัมป์ คือ การเพิ่มภาษีนำเข้าและการลดภาษีเงินได้ หากนายทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ นายทรัมป์สัญญาว่าจะดำเนินนโยบายเชิงรุก ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 10 และเก็บภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 60 สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน
นายทรัมป์และผู้สนับสนุนกล่าวว่าการเพิ่มภาษีนำเข้าและการลดภาษีเงินได้จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งกระตุ้นการจ้างงานในสหรัฐฯ และเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นแรงงานอเมริกัน นายทรัมป์และผู้สนับสนุนมองว่าภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากต่างประเทศจะทำให้เกิดรายได้จำนวนมากที่จะมาชดเชยรายได้จากภาษีเงินได้ที่ลดลง
นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นที่ต่างออกไป โดยมองว่าการลดภาษีเงินได้พร้อมกับการขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนสูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจมักจะส่งต่อต้นทุนของภาษีนำเข้าให้กับผู้บริโภคซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบจากการภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำมักจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในสัดส่วนที่สูง และคนรวยมักจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้ เนื่องจากพนักงานที่มีรายได้ต่ำไม่ได้มีรายได้มากพอที่จะได้ประโยชน์จากการลดภาษี
Ms. Kimberly Clausing นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Peterson Institute for International Economics ซึ่งทำงานให้กับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าการลดภาษีเงินได้พร้อมกับการขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำร้ายฐานเสียงของนายทรัมป์ นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสหรัฐฯ โดยการเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเพิ่มภาษีนำเข้าไม่สามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ดังกล่าวได้
นาย Robert Lighthizer อดีตหัวหน้าเจรจาการค้าในรัฐบาลทรัมป์ได้หาเสียงในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าพร้อมกับโต้แย้งว่าการเพิ่มภาษีนำเข้าไม่ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อและไม่ได้อยู่ในรูปแบบภาษีถดถอย นอกจากนี้ การเพิ่มภาษีนำเข้ายังเป็นการเพิ่มการผลิตและการสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในประเทศให้มีรายได้สูงขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นการทำให้เกิดภาวะเงินฝืดมากกว่าภาวะเงินเฟ้อ
ผลการศึกษาของนาย Lighthizer พบว่าการที่ชาวอเมริกันจะเป็นผู้รับภาระการเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้านั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากภาษีนำเข้าควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการลดภาษีเงินได้จะเป็นการปรับโครงสร้างให้ชนชั้นกลางชาวอเมริกันได้ประโยชน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมองว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันอาจจะต้องรับภาระมากขึ้นจากการเพิ่มภาษีนำเข้า ชนชั้นกลางชาวอเมริกันจะได้รับการชดเชยของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการลดภาษีเงินได้ ดังนั้น การลดภาษีเงินได้พร้อมกับการขึ้นภาษีนำเข้าสามารถทำให้นโยบายภาษีอยู่ในรูปแบบก้าวหน้าได้ ซึ่งจะทำให้มีการผลิตภายในสหรัฐฯ มากขึ้น ส่งผลให้มีการจ้างงานในประเทศมากขึ้น
จาก การประกาศของนายทรัมป์ที่ Capitol Hill ดูเหมือนจะจูงใจแม้กระทั่งนักการเมืองที่ไม่เชื่อเรื่องภาษีนำเข้าก็ดูจะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว หากการเพิ่มขึ้นภาษีนำเข้าจะมาชดเชยรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่ลดลง นาย Thomas Massie ผู้แทนรีพับลิกันจากรัฐเคนทักกี้ได้กล่าวว่าข้อเสนอของนายทรัมป์ยังมีความคลุมเครือ แต่ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
สมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันบางคนต้องการข้อมูลของนายทรัมป์เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภารีพับลิกัน Josh Hawley จากรัฐมิสซูรีเห็นว่าการขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและควรจะใช้รายได้นั้นเพื่อชดเชยผลกระทบจากการลดภาษีเงินได้
ข้อเสนอของนายทรัมป์ในการขึ้นภาษีนำเข้าดูเหมือนจะขัดกับหลักการของพรรคในการสนับสนุนให้มีการแข่งขันเสรีและยุติธรรม ภาษีนำเข้าสามารถปกป้องผู้ผลิตในสหรัฐฯ จากการแข่งขันทางการค้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานในสหรัฐฯ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางรายโต้แย้งว่าเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงในการเพิ่มตัวเลขการจ้างงาน
บนเว็บไซต์หาเสียงของนายทรัมป์ได้มีข้อความ “การยกเครื่องนโยบายภาษีและนโยบายการค้าเป็นหัวใจหลักของวิสัยทัศน์ของผม” และการที่นายทรัมป์เลือกนาย J.D. Vance สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐโอไฮโอเป็นผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นจุดยืนของพรรครีพับลิกัน โดยที่ผ่านมานาย Vance ได้วิพากษ์แนวทางปฏิบัติทางการค้าของประเทศจีนอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้ปกป้องผู้ผลิตในสหรัฐฯ จากทุกการแข่งขันทางการค้า
จากการแถลงการณ์ของ Ms. Anna Kelly โฆษกหญิงของคณะกรรมการพรรคริพับลิกันแห่งชาติ (Republican National Committee) กล่าวว่านายทรัมป์ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลักโดยการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าพร้อมกับการรักษาภาวะเงินเฟ้อและการควบคุมราคาสินค้า นโยบายของนายทรัมป์มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยจะลดภาษีเงินได้และขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อให้มีการผลิตและการจ้างงานในสหรัฐฯ และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่วันแรกที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
หัวใจสำคัญของนโยบายภาษีของนายทรัมป์ คือ การต่อขยายมาตรการภาษีเงินได้ที่ใช้บังคับในปี 2560 ได้แก่ การลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา การกำหนดเงื่อนไขในการหักลดหย่อน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2568 การต่อขยายมาตรการภาษีเงินได้จะทำให้การประชุมของสภานิติบัญญัติในกรุงวอชิงตันมีความตึงเครียดมากขึ้น
การศึกษาของสถาบัน Tax Policy Center ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายการคลังในกรุงวอชิงตันให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าชาวอเมริกันที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้ แต่คนรวยจะได้รับประโยชน์มากกว่า ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงขึ้น
พรรคริพับลิกันส่วนใหญ่รวมตัวกันหาเสียงเพื่อขยายมาตรการภาษีเงินได้ที่กำลังจะหมดอายุ นายทรัมป์และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจกำลังหาแนวทางในการลดภาษีที่นอกเหนือไปจากมาตรการภาษีที่บังคับใช้ในปี 2560 เช่น การลดอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 21 และระงับภาษีที่หักจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง (Payroll Tax) ที่นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายสำหรับค่าประกันสังคม (Social Security) และสวัสดิการสาธารณสุข (Medicare)
นาย Stephen Moore ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายทรัมป์ยังไม่มั่นใจเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้ามากนัก แต่ถ้ารายได้จากการขึ้นภาษีนำเข้าสามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการลดภาษีเงินได้ จึงอาจเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าและสมเหตุสมผล
นาย Michael Stumo ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรไม่แสวงหากำไร Coalition for a Prosperous America ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนนโยบายกีดกันทางการค้า กล่าวว่าการขึ้นภาษีนำเข้าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ในอนาคต และชี้ให้เห็นว่าความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอในครั้งนี้มีความน่าสนใจและรอบคอบมากกว่าครั้งก่อนๆ และเห็นได้ชัดว่ามีกลุ่มที่สนับสนุนให้ลดภาษีเงินได้ในพรรคริพับลิกันจำนวนมาก ดังนั้น หากมีการชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ด้วยการเพิ่มภาษีนำเข้าอาจทำให้มีการหารือเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใหม่ๆ
นาย Douglas A. Irwin นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของมหาวิทยาลัย Dartmouth กล่าวว่าในช่วงก่อตั้งประเทศ รัฐบาลสหรัฐฯ มีรายได้ส่วนใหญ่จากภาษีนำเข้า และในช่วงสงครามกลางเมืองรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการทางภาษีอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสหรัฐฯ มากขึ้น โดยได้มีการออกมาตรการภาษีเงินได้ในปี 2456 เพื่อต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในช่วงหลังสงครามกลางเมือง
องค์กรไม่แสวงหากำไร Committee for a Responsible Federal Budget คาดการณ์ว่าข้อเสนอของนายทรัมป์ที่เสนอให้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าอยู่ที่อัตราร้อยละ 10 สำหรับสินค้าจากต่างประเทศ อาจสร้างรายได้มากถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งสามารถเติมเต็มการขาดดุลจากมาตรการภาษีที่บังคับใช้ในปี 2560 ซึ่งสำนักงบประมาณแห่งชาติสหรัฐฯ (Congressional Budget Office) ประมาณการว่ามาตรการภาษีที่บังคับใช้ในปี 2560 ได้ทำให้ภาครัฐมีต้นทุนมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของสถาบัน Peterson Institute โดย Ms. Kimberly Clausing และนาย Maurice Obstfeld คาดการณ์ว่าการเก็บภาษีนำเข้าที่อัตราร้อยละ 10 ไม่สามารถชดเชยการสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีได้ รายได้สูงสุดที่สหรัฐฯ จะได้รับจากการเพิ่มภาษีนำเข้าคาดว่าจะอยู่ที่ 780,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ที่จัดเก็บจากภาษีเงินได้ในปัจจุบัน และ Ms. Clausing และนาย Obstfeld ได้ประมาณการกรณีสหรัฐฯ ดำเนินข้อเสนอมาตรการภาษีพบว่าชาวอเมริกันผู้มีรายได้น้อยจะมีรายได้สุทธิลดลงร้อยละ 8.5 และผู้มีรายได้สูงจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6
นอกจากนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะจุดชนวนก่อให้เกิดสงครามการค้า ในวาระแรกของการดำรงตำแหน่งของนายทรัมป์ มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ได้ทำให้ต่างประเทศใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า ทำให้ผู้ผลิตในสหรัฐฯ โดนเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มสำหรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะเกษตรกรชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าอย่างมาก ทำให้ฝ่ายบริหารของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
นายทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 นี้มีนโยบายหลัก คือ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยได้เสนอมาตรการลดภาษีเงินได้ประกอบกับการเพิ่มภาษีนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีการดำเนินมาตรการทางภาษีดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งหากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงขึ้นอาจส่งผลให้ชาวอเมริกันมีการบริโภคสินค้านำเข้าลดลง ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย เพื่อให้สามารถตั้งรับและปรับตัวได้อย่างทันท่วงที
ข้อมูลอ้างอิง: NYTimes
อ่านข่าวฉบับเต็ม : นโยบายภาษีของทรัมป์ผู้ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ