ในสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมันได้สรุปนโยบายด้านการเมืองเกี่ยวกับจีนออกมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการสรุปท่าทีออกมาอย่างชัดเจน โดยนโยบายที่พูดถึงนี้จะกลายเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของระหว่างทั้ง 2 ประเทศในอนาคต และแม้ว่าในสัญญาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล (Koalitionsvertrag) ได้กล่าวถึงจีนเอาไว้ว่า จีนมีฐานะเป็นทั้งหุ้นส่วน คู่แข่ง และคู่ค้าที่สำคัญในเวลาเดียวกัน แต่สำหรับในนโยบาย “ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับประเทศจีน (Chinastrategie) นี้มีเนื้อหาและแสดงออกซึ่งท่าทีที่เยอรมนีมีต่อจีนแตกแต่งออกไปอย่างชัดเจน โดยเห็นว่าจีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ทั้งนี้ ในองค์ประกอบหลักของเอกสารก็ ต้องการที่จะลดการพึ่งพิงจีนในด้านเศรษฐกิจลง” ด้านนาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีจากพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) (SPD) ได้ออกมาเน้นย้ำผ่าน Twitter ว่า “เป้าหมายของเยอรมนีไม่ได้ต้องการตัดความสัมพันธ์กับจีน แต่เราต้องการที่จะลดการพึ่งพิงจีนลงในอนาคต” ในขณะที่ นาง Annalena Baerbock รัฐมนตรีต่างประเทศ จากพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) ได้ให้ความเห็นว่า “เยอรมนีต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น” โดยได้กล่าวในขณะที่กำลังนำเสนอยุทธศาสตร์ฯ ว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เยอรมนีต้องลดความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวในการลงทุน (Concentration Risk) ทั้งรายบุคคลและภาพรวมทางเศรษฐกิจ” ซึ่งนั่นหมายความว่า บริษัทที่เข้าไปประกอบธุรกิจในจีนในอนาคตก็อาจจะต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคต
สำหรับสถานที่ที่นาง Baerbock เลือกที่จะใช้นำเสนอยุทธศาสตร์ฉบับนี้ก็แปลกกว่าปกติ โดยได้นำเสนอในห้องประชุมของสถาบัน MERICS, Mercator Institute for China Studies gGmbH ซึ่งเป็น Thinktanks ของจีนกลางกรุงเบอร์ลิน แทนที่จะใช้ห้องแถลงข่าวของรัฐบาลกลางหรือห้องแถลงข่าวของกระทรวงฯ สำหรับสาเหตุในการเลือกสถานที่แห่งนี้แถลงข่าว เพื่อต้องการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของเยอรมนีและเพราะความพิเศษของสถานการณ์นี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเลือกสถานที่พิเศษพอ ๆ กัน ดังนั้น กว่าที่รัฐบาลเยอรมันจะสามารถคลอดยุทธศาสตร์จีนนี้ได้ก็ต้องหารือกันอีกหลายรอบ เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้ โดยเสียงที่แตกต่างกันออกไป อย่างเสียงจากกระทรวงการต่างประเทศ (รมว. Baerbock) และจากกระทรวงเศรษฐกิจ (รมว. Robert Habeck) ซึ่งเป็น 2 กระทรวงของพรรค Grünen มีเสียงดังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการตั้งยุทธศาสตร์จีน ที่ต่างจากเสียงของพรรค SPD (พรรคนายก) ที่ค่อนข้างเงียบ ๆ และไม่ต้องการที่จะใช้ยุทธศาสตร์ฯ ที่รุนแรงมากนัก โดยในยุทธศาสตร์ฯ ที่มีความยาวกว่า 64 หน้านี้ มีการระบุถึงความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์พื้นฐานกับจีนในทุก ๆ ด้าน เช่น การค้นคว้าและวิจัย ความยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษเกี่ยวกับภาคเศรษฐกิจที่มีการระบุบทบาทที่สำคัญต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนเป็นพิเศษ
สิ่งที่ระบุในยุทธศาสตร์จีนอยู่บนสมมติฐานผลการหารือระหว่างนาย Scholz และนาง Baerbock เมื่อหลายเดือนก่อน โดยสรุปได้ว่า “เมื่อจีนกำลังปรับเปลี่ยนตัวเอง การปฏิบัติต่อจีนก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย” ซึ่งในโอกาสที่นาง Baerbock และนาย Habeck ไปเยือนโรงงาน Infineon ที่เมือง Dresden ครั้งล่าสุด นาย Habeck ก็ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์จีนเอาไว้ว่า “เยอรมนีต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนให้มากขึ้น แต่เราก็ต้องรู้เท่าทันจีน จะมาทำตัวไร้เดียงสาคงไม่ได้” สำหรับแผนยุทธศาสตร์จีนสรุปได้เบื้องต้น ดังนี้
- ภาคเอกชนรับความเสี่ยงเองมากขึ้น นี้เป็นประเด็นใหม่ที่ถูกระบุอยูในแผนยุทธศาสตร์จีน โดยได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ภาคเอกชนต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจในจีนเอง” โดยในแผนยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า “ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงในการกระจุกตัวของการลงทุน (Concentration Risk) ของภาคเอกชน จะต้องถูกปรับให้อยู่ในขอบเขตที่ภาคเอกชนสามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดวิกฤตในระดับภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ขึ้นมา รัฐก็จะไม่เข้าไปช่วยเหลือเอกชน” โดยเหตุผลสำคัญในการที่ต้องระบุเนื้อหาในส่วนนี้ ก็ต้องเยอรมันกังวลใจในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันที่อาจลุกลามบานปลายได้ เพราะขณะนี้เองรัฐบาลจีนยังถือว่า เกาะไต้หวันยังคงเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของจีน และสงวนสิทธิ์ในการ “รวมชาติใหม่” ไว้ที่ตนเอง โดยพร้อมที่ใช้กำลังทหารหากจำเป็น ทั้งนี้ รัฐบาลเยอรมันได้ชี้แจงในยุทธศาสตร์จีนว่า “สถานะการณ์ในช่องแคบไต้หวันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างสันติวิธี โดยการยินยอมร่วมกันเท่านั้น” ซึ่งการยกระดับกำลังทหารของจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมันและยุโรปโดยอัตโนมัติ และแน่นอนที่สุด ที่จะมีมีคนส่วนหนึ่งไม่พอใจกับยุทธศาสตร์จีนในประเด็นนี้ และต้องการให้เยอรมนีแสดงจุดยืนที่ชัดเจนกว่านี้ เช่น นาย Norbert Röttgen สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้านการเมืองระหว่างประเทศของพรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี (CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands) กล่าวว่า “รัฐบาลเยอรมันควรระบุให้ชัดเจนว่า หากจีนโจมตีไต้หวันเมื่อไหร่ จะส่งผลร้ายแรงต่อภาคเศรษฐกิจของเยอรมัน และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องหากมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรจีนและมาตรการตอบโต้ต่าง ๆ ของจีนตามมา”
- “ยัง” ไม่บังคับใช้กฎสร้างความโปร่งใสและมาตรการ Stresstests กับภาคเอกชน โดยก่อนหน้านี้มีเสียงออกมาจากระทรวงเศรษฐกิจฯ ว่า เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจได้ชัดเจนขั้น และบริหารความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น กระทรวงฯ ตั้งใจที่จะออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อบังคับบริษัทที่มีสัดส่วนการประกอบธุรกิจในจีนสูง ต้องดำเนินการสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจขึ้นมา โดยบริษัทเหล่านี้มี “ภาระหน้าที่ที่จะต้องแจ้งเตือนพิเศษ” ขึ้นมา อีกทั้งกระทรวงฯ ยังต้องการที่จะบังคับให้ภาคเอกชนที่มีสัดส่วนการประกอบธุรกิจในจีนสูงต้องทำ Stresstests ขึ้นมา เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงและสามารถใช้มาตรการแก้ไขได้ทันท่วงที อย่างไรก็ดี ในยุทธศาสตร์จีนได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ค่อนข้างที่จะคลุมเครือ และมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลยังไม่สามารถสรุปรูปแบบที่ชัดเจนได้ ขณะนี้ ในยุทธศาสตร์ได้สะท้อนไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลเยอรมันคาดหวังกับภาคเอกชนว่าจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจในจีนได้ ด้านภาคเอกชนได้ออกมาขานรับมาตรการดังกล่าวโดยนาย Peter Adrian ประธาน สภาหอการค้าพาณิชย์และอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK – Der Deutsche Industrie- und Handelskammertag) กล่าวว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องช่วยลดภาระ/ลดข้อบังคับให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงภาระในการจัดทำรายงาน หรือการทำ Stresstests ลง”
- ต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไขการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น ผลการหารือในเรื่องการควบคุมการลงทุนขาออก (Outbound Investment) ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์และกรุงวอชิงตัน ได้เข้ามาอยู่ในยุทธศาสตร์จีนแล้ว โดยรัฐบาลเยอรมันต้องการใช้ “มาตรการที่เหมาะสม” ในการควบคุมการส่งออกและการลงทุนในประเทศ ด้านนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) ร่วมเป็นกำลังหลักในการรณรงค์ปรับแก้กฎหมายดังกล่าว ที่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ Know-How ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยุโรปไหลออกไปยังจีนได้ง่ายดาย โดยในยุทธศาตสตร์ระบุไว้ว่า “รัฐบาลเยอรมันมีบทบาทหลักในการผลักดันกระบวนดังกล่าวของสหภาพยุโรป”
- การจำกัดการรับประกันการลงทุน ตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่า เยอรมนีจะตรวจเข้มกับการให้การรับประกันการลงทุนในจีน ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จีน และเขียนไว้ว่า “วงเงินประกันสูงสุดทั่วไป สำหรับการรับประกันการลงทุนที่อยู่ที่ 3 พันล้านยูโร/บริษัท/ประเทศ จะนำไปใช้กับจีนด้วย”
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนส่วนใหญ่พอใจกับยุทธศาตร์จีนฉบับนี้ แต่แน่นอนก็คงจะมีบางฝ่ายที่ไม่พอใจในบางเรื่อง ซึ่งนาย Siegfried Russwurm ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมนี (BDI – Bundesverband der Deutschen Industrie) ได้กล่าวว่า “BDI เห็นด้วยกับการประเมินของรัฐบาลที่ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มิติในการแข่งขันและการแข่งขันของระบบ (System Rivalry) มีความซับซ้อนมากขึ้น” อย่างไรก็ตาม จีนในฐานะตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกก็ยังคงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเยอรมนี นาย Roland Busch ประธานบริษัท Siemens และประธานคณะกรรมการธุรกิจเยอรมันแห่งเอเชียแปซิฟิก (APA – Asien-Pazifik-Ausschuss der Deutschen Wirtschaft) กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์จีนได้ดำเนินไปตามแผนที่เราเองก็ตั้งไว้” นาย Jochen Hanebeck, CEO ของ Infineon ออกมากล่าวยินดีว่า “เรารู้สึกยินดีกับกลยุทธ์จีน เพราะเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้เรามีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งแน่นอนภาคการเมืองจะต้องเป็นผู้กำหนดกรอบเหล่านี้”
Handelsblatt 28 กรกฎาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)